นายสนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่าหลังจากที่สภาหอการค้าฯ ได้จัดการประชุม โดยเชิญผู้ประกอบการทั้ง 38 บริษัท ที่ร่วมคณะเดินทาง หารือถึงความคืบหน้าในการเจรจาธุรกิจกับภาคเอกชนซาอุดิอาระเบีย รวมถึงโอกาสที่แต่ละบริษัทเห็นจากการจากการเข้ารวมคณะศึกษาดูงาน และการทำ Business Matching กับนักธุรกิจซาอุดิอาระเบีย
โดยกลุ่มธุรกิจด้านการท่องเที่ยวและ Wellness ได้รับการตอบรับและมีการเจรจาธุรกิจมากกว่าธุรกิจอื่น ๆ ซึ่งความต้องการจากซาอุดิอาระเบีย มีทั้งการเชิญชวนไปร่วมลงทุน ทั้งในธุรกิจโรงแรมและโรงพยาบาล การจัด Course training ให้กับบุคลากรในธุรกิจ Wellness รวมทั้งการตอบรับที่ดีในการมารักษาพยาบาลในไทย ทั้งนี้ โอกาสในการทำเรื่อง Medical hub และสินค้าสุขภาพ ก็ยังเปิดกว้าง
โดยทางซาอุฯ ต้องการเรียนรู้เรื่องการบริหารจัดการจากไทยอีกด้วย นอกจากนั้น กลุ่มวัสดุก่อสร้าง เป็นอีกกลุ่มหนึ่งที่ได้รับความสนใจจากฝ่ายซาอุฯ เป็นอย่างมาก อันเป็นผลมาจากการพัฒนาเมืองอย่างต่อเนื่องของซาอุฯ จึงมีโอกาสทั้งการส่งออกและการร่วมทุนทำธุรกิจระหว่างกัน
สำหรับกลุ่มสินค้าเกษตรและอาหาร โดยปกติจะเป็นสินค้าที่ไทยส่งออกไปที่ซาอุดิอาระเบียอยู่แล้ว แต่การเดินทางไปครั้งนี้ เป็นการประชาสัมพันธ์ให้ภาคเอกชนซาอุฯ รู้จักประเทศไทยมากขึ้น ทั้งอาหารฮาลาล อาหารแช่แข็ง อาหารกระป๋อง และผลไม้ไทย ทำให้มีบริษัท Trading มาติดต่อเพิ่มขึ้น ซึ่งถือว่าเป็นโอกาสที่ดี โดยสินค้าที่เป็นที่ต้องการจากซาอุฯ อาทิ ไก่ ปลา กุ้ง อาหารสัตว์ น้ำมะพร้าว
รวมถึงอาหารไทย และข้าวไทย ซึ่งควรมีการทำการตลาดมากขึ้น อย่างไรก็ตาม ผลิตภัณฑ์บางอย่างยังถูกห้ามนำเข้าอยู่ จึงเป็นความพยายามที่ภาครัฐต้องหาทางเจรจาผ่อนคลายสินค้าต่อไป รวมไปถึงการทำ FDA และการขอ อย.ด้วย
นอกจากอาหารคนแล้ว อาหารสัตว์เลี้ยงก็เป็นสินค้าที่ซาอุฯ สนใจ เนื่องจากเลี้ยงแมวเยอะ ส่วนธุรกิจสายการบิน ก็มีการศึกษาเพื่อเพิ่มจำนวนเที่ยวบินระหว่างกัน ธุรกิจศูนย์การค้า Shopping Mall ทางซาอุฯ ก็ให้ความสนใจไม่แพ้กัน ในขณะที่กลุ่มวัสดุก่อสร้าง เคมีภัณฑ์ และสี ก็เป็นอีกกลุ่มหนึ่งที่ได้รับความสนใจ ซึ่งมาจากการพัฒนาเมืองอย่างต่อเนื่องของซาอุฯ จึงมีโอกาสทั้งการส่งออกและการร่วมทุนทำธุรกิจระหว่างกัน ทั้งการสร้าง SMART CITY การออกแบบอาคารและเมือง เรื่อง supply สินค้าต่าง ๆ เช่น Solar Cell เป็นต้น ส่วนบริษัทด้านเทคโนโลยี ก็มีการคุยกันถึง Telemedicine, Gaming และ IOT platform ของ SMART City ร่วมกัน โดยจะมีการศึกษาในรายละเอียดและกฎระเบียบต่าง ๆ ร่วมกันต่อไป
ด้านแรงงานในภาพรวม ซาอุดิอาระเบียต้องการแรงงานของไทยไปทำงานในหลายสาขา ตั้งแต่ ผู้บริหารโรงพยาบาล แพทย์ พยาบาล แรงงานฝีมือในการก่อสร้าง และยานยนต์ ซึ่งเป็นโอกาสของนักศึกษาสายอาชีวะที่จะมีการจ้างงานเพิ่มขึ้น โดยเร็วๆนี้ จะมีนักธุรกิจซาอุฯ เดินทางมาเยี่ยมชมโรงงานในประเทศไทยต่อไป
อาทิ อุตสาหกรรมยานยนต์ ได้มีการเชิญนักธุรกิจซาอุฯ ที่สนใจมาดูโรงงานผลิตรถ BEV ของไทย รวมทั้งยังสนใจรถดัดแปลงต่าง ๆ ซึ่งจะมีการส่งช่างมาอบรมที่ประเทศไทยด้วย ส่วนอุตสาหกรรมอื่น ๆ ก็มีความคล้ายคลึงกัน ซึ่งจะมีการประสานงานกับภาคเอกชนกันอย่างต่อเนื่อง โดยความร่วมมือดังกล่าว มีทั้งการนำเข้าสินค้าจากซาอุฯ และการส่งออกสินค้าของไทย เช่น ธุรกิจอัญมณี ก็มีการออกแบบและเจรจาร่วมกันบ้างแล้ว
“ในเบื้องต้นประเมินว่า โอกาสในการทำการค้าระหว่างกันภายในปีนี้ จะมีมูลค่าหลายหมื่นล้านบาท ซึ่งเป็นโอกาสที่ดีของประเทศไทยเป็นอย่างมาก ที่จะมีเม็ดเงินจำนวนมากเข้ามายังประเทศไทย อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ภาคเอกชนไทยต้องการเพิ่มเติม คือ ข้อมูล ทั้งข้อมูลกฎระเบียบที่เกี่ยวกับการนำเข้าส่งออก กฎระเบียบที่เกี่ยวกับการลงทุน และการรับรองมาตรฐานสินค้า
ข้อมูลการซื้อสินค้าในเชิงลึกที่เกี่ยวกับผลิตภัณฑ์นั้น ๆ ดังนั้น จึงขอให้ภาครัฐของไทยเตรียมความพร้อมในเรื่องดังกล่าวให้กับภาคเอกชนด้วย เพื่อให้ภาคเอกชนมีข้อมูลก่อนการเดินทางไปเจรจาธุรกิจ นอกจากนั้น ยังขอให้ตั้ง focal point ฝ่ายไทยประจำที่ซาอุดิอาระเบีย เพื่อทำหน้าที่ประสานงานระหว่างภาคเอกชนไทยกับภาคเอกชนซาอุฯ อีกด้วย”
ทั้งนี้ ในวันที่ 4-7 กรกฎาคมนี้ ซาอุดิอาระเบียจะจัดคณะภาครัฐและเอกชนเดินทางมาเยือนไทย ซึ่งเป็นจังหวะที่ดี เพราะหลายคนยังไม่เคยมาประเทศไทยเลย ดังนั้น จึงเป็นโอกาสสร้างความเชื่อมั่นในการทำการค้าระหว่างกัน และเป็นการสร้างโอกาสที่ไทยจะเป็นศูนย์กลางด้านการค้าและการลงทุนให้กับซาอุฯ ในการขยายการค้าเชื่อมโยงกับภูมิภาคอาเซียนต่อไป หอการค้าฯ เชื่อมั่นว่า ประเทศไทยพร้อมที่จะเป็น Regional Hub ใน ASEAN เพราะทั้ง BOI และ EEC ก็ได้ไป Roadshow ร่วมกับภาคเอกชน และได้มีการศึกษาลู่ทางต่าง ๆ ทั้งภาคการท่องเที่ยว การก่อสร้าง ธุรกิจพลังงาน และปิโตรเคมี ซึ่งคงมีความคืบหน้าต่อไปอย่างแน่นอน