6 ปัจจัยท้าทาย ลุ้นลงทุนไทยปี 65 ขอส่งเสริมเกิน 6 แสนล้าน

27 พ.ค. 2565 | 05:53 น.
อัปเดตล่าสุด :27 พ.ค. 2565 | 13:14 น.

เครื่องยนต์ขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยในเวลานี้นอกจากภาคการส่งออกที่ยังทำหน้าที่ได้ดี โดยการส่งออกไทยไตรมาสแรกปี 2565 สามารถส่งออกได้แล้ว มูลค่า 73,601 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (2.40 ล้านล้านบาท) ขยายตัว 14.9%

 

ขณะที่เวลานี้หลังเปิดประเทศและรัฐบาลเตรียมประกาศให้โรคโควิด-19 เป็นโรคประจำถิ่นภาคการท่องเที่ยวเป็นอีกความหวัง ที่จะมาช่วยพื้นเศรษฐกิจ โดยการท่องเที่ยวแห่งประเทศ ไทย (ททท.) คาดหวังจะมีนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามาเที่ยวไทยปีนี้ 7-10 ล้านคน

 

ส่วนการลงทุนของภาคเอกชน อีกหนึ่งเครื่องยนต์ขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ที่ช่วยสร้างงาน และนำเม็ดเงินเข้าประเทศปี 2564 ที่ผ่านมา ตัวเลขการขอรับการส่งเสริมการลงทุนมีมูลค่า 642,680 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 59 เมื่อเทียบกับปี 2563 (จากที่สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนคาดการณ์จะมีคำขอรับการส่งเสริมไม่ตํ่ากว่า 500,000 ล้านบาท) ในปีนี้จากสถานการณ์โลกที่ยังมีความไม่แน่นอนสูง บีโอไอยังไม่ได้ตั้งเป้าหมายการขอรับการส่งเสริมอย่างเป็นทางการ แต่ยังเชื่อมั่นว่าคำ ขอรับการส่งเสริมจะมีมูลค่าไม่ตํ่ากว่าปีที่ผ่านมา

 

6 ปัจจัยท้าทาย ลุ้นลงทุนไทยปี 65 ขอส่งเสริมเกิน 6 แสนล้าน

 

ล่าสุดข้อมูลจากบีโอไอช่วงไตรมาสแรกของปี 2565 มีโครงการยื่นขอรับการส่งเสริมการลงทุน 378 โครงการ มูลค่าเงินลงทุน 110,730 ล้านบาท (จากช่วงเดียวกันของปี 2564 มีคำขอรับการส่งเสริม 401 โครงการ มูลค่าลงทุน 123,360 ล้านบาท) โดยเป็นการลงทุนของรายใหม่ร้อยละ 56 (61,760 ล้านบาท จาก 158 โครงการ) และโครงการขยายการลงทุนของบริษัทเดิมร้อยละ 44 (มูลค่า 48,970 ล้านบาท จาก 220 โครงการ) ซึ่งถือเป็นสัญญาณที่ดีว่านักลงทุนรายใหม่เริ่มกลับเข้ามาลงทุนในไทยมากขึ้น

 

สำหรับโครงการที่ขอรับการส่งเสริมในช่วงไตรมาสแรกส่วนใหญ่อยู่ในอุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วน อุตสาหกรรมเกษตรและอาหาร อิเล็กทรอนิกส์และเครื่องใช้ไฟฟ้า และกิจการสนับสนุน เช่น การผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุน เวียน การพัฒนานิคมหรือเขตอุตสาหกรรม และกิจการด้าน โลจิสติกส์ โดยเป็นการลงทุนในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) จำนวน 107 โครงการ เงินลงทุน 60,360 ล้านบาท หรือร้อยละ 54 ของมูลค่าการลงทุนทั้งหมด รองลงมาเป็นพื้นที่ภาคกลาง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคใต้ 

 

นายนฤตม์ เทอดสถีรศักดิ์ รองเลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) ให้ความเห็นกับ “ฐานเศรษฐกิจ”ว่า ทิศทางการลงทุนช่วงครึ่งปีหลังปีนี้ยังมีแนวโน้มดี มีปัจจัยหนุนคือ ประเทศต่าง ๆ เริ่มปรับตัวในการอยู่กับโควิด กิจกรรมทางเศรษฐกิจเริ่มกลับมาเป็นปกติ ความต้องการ สินค้าในตลาดโลกเพิ่มสูงขึ้น  นอกจากนี้ มาตรการเปิดประเทศของไทย ทำให้การเดินทางเข้าประเทศของกลุ่มนักธุรกิจและผู้เชี่ยวชาญสะดวกมากขึ้น จะส่งผลดีต่อการตัดสินใจลงทุน โดยเฉพาะโครงการใหม่ๆ  ที่ผู้บริหารบริษัทจำเป็นต้องเดินทางเข้ามาเจรจาธุรกิจและดูที่ตั้งโครงการด้วยตัวเอง

 

อย่างไรก็ตาม ขณะนี้โลกอยู่ในภาวะที่มีความไม่แน่นอนสูง มีปัจจัยภายนอก 6 เรื่องสำคัญที่จะส่งผลกระทบต่อทิศทางการลงทุนไทยใน ระยะข้างหน้า ได้แก่ 1. วิกฤติรัสเซียและยูเครน ที่นำสู่การควํ่าบาตรทางเศรษฐกิจ และการแบ่งขั้วทางการเมืองระหว่างประเทศ เริ่มส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจทั่วโลก ทั้งด้านต้นทุนพลังงาน อาหาร และซัพพลายของวัตถุดิบสำคัญ 

 

2.สงครามการค้าสหรัฐฯ-จีน ที่เริ่มตึงเครียดมาตั้งแต่กลางปี 2561 และยังมีแนวโน้มจะยกระดับไปสู่สงครามเทคโนโลยี (Tech War) ได้ทำให้เกิดการย้ายฐานการผลิตจำนวนมาก ล่าสุดมีโครงการที่ย้าย ฐานมาไทย เนื่องจากสงครามการค้า 280 โครงการ เงินลงทุนรวมกว่า 1.33 แสนล้านบาท

 

3.การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด ช่วง 2 ปีกว่าที่ผ่านมา หลายประเทศต้องล็อกดาวน์เป็นระยะๆ มีการปิดเมือง ปิดโรงงาน ระบบขนส่งหยุดชะงักส่งผลกระทบต่อห่วงโซ่อุปทาน(Supply Chain) ทั่วโลก ยังคงเป็นปัจจัยเสี่ยงว่าจะมีโควิดระลอกใหม่อีกหรือไม่

 

นฤตม์  เทอดสถีรศักดิ์

 

4.ปัญหาการขาดแคลนชิป ที่ยังเป็นปัญหาใหญ่ของภาคอุตสาหกรรมทั่วโลก จากความต้องการเซมิคอนดัคเตอร์ที่พุ่งสูงขึ้น เพื่อใช้ในอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ คอมพิวเตอร์ โทรคมนาคม รวมทั้งรถยนต์ ขณะที่ฝั่งผู้ผลิตมีน้อยราย การสร้างโรงงานใหม่หรือขยายกำลังการผลิตยังทำได้ช้า  

 

5.เทรนด์โลกกำลังมุ่งสู่เศรษฐกิจคาร์บอนตํ่า ไม่ใช่แค่ระดับประเทศ แต่ในภาคธุรกิจบริษัทชั้นนำต่างก็ตั้งเป้าหมายลดการปล่อยคาร์บอน และยึดแนวทางความยั่งยืน หรือ ESG เป็นหัวใจหลักในการทำธุรกิจ รวมถึงการออกไปลงทุนในต่างประเทศ เช่น การเลือกไปลงทุนในประเทศที่มีแหล่งพลังงานสะอาดเพียงพอสำหรับภาคอุตสาหกรรม

 

และ 6.กติกาใหม่ของโลกที่กำหนดให้บริษัทข้ามชาติขนาดใหญ่ต้องเสียภาษีขั้นตํ่าในอัตราร้อยละ 15 (Global Minimum Tax) โดย OECD และกลุ่มประเทศ G20 เพื่อแก้ปัญหาการถ่ายโอนกำไรระหว่างประเทศ แนวคิดนี้จะมีผลกระทบต่อการวางแผนการลงทุนของบริษัทข้ามชาติ และระบบการให้สิทธิประโยชน์ของประเทศต่างๆ รวมทั้งไทย โดยคาดว่าหลักเกณฑ์นี้จะมีผลใช้บังคับในอีก 1-2 ปีข้างหน้า ขณะนี้ทุกประเทศอยู่ระหว่างการศึกษาและเตรียมมาตรการรองรับ

 

6 ปัจจัยท้าทาย ลุ้นลงทุนไทยปี 65 ขอส่งเสริมเกิน 6 แสนล้าน

 

ทั้ง 6 ปัจจัยนี้ จะทำให้การตัดสินใจเลือกแหล่งลงทุนของบริษัทต่าง ๆ มีความละเอียดอ่อนมากขึ้น ซึ่งนอกเหนือจากการพิจารณาปัจจัยพื้นฐาน เช่นขนาดของตลาด ความพร้อมของสาธารณูปโภค โลจิสติกส์ คุณภาพของบุคลากร กฎระเบียบและสิทธิประโยชน์ต่างๆ แล้ว ยังต้องพิจารณาถึงการกระจายความเสี่ยง และการวางกลยุทธ์บริหารซัพลายเชนระหว่างประเทศให้มีความยืดหยุ่นและมั่นคงมากขึ้น รวมทั้งการตอบโจทย์เรื่องคาร์บอนตํ่า ซึ่งจะเป็นปัจจัยท้าทายต่อทิศทางการลงทุนในไทยในปีนี้