เตือน!​ กินเนื้อหมูดิบ เสี่ยงหูดับ อันตรายถึงเสียชีวิต

28 พ.ค. 2565 | 11:15 น.
อัปเดตล่าสุด :28 พ.ค. 2565 | 17:59 น.

กรมปศุสัตว์เตือน กินหมูดิบ เสี่ยงหูดับ อันตรายถึงตายได้ เพื่อความปลอดภัย แนะปรุงสุกทุกครั้ง ก่อนบริโภค และเลือกซื้อสินค้าตรา “ปศุสัตว์ OK”

นายสรวิศ ธานีโต อธิบดีกรมปศุสัตว์ กล่าวว่า ตามที่มีการนำเสนอข่าวโซเซียลเกี่ยวกับการบริโภคซูชิหมูดิบ เครื่องใน ตับและหัวใจ ทำให้เป็นโรคหูดับ รุนแรงอันตรายถึงชีวิตได้นั้น กรมปศุสัตว์ในฐานะหน่วยงานที่กำกับดูแลการผลิตสินค้าปศุสัตว์ให้มีความปลอดภัยด้านอาหาร ได้ย้ำและเตือนผู้บริโภคมาโดยตลอด ถึงความสำคัญในการเลือกซื้อเนื้อหมู และแนะให้ปรุงสุกผ่านความร้อนอย่างน้อย 70 องศาเซลเซียส เป็นเวลามากกว่า 10 นาที ก่อนนำมาบริโภคทุกครั้ง เพื่อปลอดภัยจากโรคไข้หูดับ โรคพยาธิ และโรคอื่นๆ ที่มาจากการรับประทานอาหารสุกๆ ดิบๆ 

นายสรวิศ ธานีโต อธิบดีกรมปศุสัตว์

นอกจากนี่้ เพื่อความมั่นใจให้เลือกซื้อสินค้าปศุสัตว์ที่มีแหล่งที่มาชัดเจน สถานที่จำหน่ายถูกสุขลักษณะ และสามารถตรวจสอบย้อนกลับได้ โดยเลือกซื้อสินค้าปศุสัตว์ที่มาจากแหล่งจำหน่ายที่ได้รับรองตราสัญลักษณ์ “ปศุสัตว์ OK”
 

โรคหูดับเป็นโรคติดต่อจากสัตว์สู่คนชนิดหนึ่ง เกิดจากเชื้อแบคทีเรีย STREPTOCOCCUS SUIS สามารถพบได้ทั่วไปในระบบทางเดินหายใจของสุกร เช่น ช่องจมูก และต่อมทอนซิล โดยปกติสุกรที่ติดเชื้อจะไม่แสดงอาการป่วย แต่หากมีภาวะเครียดอาจเนื่องมาจากความแออัด ความสกปรก หรืออากาศไม่เหมาะสม จะทำให้เชื้อสามารถเพิ่มจำนวน และแพร่จากต่อมทอนซิลไปยังต่อมน้ำเหลือง และติดเชื้อเข้าสู่กระแสโลหิตไปยังสมอง และทำให้เกิดเยื่อหุ้มสมองอักเสบ

 

สุกรที่ป่วยจะแสดงอาการไข้หนาวสั่น ชักเกร็ง มีผื่นแดงที่ผิวหนัง ต่อมน้ำเหลืองโต ตาบอด หูหนวก ข้ออักเสบแบบรุนแรง ปอดและหลอดลมอักเสบ และอาจจะแสดงอาการชักจากการเกิดเยื่อหุ้มสมองอักเสบ

 

 

เชื้อ STREPTOCOCCUS SUIS สามารถเข้าสู่ร่างกายคนได้ 2 ช่องทาง คือโดยผ่านทางบาดแผล รอยถลอก เยื่อบุตา จากการสัมผัสกับเชื้อโดยตรงหรือสุกรที่ติดเชื้อ และจากการบริโภคเนื้อ เครื่องใน หรือเลือดสุกรที่มีเชื้อโรคหูดับที่ไม่สุกเข้าไปในร่างกาย เช่น ลาบหมูดิบ เนื้อหมูที่ย่างไม่สุก เป็นต้น

 

อาการที่มักพบในผู้ป่วย คือ การติดเชื้อที่เยื่อหุ้มสมองอักเสบ ทำให้คอแข็ง ซึ่งอาจทำให้สูญเสียการได้ยิน ซึ่งเป็นที่มาของชื่อโรคหูดับ และอาจจะพบอาการอื่นๆ ได้แก่ ปวดศีรษะรุนแรง คลื่นเหียน มีไข้สูง หนาวสั่น ข้ออักเสบ ม่านตาอักเสบ และอาจทำให้ช๊อคจนถึงเสียชีวิตได้ในกรณีที่มีการติดเชื้อในกระแสเลือด ซึ่งสำหรับบางรายที่ไม่เสียชีวิตก็จะมีความพบพิการตามมา เช่น หูหนวก สูญเสียการทรงตัว กล้ามเนื้ออ่อนแรง อัมพฤกษ์-อัมพาต ตาบอด เป็นต้น