นายพิศาล พงศาพิชณ์ เลขาธิการสำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ (มกอช.) เปิดเผยว่า “ทุเรียน” เป็นผลไม้ที่สร้างรายได้ให้แก่ประเทศไทยสูงที่สุด โดยคาดว่าการส่งออกทุเรียนจะเพิ่มขึ้นจากปีที่ผ่านมา เนื่องจากความต้องการของตลาดต่างประเทศยังคงมีอย่างต่อเนื่องโดยเฉพาะตลาดจีน
โดยกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้ให้ความสำคัญในเรื่องการสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้บริโภคกับสินค้าทุเรียนที่มีคุณภาพ ได้มาตรฐาน รวมถึงการส่งออกไปยังประเทศคู่ค้าเป็นอย่างมาก จึงส่งเสริมให้เกษตรกรปฏิบัติตามมาตรฐาน เพื่อตอกย้ำความเชื่อมั่นในคุณภาพของสินค้าเกษตรไทย มีความปลอดภัยต่อการบริโภคทั้งในประเทศและการส่งออกไปต่างประเทศ
จังหวัดศรีสะเกษ ถือเป็นแหล่งปลูกทุเรียนที่ใหญ่ที่สุดในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ โดยมีทุเรียนที่ขึ้นชื่อ คือ “ทุเรียนภูเขาไฟ” มีพื้นที่ปลูกครอบคลุมใน 3 อำเภอ ได้แก่ อำเภอกันทรลักษ์ ขุนหาญ และศรีรัตนะ ซึ่งเป็นที่นิยมทั้งภายในและต่างประเทศ ด้วยสภาพแวดล้อมของแหล่งผลิตที่ปลูกในบริเวณพื้นที่ภูเขาไฟ ทำให้ได้รับแร่ธาตุครบถ้วน ทุเรียนศรีสะเกษจึงมีรสชาติดี และมีเอกลักษณ์ไม่เหมือนใคร
เนื้อทุเรียนแห้งและนุ่มเหนียว มีกลิ่นหอมเฉพาะ ตรงกับความต้องการของผู้บริโภค โดยทุเรียนภูเขาไฟในปัจจุบันได้รับการส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพจนได้รับการรับรองมาตรฐานการปฏิบัติทางการเกษตรที่ดี (Good Agricultural Practices : GAP) และมาตรฐานสินค้าบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (Geographical Indications : GI)
ทั้งนี้ มกอช. เล็งเห็นถึงความสำคัญของคุณภาพ มาตรฐาน และความปลอดภัยของสินค้าเกษตรและอาหาร จึงขับเคลื่อนการสร้างความเชื่อมั่นด้วยการใช้ระบบตรวจสอบย้อนกลับ ผ่านระบบตามสอบสินค้าเกษตรบนระบบคลาวด์ (QR Trace On Cloud) ซึ่งมีการนำเทคโนโลยี QR Code มาใช้เป็นเครื่องมือที่ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการเชื่อมโยงข้อมูลตามสอบสู่ผู้บริโภค
โดยจัดอบรมการใช้งานระบบ QR Trace On Cloud ให้แก่เกษตรกรและกลุ่มเกษตรกรผู้ปลูกทุเรียนภูเขาไฟ จังหวัดศรีสะเกษ ที่ได้รับการรับรองมาตรฐาน GAP และ GI เพื่อส่งเสริมให้เกิดการใช้งานระบบการตามสอบสินค้าเกษตรบนระบบคลาวด์ สามารถจัดทำ QR Code เพื่อติดบนสินค้า และเตรียมความพร้อมให้เกษตรกรสามารถจำหน่ายสินค้าในตลาดสินค้าเกษตรออนไลน์ (DGT Farm) ได้ ซึ่งจะเป็นการสร้างความเข้มแข็งให้เกษตรกร สามารถแข่งขันทางการค้าและสามารถตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคได้ดียิ่งขึ้น
“มกอช. มีนโยบายที่จะสร้างความเข้าใจและผลักดันให้เกษตรกร กลุ่มเกษตรกร กลุ่มวิสาหกิจชุมชน กลุ่มสหกรณ์ รวมถึงผู้ประกอบการรุ่นใหม่ที่สนใจ ให้ใช้ระบบตามสอบสินค้าเกษตร QR Trace on Cloud และ เว็บไซต์สินค้าเกษตรออนไลน์ (DGT Farm) โดยเฉพาะผู้ผลิตที่มีศักยภาพและความโดดเด่นในการผลิตสินค้าเกษตร ซึ่งจะเป็นการสร้างความเข้มแข็งให้ผู้ประกอบการในภาคการเกษตรและอาหารของไทยให้สามารถแข่งขันทางการค้าและสามารถตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคได้ดียิ่งขึ้น” เลขาธิการ มกอช.กล่าว
ด้านนางเพ็ญภรณ์ นะวะคำ ผู้จัดการสกรณ์ผู้ปลูกพืชผักผลไม้กันทรลักษ์ จำกัด ซึ่งเป็นหนึ่งในเกษตรกรผู้ปลูกทุเรียนภูเขาไฟ ตำบลชำ อำเภอกันทรลักษณ์ จังหวัดศรีสะเกษ กล่าวว่า “ปัจจุบัน สหกรณ์ฯ มีสมาชิกจำนวน 337 ราย มีพื้นที่ปลูกกว่า 8,000 ไร่ ซึ่งจุดเด่นของสหกรณ์ฯ คือ มีทั้งเกษตรกรที่เป็นกลุ่มแปลงใหญ่และเกษตรกรทั่วไป โดยทางกลุ่มได้ดำเนินการผลิตทุเรียนตามมาตรฐาน GAP จนมีสมาชิกที่ได้รับการรับรองมาตรฐาน GAP จำนวน 75 แปลง พื้นที่ 360 ไร่ และได้รับการรับรองมาตรฐาน GI จำนวน 58 ราย พื้นที่ 276 ไร่
ซึ่งทุเรียนของที่นี่เป็นทุเรียนพรีเมี่ยม มีทั้งส่งขายภายในประเทศและส่งออกต่างประเทศ ทั้งนี้ ทาง มกอช. ได้เข้ามาแนะนำให้ใช้เทคโนโลยีการตรวจสอบย้อนกลับผ่านระบบตามสอบสินค้าเกษตร QR Trace On Cloud ซึ่งเปรียบเสมือนบัตรประชาชนของสินค้าโดยสามารถใช้โทรศัพท์สแกน QR Code ตรวจสอบถึงแหล่งที่มาของสินค้าได้ สามารถสร้างความมั่นใจให้กับผู้ซื้อ เป็นการเพิ่มมูลค่าทางการตลาด และสร้างความสามารถในการแข่งขันให้กับเกษตรกรได้”