นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยภายหลังเปิดงาน “เทศกาลทุเรียนภูเขาไฟศรีสะเกษ ปี 2563” ว่า การจัดงานในครั้งนี้เป็นการบูรณาการความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ทั้งองค์กรภาครัฐ รัฐวิสาหกิจ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และภาคเอกชน มีวัตถุประสงค์เพื่อประชาสัมพันธ์และเพิ่มช่องทางในการจำหน่ายผลผลิตทางการเกษตร โดยเฉพาะเงาะและทุเรียนซึ่งเป็นพืชเศรษฐกิจที่สำคัญของจังหวัด และเป็นแหล่งผลิตเพื่อการส่งออกของประเทศ ซึ่งจังหวัดศรีสะเกษมีนโยบายส่งเสริมการผลิตสินค้าเกษตรและการแปรรูปสินค้าทางการเกษตรของจังหวัดให้มีคุณภาพ มีความปลอดภัย และได้มาตรฐาน
มุ่งสู่การเป็นตลาดสินค้าเกษตรอินทรีย์ สามารถแข่งขันได้ รวมทั้งสามารถลดต้นทุนภาคการเกษตรให้กับเกษตรกร สร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้บริโภค เกิดการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้าเกษตรของจังหวัด อีกทั้งยังเป็นการส่งเสริมธุรกิจการท่องเที่ยวและการบริการเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจและเพิ่มรายได้ให้กับเกษตรกรและภาคประชาชน ตลอดจนได้กำหนดให้เป็นเทศกาลประจำปีของจังหวัดศรีสะเกษอีกด้วย ซึ่งกิจกรรมภายในงานมีการแสดงนิทรรศการด้านการเกษตร และนวัตกรรม การนำสินค้าทางการเกษตร ผลิตภัณฑ์ทางการเกษตร และของดีศรีสะเกษ มาจัดจำหน่ายภายในงานโดยเกษตรกรผู้ผลิตของจังหวัด
ทั้งนี้ ในส่วนของผลผลิตทางการเกษตรที่สร้างชื่อเสียงให้กับจังหวัดอย่างมาก ได้แก่ ทุเรียน และเงาะ ตลอดจนผลไม้ชนิดอื่น ๆ อาทิ มังคุด ลองกอง สละ สะตอ ฯลฯ เป็นพืชเศรษฐกิจที่เป็น Product Champion ที่สร้างรายได้ให้กับเกษตรกร และสร้างรายได้ให้จังหวัดมากกว่าปีละ 700 ล้านบาท ถือว่ามีความสำคัญ ที่จะต้องพัฒนาในเรื่องคุณภาพ และการสร้างตราสินค้า (Branding) ด้วย
นายเฉลิมชัย กล่าวต่อไปว่า การจัดงานเทศกาลทุเรียนภูเขาไฟศรีสะเกษถือเป็นการสนับสนุนการเปิดโอกาสให้พี่น้องเกษตรกรได้ประชาสัมพันธ์เผยแพร่ผลผลิตทางการเกษตร เป็นการสร้างสรรค์คุณค่าเพื่อเพิ่มมูลค่าให้กับสินค้าเกษตรของจังหวัด ที่สำคัญเพื่อเป็นการส่งเสริมธุรกิจการท่องเที่ยวและบริการ เกิดการกระตุ้นเศรษฐกิจ เพิ่มรายได้ให้กับเกษตรกรและภาคประชาชน ซึ่งการจัดงานในครั้งนี้จะทำให้ผู้ผลิตและผู้บริโภค ตลอดจนพ่อค้าได้พบกันโดยตรง ซึ่งภาคราชการจะเข้ามาเป็นพี่เลี้ยงในเรื่องของแหล่งความรู้ด้านวิชาการ เทคโนโลยี และการตลาด โดยมุ่งเน้นให้เกษตรกรเลือกผลิตตามศักยภาพของพื้นที่และตามความต้องการของตลาด
โดยเฉพาะพืชเศรษฐกิจที่สำคัญของจังหวัด เช่น ทุเรียน เงาะ และไม้ผลไม้ยืนต้นอื่น ๆ ซึ่งเป็นพืชที่ให้ผลตอบแทนสูง และตลาดโลกมีความต้องการอยู่มาก ซึ่งขบวนการผลิตจะประสบความสำเร็จได้นั้น ตัวเกษตรกรเองจะต้องใฝ่ศึกษาข้อมูลด้านวิชาการ ข้อมูลด้านการตลาด และศึกษาแนวทางจากคนที่ประสบความสำเร็จด้านการเกษตร เพื่อประกอบเป็นแนวทางในการดำเนินกิจกรรมของตัวเอง การสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้าเกษตรในทุกห่วงโซ่การผลิต ส่วนเกษตรกรสาขาอื่น ๆ ก็สามารถที่จะเลือกกิจกรรมด้านการเกษตรให้สอดคล้องกับศักยภาพพื้นที่ของตัวเองและความต้องการของตลาดต่อไป
"ในช่วงสถานการณ์การระบาดของโรคโควิด-19 สินค้าเกษตรมีมูลค่าเพิ่ม 10% จึงอยากให้พี่น้องเกษตรกรภูมิใจว่าอาชีพเกษตรกรรมนี้ จะเป็นอาชีพที่ช่วยให้ประเทศไทยเดินไปข้างหน้าได้ แต่เกษตรกรต้องมีการพัฒนาคุณภาพและสร้างมูลค่าให้กับสินค้าเกษตร ซึ่งเป้าหมายในการดำเนินงานคือเราต้องเริ่มต้นและเดินหน้าเป็นครัวของโลกให้ได้ จึ่งมั่นใจว่าสินค้าภาคการเกษตรไทย จะเป็นสินค้าที่มีความต้องการของคนทั่วโลกอย่างแน่นอน" นายเฉลิมชัย กล่าว