Perfect Storm หรือมรสุมเศรษฐกิจลูกใหม่ เกิดจากปัญหาที่ก่อตัวพร้อมกันใน 3 ทวีป คือ ยุโรป-อเมริกา- เอเซีย นำไปสู่วิกฤติครั้งสำคัญ ราคาพลังงาน- วิกฤติอาหารโลก- ตลาดเงินโลกผันผวน และเศรษฐกิจถดถอย ข้อความที่ ดร.กอบศักดิ์ ภูตระกูล กรรมการรองผู้จัดการใหญ่และเลขานุการ ธนาคารกรุงเทพ โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว "Kobsak Pootrakool" เตือนรับมือ มรสุมเศรษฐกิจลูกใหม่ ความท้าทายของเศรษฐกิจหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 หรือในรอบ 80 ปี เพื่อเตือนให้ไทยปรับตัวรับกับแรงกระแทกจากมรสุมทางเศรษฐกิจลูกใหม่ในอนาคตอันใกล้นี้
นายวิศิษฐ์ ลิ้มลือชา รองประธานหอการค้าไทย เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า ผลกระทบที่จะเกิดกับไทยยังไม่ใช่ระยะอันใกล้นี้แต่ในอนาคตไม่แน่ เพราะหากสงครามระหว่างรัสเซีย-ยูเครนลากยาวซึมลึกลงไปไทยอาจจะได้รับผลกระทบ แต่ในขณะนี้ไทยยังถือว่าอยู่ห่างจากกลุ่มประเทศที่ได้รับผลกระทบ อย่างยุโรป สหรัฐฯ
ที่มีปัญหาเรื่องเงินเฟ้อ ซึ่งพอเงินเฟ้อเกิดสิ่งที่ทำได้คือการขึ้นดอกเบี้ย แต่สิ่งที่ไทยกังวลในขณะนี้ คือ ผลกระทบในเรื่องของค่าบาทที่จะผันผวนซึ่งจะส่งผลไม่ดีต่อการส่งออกไทยที่เป็นเสาหลักในการพยุงเศรษฐกิจไทยในขณะนี้
แต่ก็มั่นใจว่าในระยะสั้นจะยังไม่ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยและภาคการส่งออก ซึ่งประเทศที่จะได้รับผลกระทบน่าจะเป็นประเทศเล็กๆที่มีปัญหาเศรษฐกิจอยู่แล้วและอาจจะต้องพึ่งพาIMFหลายประเทศ
“Perfect Storm หรือมรสุมเศรษฐกิจลูกใหม่ ยังไม่กระทบในระยะสั้นนี้ แต่ถ้าสงครามยืดเยื้อก็จะมีการซึมของเศรษฐกิจ ไทยก็อาจจะได้รับผลกระทบตรงนี้ แต่ทั้งนี้ปัจจุบันไทยพึ่งพาการส่งออกเป็นหลัก และมีการท่องเที่ยวเข้ามาเสริมซึ่งยังคงไปได้ดี แต่ไทยเองต้องเปิดกว้างในการหาวัตถุดิบที่หลากหลายมากขึ้น เพื่อป้องกันการขาดแคลน
เพราะถ้าสงครามมีการซึมลึก ไม่มีทางออกทั้งสองประเทศ โอกาสที่จะเกิดมรสุมทางเศรษฐกิจก็มีสูง คำถามคือไทยเองมีการเตรียมพร้อมยังไง ถ้าปล่อยให้ไหลไปตามสถานการณ์คงไม่ดีเพราะไทยอยู่ได้ด้วยการพึ่งพาการส่งออก และการท่องเที่ยว และการหมุนเวียนในประเทศ ซึ่งทุกอย่างต้องให้สมดุลกันถึงจะอยู่ได้ท่ามกลางวิกฤติใหม่ ซึ่งปัญหาหลักๆของทุกประเทศคือราคาพลังงานที่สูงขึ้นสงผลให้มีต้นทุนการผลิตสูงตาม”
การส่งออกถือว่าเป็นพระเอกของไทยปีนี้ แต่ก็มีการท่องเที่ยวเป็นตัวเสริม ซึ่งได้อานิสงส์จากการเปิดประเทศที่ทั้งนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและต่าชาติที่อัดอั้นมา2ปี พร้อมที่จะใช้จ่ายก็จะเป็นโอกาสที่ดีของไทยในช่วงนี้เช่นกัน
สอดคล้องกับ นายชัยชาญ เจริญสุข ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) กล่าวว่า สถานการณ์มรสุมเศรษฐกิจลูกใหม่เริ่มแรงขึ้นเรื่อยๆและน่าเป็นห่วงโดยเฉพาะกลุ่มอาหารและอุตสาหกรรม โดยอาหารถือว่าเป็นปัจจัย4 ที่สงครามรัสเซีย-ยูเครนทำให้การส่งออกวัตถุดิบชะงักซึ่งาจจะทำให้หลายประเทศเกิดการขาดแคลนวัตถุดิบในการผลิต แต่ไทยโชคดีที่มีแหล่งวัตถุดิบที่หลากหลายในประเทศ ขาดแค่กลุ่มปุ๋ยที่ยูเครนไม่สามารถส่งออกได้
ส่วนกลุ่มอุตสาหกรรม ที่น่าห่วงคืกลุ่มยานยนต์ที่แม้ไม่มีสงครามรัสเซีย-ยูเครน อุตสาหกรรมก็ขาดแคลนชิปในการผลิตยิ่งพอมาเจอสงครามยิ่งกระทบหนักตรงนี้น่าเป็นห่วง การปรับตัวของไทยคือ ไทยเองต้องมองหาตลาดใหม่ๆเพื่อมาทดแทนวัตถุดิบที่ขาดไป การหาพลังงานทดแทนพลังงานน้ำมันที่แพงต่อเนื่อง เช่น โซลาเซลซึ่งขณะนี้มีผู้ประกอบการมีการปรับเปลี่ยนบ้างแล้ว
“มรสุมเศรษฐกิจลูกใหม่เกิดแน่ ซึ่งตัวเร่งให้เกิดคือประเทศคู่ค้า รวมถึงเศรษฐกิจของโลกว่าจะหดตัวรุนเรงแค่ไหนซึ่งเป็นประเด็นที่ไทยต้องจับตามองอย่างใกล้ชิด และราคาน้ำมันว่าจะมีความผันผวนและจะทะลุ115ดอลลาร์ต่อบาร์เรลหรือไม่ เพราะราคาน้ำมันถือว่าเป็นปัจจัยสำคัญเพราะทำให้ต้นทุนการผลิตสูงขึ้น รวมถึงสงครามรัสเซีย-ยูเครนด้วย ถ้าสงครามไม่จบเร็วๆนี้สิ่งที่ทำได้คือการปรับตัวของแต่ละประเทศ ไทยเองต้องเร่งส่งออก หาตลาดใหม่รักษาตลาดเก่าเพราะส่งออกยังถือว่าเป็นพระเอกที่ช่วยพยุงเศรษฐกิจไทยในตอนนี้และค่าบาทที่อ่อน 34บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯก็ทำให้ส่งออกไทยดีขึ้น”