31 พฤษภาคม 2565 ในการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2566 วงเงิน 3.18 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี 2565 จำนวน 85,000 ล้านบาท วาระที่ 1 ในวันแรกนี้ หลังจากถูกส.ส.ฝ่ายค้านกล่าวพาดพิงเกี่ยวกับนโยบายของรัฐบาลว่าไม่ได้ให้ความสำคัญกับผู้ประกอบการเอสเอ็มอี นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ได้ลุกขึ้นชี้แจงโดยยยืนยันว่า รัฐบาลให้ความสำคัญกับธุรกิจเอสเอ็มอี เพราะถือเป็นเส้นเลือดเส้นหนึ่งในภาคธุรกิจของไทยซึ่งมีผู้ประกอบการธุรกิจเอสเอ็มอีที่อยู่ในระบบประมาณ 400,000 ราย มีลูกจ้างรวมกันประมาณ 5 ล้านคน
ทั้งนี้ ช่วงเกิดวิกฤตเอสเอ็มอีเป็นธุรกิจที่มีความอ่อนไหวที่สุด มีการออกจากงานในช่วงการระบาดของโรคโควิด-19 โดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้มอบหมายให้แก้ปัญหาที่เกี่ยวกับธุรกิจเอสเอ็มอี ซึ่งตนได้ขอรับการจัดสรรงบประมาณส่วนหนึ่งจากเงินกู้เพื่อไปช่วยเหลือธุรกิจเอสเอ็มอีเป็นเวลา 3 เดือน
โดยรัฐบาลได้เข้าไปช่วยเหลืออุดหนุนการจ้างงาน อาทิ ถ้าธุรกิจนั้นมีลูกจ้าง 100 คน จะได้รับเงินอุดหนุนจากรัฐบาล หัวละ 3,000 บาท ซึ่งเมื่อรวม 3 เดือน รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 900,000 บาท ซึ่งการเข้าไปอุดหนุนดังกล่าวเพื่อประคับประคองธุรกิจเอสเอ็มอีให้ยังอยู่ได้ พร้อมกับรักษาการจ้างงาน แต่ปรากฏว่า ช่วง 3 เดือนดังกล่าว ไม่ใช่แค่สามารถรักษาการจ้างงาน 5 ล้านคนไว้ได้ แต่ยังเพิ่มการจ้างงานอีก 57,000 กว่าคน
นายสุชาติ รมว.แรงงาน ชี้แจงเพิ่มเติมว่า เมื่อปี 2563 มีคนที่ต้องออกจากงาน ประมาณ 498,000 คน ต่อมา ปี 2564 รัฐบาลได้มีมาตรการต่างๆออกมา ทำให้การจ้างงานเพิ่มเป็นบวกประมาณ 170,000 กว่าคน และในช่วงเดือน มกราคม-มีนาคม 2565 มีอัตราการจ้างงาน 330,000 กว่าราย มากกว่าปี 2562
สิ่งเหล่านี้เป็นผลพวงจากการที่รัฐบาลประคับประคองธุรกิจเอสเอ็มอี ทั้งนี้ ถ้าธุรกิจเอสเอ็มอีอยู่ไม่ได้ รัฐบาลไม่มีทางจะเก็บภาษีได้ตามเป้า แต่ในช่วงที่ประเทศเกิดวิกฤต เราจำเป็นต้องนำเงินไปประคับประคองธุรกิจให้อยู่รอด เพื่อที่เมื่อใดถึงเวลาเปิดประเทศ มีนักท่องเที่ยวเข้ามา การสร้างความเข้มจะทำให้ธุรกิจนั้นๆเติบโตแบบก้าวกระโดดได้