คำถามที่พบบ่อยหลังปลดล็อกกัญชา กัญชง ออกจากยาเสพติด มัดรวมแล้วที่นี่

01 มิ.ย. 2565 | 22:55 น.
อัปเดตล่าสุด :02 มิ.ย. 2565 | 06:18 น.

คำถามที่พบบ่อยหลังปลดล็อกกัญชา กัญชง ออกจากยาเสพติด ล่าสุด อย.เตรียมเปิดแอปฯพลิเคชั่นปลูกกัญ จดแจ้งลงทะเบียน ดูรายละเอียดที่นี่

สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) เตรียมจะนำมาใช้ในการจดแจ้งการปลูกกัญชาเพื่อดูแลสุขภาพสำหรับประชาชนทั่วไป รวมทั้งการขออนุญาตปลูกในเชิงพาณิชย์ ตั้งแต่วันที่ 9 มิถุนายน 2565 เป็นต้นไป เพื่อให้ประชาชนสามารถใช้พืชสมุนไพรที่เหมาะสม และ เตรียมเปิดใช้งานแอปฯพลิเคชั่นปลูกกัญ เพื่อจดแจ้งลงทะเบียน

 

แม้ กระทรวงสาธารณสุข โดยคณะกรรมการอาหารและยา หรือ อย. เตรียมปลดล็อกกัญชา แต่ยังมีคำถาม และ คำตอบ ที่มักพบบ่อย "ฐานเศรษฐกิจ" ได้รวบรวมคำถามที่พบบ่อยดังนี้

คำถาม-คำตอบ แนวทางการปลูก นำเข้า และนำเข้า/นำติดตัวเพื่อใช้เฉพาะตน ของกัญชา กัญชง ภายหลังปลดล็อก กัญชา กัญชง พ้นจากยาเสพติด

การปลูก กัญชา กัญชง

  • คำถาม: การปลูก ต้องขอรับอนุญาตตามกฎหมายใด หรือไม่
  • คำตอบ:  ไม่ต้อง เนื่องจาก ภายหลังวันที่ 9 มิถุนายน 2565 พืชกัญชา กัญชง ไม่ถูกควบคุมเป็นยาเสพติดให้ โทษ ดังนั้น จึงไม่ต้องขอรับอนุญาตปลูกตามกฎหมายว่าด้วยยาเสพติดให้โทษอีก ทั้งนี้ ขอความ ร่วมมือให้ประชาชนที่ต้องการปลูกกัญชา กัญชง แจ้งข้อมูลผ่านระบบ Application “ปลูกกัญ” ที่สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาจัดทำขึ้น

 

 

 

การนำเข้า กัญชา กัญชง

  • คำถาม :การนำเข้าสารสกัดจากทุกส่วนของพืชกัญชา กัญชง สามารถกระทำได้หรือไม่ อย่างไร
  • คำตอบ:  สามารถกระทำได้ โดยการนำเข้าต้องขออนุญาตตามประมวลกฎหมายยาเสพติด เนื่องจากสารสกัด จากทุกส่วนของพืชกัญชา กัญชง จัดเป็นยาเสพติดให้โทษในประเภท 5

 

  • คำถาม: สารสกัดจากทุกส่วนของพืชกัญชา กัญชง ที่เป็นสารควบคุมคุณภาพในการตรวจวิเคราะห์และ ควบคุมคุณภาพของการตรวจสารเสพติดในร่างกายสำหรับใช้เป็นเครื่องมือแพทย์จัดเป็นยาเสพ ติดให้โทษในประเภท 5 หรือไม่ และการนำเข้าต้องดำเนินการอย่างไร

 

  • คำตอบ: สารสกัดจากทุกส่วนของพืชกัญชา กัญชง ที่เป็นสารควบคุมคุณภาพในการตรวจวิเคราะห์และควบคุม คุณภาพของการตรวจสารเสพติดในร่างกายสำหรับใช้เป็นเครื่องมือแพทย์ ไม่จัดเป็นยาเสพติดให้โทษ ในประเภท 5 แต่จัดเป็นเครื่องมือแพทย์ ดังนั้นการนำเข้าต้องได้รับอนุญาตตามกฎหมายว่าด้วย เครื่องมือแพทย์

 

 

กัญชา

 

  • คำถาม : การนำเข้าผลิตภัณฑ์ (Finished product) ที่มีส่วนผสมของสารสกัดจากทุกส่วนของพืชกัญชา กัญชง และผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนผสมของส่วนต่าง ๆ ของพืชกัญชา กัญชง ต้องขอรับอนุญาตตาม กฎหมายใด
  • คำตอบ:  เนื่องจากผลิตภัณฑ์ (Finished product) ที่มีส่วนผสมของสารสกัดจากทุกส่วนของพืชกัญชา กัญชง และ ผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนผสมของส่วนอื่น ๆ ของพืชกัญชา กัญชง ไม่จัดเป็นยาเสพติดให้โทษในประเภท 5 การนำเข้าจึงไม่ต้องขออนุญาตนำเข้าตามประมวลกฎหมายยาเสพติด แต่ให้ดำเนินการตามกฎหมาย ว่าด้วยผลิตภัณฑ์สุขภาพนั้น ๆ โดยพิจารณาจากวัตถุประสงค์การใช้งานบนฉลากผลิตภัณฑ์หรือความ มุ่งหมายของผู้ผลิต ดังนี้ กรณีอาหาร จัดเป็นอาหารห้ามนำเข้าตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข ฉบับที่ 424 พ.ศ. 2564 ที่ออกตามมาตรา 6(8) ผู้ฝ่าฝืนมีโทษจำคุกตั้งแต่หกเดือนถึงสองปีและปรับตั้งแต่ห้าพันบาทถึง สองหมื่นบาท แห่ง พ.ร.บ. อาหาร พ.ศ. 2522 กรณีเครื่องสำอาง จัดเป็นเครื่องสำอางที่ห้ามนำเข้าตามประกาศฯที่ออกตามความในมาตรา 6(1) ผู้ฝ่าฝืนมีโทษจำคุกไม่เกินสองปี หรือปรับไม่เกินสองแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ตามความ ในพระราชบัญญัติเครื่องสำอาง พ.ศ. 2558 กรณีการนำเข้าผลิตภัณฑ์สุขภาพอื่น เช่น ผลิตภัณฑ์สมุนไพร ยาแผนโบราณสำหรับสัตว์ เครื่องมือแพทย์ และวัตถุอันตรายที่ใช้ในบ้านเรือน ให้ดำเนินการตามกฎหมายว่าด้วยผลิตภัณฑ์นั้น ๆ

 

  • คำถาม: การนำเข้าเมล็ดกัญชา กัญชง และส่วนอื่น ๆ ของพืชกัญชา กัญชง เช่น เปลือก ลำต้น ใบ เส้นใย กิ่งก้าน ราก ยอดหรือช่อดอก มาผลิตเป็นผลิตภัณฑ์สุขภาพ หรือเป็นวัตถุดิบในการผลิตสารสกัด จากกัญชา กัญชง ต้องขอรับอนุญาตตามกฎหมายใด
  • คำตอบ:  ต้องขอรับอนุญาต ดังนี้

1. ขออนุญาตนำเข้าตามพระราชบัญญัติกักพืช พ.ศ. 2507 และกรณีนำเข้าเมล็ดกัญชา กัญชง ต้องขออนุญาตนำเข้าตามพระราชบัญญัติพันธุ์พืช พ.ศ. 2518 เพิ่มเติมด้วย

2. เมื่อได้รับอนุญาตตามข้อ 1 แล้ว หากประสงค์จะนำพืชกัญชา กัญชงดังกล่าวเพื่อมาผลิตเป็น ผลิตภัณฑ์สุขภาพ หรือเป็นวัตถุดิบในการผลิตสารสกัดจากกัญชา กัญชง ให้ดำเนินการตามกฎหมาย ว่าด้วยผลิตภัณฑ์สุขภาพนั้น ๆ โดย

 1. กรณีนำมาผลิตเป็นอาหาร ไม่สามารถนำเข้าได้ เนื่องจากจัดเป็นอาหารห้ามนำเข้า ตาม ประกาศกระทรวงสาธารณสุข ฉบับที่ 424 พ.ศ. 2564 ออกตามความใน พ.ร.บ. อาหาร พ.ศ. 2522 เรื่องกำหนดอาหารที่ห้ามผลิต นำเข้า หรือจำหน่าย

2. กรณีนำมาผลิตเป็นเครื่องสำอาง ไม่สามารถนำเข้าได้ เนื่องจากเป็นวัตถุดิบที่ห้ามนำเข้า

3. กรณีนำมาผลิตเป็นผลิตภัณฑ์สุขภาพอื่น เช่น ผลิตภัณฑ์สมุนไพร ยาแผนโบราณสำหรับสัตว์ เครื่องมือแพทย์ วัตถุอันตรายที่ใช้ในบ้านเรือน และยาเสพติด การขออนุญาตและการ อนุญาตให้ดำเนินการตามกฎหมายว่าด้วยผลิตภัณฑ์นั้น ๆ ซึ่งหากได้รับอนุญาตให้ผลิตถูกต้องตามกฎหมายแล้ว การพิจารณาตรวจสอบการนำเข้าเพื่อเป็น วัตถุดิบในการผลิตผลิตภัณฑ์นั้น ๆ ก็สามารถดำเนินการได้เช่นเดียวกัน การนำเข้า/นำติดตัวเพื่อใช้เฉพาะตน ของกัญชา กัญชง

 

  • คำถาม: การนำเข้าผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนผสมของสารสกัดจากทุกส่วนของพืชกัญชา กัญชง และผลิตภัณฑ์ที่ มีส่วนผสมของส่วนต่าง ๆ ของพืชกัญชา กัญชง รวมถึงการนำเข้าส่วนต่าง ๆ ของพืช เพื่อใช้ เฉพาะตัว ครอบคลุมการนำเข้าในลักษณะใดบ้าง และมีการกำหนดหลักเกณฑ์ไว้หรือไม่ อย่างไร

 

  • คำตอบ: การนำเข้าผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนผสมของสารสกัดจากทุกส่วนของพืชกัญชา กัญชง และผลิตภัณฑ์ที่มี ส่วนผสมของส่วนต่าง ๆ ของพืชกัญชา กัญชง รวมถึงการนำเข้าส่วนต่าง ๆ ของพืช เพื่อใช้เฉพาะตัว ครอบคลุมการนำเข้าใน 2 ลักษณะ ดังนี้

1. การนำติดตัวผู้โดยสารที่เดินทางเข้ามาในราชอาณาจักร

และ 2. การส่งทางพัสดุ/ไปรษณีย์ระหว่างประเทศ ซึ่งกำหนดหลักเกณฑ์การนำเข้าเพื่อใช้เฉพาะตัวไว้ว่า ผู้นำเข้าต้องเป็นบุคคลธรรมดา และมี วัตถุประสงค์เพื่อนำมาใช้เฉพาะตัวของผู้นำเข้าเอง โดยพิจารณาจากรูปแบบของสินค้าที่นำเข้า ดังนี้

 ก. การนำเข้าในรูปแบบของผลิตภัณฑ์ ให้ดำเนินการตามกฎหมายว่าด้วยผลิตภัณฑ์นั้น ๆ เช่น เครื่องมือแพทย์ หรือวัตถุอันตราย หรือ ผลิตภัณฑ์สมุนไพร โดยพิจารณาจากวัตถุประสงค์การใช้งานบนฉลากผลิตภัณฑ์ ทั้งนี้หากผลิตภัณฑ์ ดังกล่าวจัดเป็นอาหาร หรือเครื่องสำอาง จะไม่สามารถนำเข้าได้ เนื่องจากจัดเป็นอาหารห้ามนำเข้า หรือเป็นเครื่องสำอางที่ห้ามนำเข้า

 ข. การนำเข้าในรูปแบบส่วนต่าง ๆ ของพืช ต้องได้รับอนุญาตให้นำเข้าตามพระราชบัญญัติกักพืช พ.ศ. 2507 ก่อน และหากนำเข้ามาเป็นอาหาร เพื่อบริโภคส่วนตัวจะไม่สามารถนำเข้าได้ เนื่องจากจัดเป็นอาหารห้ามนำเข้าตามประกาศกระทรวง สาธารณสุข ฉบับที่ 424 พ.ศ. 2564 ส่วนกรณีนำเข้าส่วนต่าง ๆ ของพืชกัญชา กัญชง มาเป็น ผลิตภัณฑ์สมุนไพรเพื่อใช้เฉพาะตัว ให้เป็นไปตามกฎหมายว่าด้วยผลิตภัณฑ์สมุนไพร.

 

ที่มา: อย.