มีผลแล้วแพ็คเกจอีวี รถยนต์ จักรยานยนต์ไฟฟ้า เช็คเงื่อนไขก่อนรับสิทธิ

31 พ.ค. 2565 | 10:51 น.
อัปเดตล่าสุด :31 พ.ค. 2565 | 18:23 น.

ราชกิจจานุเบกษา ประกาศแพ็คเกจอีวี อยากรู้หลักเกณฑ์ วิธีการ เงื่อนไขการรับสิทธิตามมาตรการสนับสนุนการใช้ยานยนต์ไฟฟ้า ทั้ง รถยนต์ รถจักรยานยนต์ ต้องทำยังไง คุณลักษณะ คุณสมบัติมีอะไร เงื่อนไขการนำเข้า การผลิต เงินอุดหนุน เป็นแบบไหน เช็คครบที่นี่

เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่ ประกาศกรมสรรพสามิต เรื่องกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการรับสิทธิตาม มาตรการสนับสนุนการใช้ยานยนต์ไฟฟ้า ประเภทรถยนต์และรถจักรยานยนต์ หรือแพ็คเกจอีวี ซึ่งลงนามโดยนายลวรณ แสงสนิท อธิบดีกรมสรรพสามิต

 

แพ็คเกจอีวี ตามประกาศกรมสรรพสามิต มีสาระสำคัญ คือ มาตรการของรัฐในการสนับสนุนและส่งเสริมให้มีการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าประเภทรถยนต์และรถจักรยานยนต์ โดยการลดอัตราหรือยกเว้นอากรขาเข้า การลดอัตราภาษีสรรพสามิตและการให้เงินอุดหนุนแก่ผู้ได้รับ สิทธิตามมาตรการ 

 

เพื่อให้ราคารถยนต์และรถจักรยานยนต์แบบพลังงานไฟฟ้าจากแบตเตอรี่ (Battery Electric Vehicle : BEV) ลดลงใกล้เคียงกับราคารถยนต์และรถจักรยานยนต์ประเภทเครื่องยนต์สันดาปภายใน  ทำให้เกิดความต้องการซื้อและสร้างแรงจูงใจให้มีการผลิตรถยนต์และรถจักรยานยนต์แบบพลังงานไฟฟ้าจากแบตเตอรี่ (Battery Electric Vehicle : BEV) เพิ่มขึ้น

 

โดยมีเป้าหมายเพื่อให้ประเทศไทยเป็นฐานการผลิตยานยนต์ไฟฟ้า และเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน ของอุตสาหกรรมการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าและชิ้นส่วนสำคัญของยานยนต์ไฟฟ้าในประเทศ โดยมีระยะเวลาการดำเนินมาตรการตั้งแต่ออกประกาศจนถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2568 

ผู้ขอรับสิทธิตามแพ็กเกจอีวี

  1. ผู้ประกอบอุตสาหกรรม 
  2. ผู้ประกอบอุตสาหกรรมที่มีโรงอุตสาหกรรมตั้งอยู่ในเขตปลอดอากรตามกฎหมาย ว่าด้วยศุลกากร
  3. ผู้ประกอบอุตสาหกรรมที่มีโรงอุตสาหกรรมตั้งอยู่ในเขตประกอบการเสรี ตามกฎหมายว่าด้วยการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย
  4. ผู้นำเข้าซึ่งเป็นผู้ประกอบอุตสาหกรรมตามข้อ 1 ข้อ 2 หรือข้อ 3 แล้วแต่กรณี 
  5. ผู้นำเข้าที่ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นตัวแทนจำหน่ายอย่างเป็นทางการจาก ผู้ประกอบอุตสาหกรรมที่มีโรงอุตสาหกรรมตั้งอยู่ในเขตปลอดอากรตามกฎหมายว่าด้วยศุลกากร
  6. ผู้นำเข้าที่ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นตัวแทนจำหน่ายอย่างเป็นทางการจากบริษัท ที่เป็นเจ้าของผลิตภัณฑ์และมีสัญญาว่าจ้างการผลิตกับผู้ประกอบอุตสาหกรรมที่มีโรงอุตสาหกรรมตั้งอยู่ ในเขตปลอดอากรตามกฎหมายว่าด้วยศุลกากร
  7. ผู้นำเข้าที่มีสัญญาว่าจ้างการผลิตกับบริษัทที่ได้รับบัตรส่งเสริมการลงทุนภายใต้ กิจการการผลิตรถยนต์แบบพลังงานไฟฟ้าจากแบตเตอรี่

 

ภาพประกอบ รถยนต์อีวี EV

คุณลักษณะและคุณสมบัติ รถยนต์หรือรถจักรยานยนต์ที่ขอรับสิทธิแพ็กเกจอีวี 

 

1.รถยนต์นั่งแบบพลังงานไฟฟ้าจากแบตเตอรี่ (Battery Electric Vehicle : BEV) ที่มีราคาขายปลีกแนะนำไม่เกิน 2 ล้านบาท และมีขนาดความจุของแบตเตอรี่ตั้งแต่ 10 กิโลวัตต์ชั่วโมงขึ้นไป หรือแบบพลังงานไฟฟ้าจากแบตเตอรี่ (Battery Electric Vehicle : BEV) ที่มีราคาขายปลีกแนะนำเกิน 2 ล้านบาท แต่ไม่เกิน 7 ล้านบาท และมีขนาดความจุของแบตเตอรี่ตั้งแต่ 30 กิโลวัตต์ชั่วโมงขึ้นไป ซึ่งผลิตในประเทศในปี พ.ศ. 2565 – 2568 หรือนำเข้ามาในประเทศในปี พ.ศ. 2565 – 2566

 

2. รถยนต์โดยสารที่มีที่นั่งไม่เกิน 10 คน แบบพลังงานไฟฟ้าจากแบตเตอรี่ (Battery Electric Vehicle : BEV) ที่มีราคาขายปลีกแนะนำ ไม่เกิน 2 ล้านบาท และมีขนาดความจุของแบตเตอรี่ตั้งแต่ 10 กิโลวัตต์ชั่วโมงขึ้นไป หรือแบบ พลังงานไฟฟ้าจากแบตเตอรี่ (Battery Electric Vehicle : BEV) ที่มีราคาขายปลีกแนะนำเกิน 2 ล้านบาท แต่ไม่เกิน 7 ล้านบาท และมีขนาดความจุของแบตเตอรี่ตั้งแต่ 30 กิโลวัตต์ชั่วโมงขึ้นไป ซึ่งผลิตในประเทศในปี พ.ศ. 2565 – 2568 หรือนำเข้ามาในประเทศในปี พ.ศ. 2565 – 2566

 

3. รถยนต์กระบะที่ออกแบบสำหรับให้มีน้ำหนักรถรวมน้ำหนักบรรทุกไม่เกิน 4,000 กิโลกรัม แบบพลังงานไฟฟ้าจากแบตเตอรี่ (Battery Electric Vehicle : BEV) ที่มีราคาขายปลีกแนะนำไม่เกิน 2 ล้านบาท และมีขนาดความจุของ แบตเตอรี่ตั้งแต่ 30 กิโลวัตต์ชั่วโมงขึ้นไป ซึ่งผลิตในประเทศในปี พ.ศ. 2565 – 2568

 

4. รถจักรยานยนต์แบบพลังงานไฟฟ้าจากแบตเตอรี่ (Battery Electric Vehicle : BEV) ที่มีราคาขายปลีกแนะนำ ไม่เกิน 150,000 บาท ซึ่งผลิตในประเทศในปี พ.ศ. 2565 – 2568 หรือนำเข้ามาในประเทศในปี พ.ศ. 2565 – 2566 โดยต้องมีคุณสมบัติดังนี้

  • ใช้แบตเตอรี่ประเภทลิเธียมไอออนที่มีขนาดแรงดันไฟฟ้าตั้งแต่ 48 โวลต์ ขึ้นไป 
  • ใช้แบตเตอรี่ที่มีขนาดความจุของแบตเตอรี่ตั้งแต่ 3 กิโลวัตต์ชั่วโมงขึ้นไป หรือวิ่งได้ระยะทางตั้งแต่ 75 กิโลเมตรขึ้นไปต่อการอัดประจุไฟฟ้า 1 ครั้ง ซึ่งผ่านการทดสอบ ตามมาตรฐาน WMTC (Worldwide Harmonized Motorcycle Emission Certification/Test Procedure) ตั้งแต่ Class 1 ขึ้น
  • ใช้ยางล้อที่เป็นไปตามมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม ยางล้อแบบสูบลม สำหรับรถจักรยานยนต์และโมเปด มาตรฐานเลขที่ มอก. 2720 – 2560 หรือที่สูงกว่า หรือเป็นไปตามข้อกำหนดทางเทคนิคยานยนต์ของสหประชาชาติ ข้อกำหนดที่ 75 (UN Regulation No. 75) 00 Series หรือ Series ที่สูงกว่า
  • ผ่านการทดสอบความปลอดภัยของรถจักรยานยนต์ไฟฟ้าตามมาตรฐาน ผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมยานยนต์ประเภท L คุณลักษณะเฉพาะสำหรับระบบส่งกำลังด้วยไฟฟ้า มาตรฐานเลขที่ มอก. 2952 – 2561
  • หรือได้รับหนังสือรับรองแบบ ตามข้อกำหนด ทางเทคนิคของสหประชาชาติ ข้อกำหนดที่ 136 (UN Regulation No. 136) 00 Series หรือ Series ที่สูงกว่า
  • หรือได้รับหนังสือรับรองแบบเครื่องกำเนิดพลังงานที่ขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้า ของรถจักรยานยนต์ ตามประกาศกรมการขนส่งทางบก

 

ภาพประกอบ รถยนต์อีวี EV

 

ผู้ขอรับสิทธิที่ผลิตหรือนำเข้ารถยนต์หรือรถจักรยานยนต์ต้องยื่นหนังสือแจ้งความประสงค์ขอรับสิทธิตามมาตรการสนับสนุนการต่อกรมสรรพสามิต หลังจากได้รับการอนุมัติ ผู้ได้รับสิทธิต้องทำข้อตกลงการรับสิทธิตามมาตรการสนับสนุนการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าประเภทรถยนต์และรถจักรยานยนต์กับอธิบดีกรมสรรพสามิตหรือผู้ที่อธิบดีกรมสรรพสามิตมอบหมาย

 

นอกจากนี้ผู้ได้รับสิทธิตามมาตรการสนับสนุนการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าประเภทรถยนต์และรถจักรยานยนต์ต้องวางหนังสือสัญญาค้าประกันโดยธนาคารพาณิชย์ ที่จดทะเบียนตามกฎหมายไทย ที่มีกำหนดระยะเวลาการค้าประกันจนถึงวันที่ 30 มิถุนายน 

หลักเกณฑ์และเงื่อนไขเกี่ยวกับจำนวนเงินตามหนังสือสัญญาค้าประกัน ดังนี้

กรณีที่เป็นการได้รับสิทธิสำหรับรถยนต์นั่ง รถยนต์โดยสารที่มีที่นั่งไม่เกิน 10 คน หรือรถยนต์กระบะ 

  • หากมีทุนจดทะเบียนบริษัทน้อยกว่า 5,000 ล้านบาท ให้วางหนังสือ สัญญาค้าประกันโดยธนาคารเป็นจำนวนเงิน 20 ล้านบาท
  • หากมีทุนจดทะเบียนบริษัทตั้งแต่ 5,000 ล้านบาท ขึ้นไป ให้วางหนังสือ สัญญาค้าประกันโดยธนาคารเป็นจำนวนเงิน 10 ล้านบาท

 

กรณีที่เป็นการได้รับสิทธิสำหรับรถจักรยานยนต์

  • หากมีทุนจดทะเบียนบริษัทน้อยกว่า 500 ล้านบาท ให้วางหนังสือ สัญญาค้าประกันโดยธนาคารเป็นจำนวนเงิน 15 ล้านบาท
  • หากมีทุนจดทะเบียนบริษัทตั้งแต่ 500 ล้านบาท แต่น้อยกว่า 1,000 ล้านบาท ให้วางหนังสือสัญญาค้ำประกันโดยธนาคารเป็นจำนวนเงิน 10 ล้านบาท
  • หากมีทุนจดทะเบียนบริษัทตั้งแต่ 1,000 ล้านบาท ขึ้นไป ให้วางหนังสือ สัญญาค้ำประกันโดยธนาคารเป็นจำนวนเงิน 5 ล้านบาท

 

ทั้งนี้กรมสรรพสามิตจะทบทวนวงเงินตามหนังสือสัญญาค้ำประกันโดยธนาคาร ตามความเหมาะสมทุก 1 ปี นับแต่วันที่มีการลงนามข้อตกลงการรับสิทธิเสร็จสมบูรณ์ โดยพิจารณาถัวเฉลี่ยจากโครงสร้างราคาขายปลีก แนะนำ และปริมาณจากยอดขายในภาพรวมของผู้ได้รับสิทธิตามแพ็จเกจอีวี  โดยคำนึงถึงปริมาณอุปสงค์และอุปทานของยานยนต์ไฟฟ้า ในประเทศ

 

โดยผู้ได้รับสิทธิ ต้องแจ้งราคาขายปลีกแนะนำและโครงสร้างราคาขายปลีกแนะนำ และแจ้งเปลี่ยนแปลงราคาขายปลีกแนะนำและโครงสร้างราคาขายปลีกแนะนำ สำหรับรถยนต์นั่ง รถยนต์โดยสารที่มีที่นั่งไม่เกิน 10 คน รถยนต์กระบะ และรถจักรยานยนต์ ที่ขอรับสิทธิ ต่อกรมสรรพสามิต ก่อนการนำสินค้า ออกจากโรงอุตสาหกรรมหรือคลังสินค้าทัณฑ์บนไม่น้อยกว่า 15 วัน หรือก่อนวันยื่นแบบรายการภาษี และชำระภาษีไม่น้อยกว่า 15 วัน แล้วแต่กรณี 

 

กรณีผู้ได้รับสิทธิที่นำเข้ารถยนต์นั่งหรือรถยนต์โดยสารที่มีที่นั่งไม่เกิน 10 คน แบบสำเร็จรูปทั้งคัน (Completely Built Up : CBU) ซึ่งได้รับสิทธิในการลดอัตราหรือยกเว้น อากรศุลกากร ต้องยื่นแบบคำขอหนังสือรับรองการได้รับสิทธิตามมาตรการสนับสนุนการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าประเภท รถยนต์และรถจักรยานยนต์ 

 

พร้อมเอกสารหลักฐาน ที่ใช้ประกอบแบบคำต่อกรมสรรพสามิต เมื่อได้รับหนังสือรับรองแล้ว ให้นำหนังสือรับรองการได้รับสิทธิดังกล่าวไปแสดงต่อพนักงานศุลกากร ณ สำนักงานศุลกากรหรือด่านศุลกากร ที่นำเข้าเพื่อปฏิบัติพิธีการศุลกากรตรวจปล่อยสินค้า พร้อมยื่นแบบรายการภาษีและชำระภาษีในเวลา ที่ออกใบขนสินค้าให้ตามกฎหมายว่าด้วยศุลกากรต่อไป

 

อย่างไรก็ตามห้ามมิให้ผู้ได้รับสิทธิปรับปรุงหรือเปลี่ยนแปลงเล็กน้อย (Minor Change)ยานยนต์ไฟฟ้าประเภทรถยนต์ และรถจักรยานยนต์ ตลอดช่วงระยะเวลาที่ได้รับสิทธิตามมาตรการสนับสนุน เว้นแต่จะได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการกำหนดหลักเกณฑ์และพิจารณา การขอรับสิทธิตามมาตรการสนับสนุนการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าประเภทรถยนต์และรถจักรยานยนต์

 

ภาพประกอบ รถยนต์อีวี EV

 

เงื่อนไขการนำเข้า-การผลิตรถอีวี

 

รถยนต์นั่ง รถยนต์โดยสารที่มีที่นั่งไม่เกิน 10 คน หรือรถจักรยานยนต์ ที่นำเข้ามาในประเทศในปี พ.ศ. 2565 – 2566 ต้องจดทะเบียนตามกฎหมาย ว่าด้วยรถยนต์ภายในวันที่ 31 ธันวาคม 2566 หากเป็นรถยนต์นั่ง รถยนต์โดยสารที่มีที่นั่งไม่เกิน 10 คน รถยนต์กระบะ หรือรถจักรยานยนต์ ที่ผลิตในประเทศในปี พ.ศ. 2565 – 2568 ต้องจดทะเบียนตามกฎหมายว่าด้วยรถยนต์ ภายในวันที่ 31 ธันวาคม 2568

 

อัตราเงินอุดหนุนรถยนต์อีวีและรถจักรยานยนต์อีวี


รถยนต์นั่ง หรือรถยนต์โดยสารที่มีที่นั่งไม่เกิน 10 คน ที่มีราคาขายปลีกแนะนำไม่เกิน 2 ล้านบาท 

  • หากมีขนาดความจุของแบตเตอรี่ตั้งแต่ 10 กิโลวัตต์ชั่วโมง แต่น้อยกว่า 30 กิโลวัตต์ชั่วโมง ให้มีสิทธิได้รับเงินอุดหนุน 70,000 บาทต่อคัน
  • หากมีขนาดความจุของแบตเตอรี่ตั้งแต่ 30 กิโลวัตต์ชั่วโมง ขึ้นไป ให้มีสิทธิได้รับเงินอุดหนุน 150,000 บาท ต่อคัน
  • รถยนต์กระบะที่ออกแบบสำหรับให้มีน้ำหนักรถรวมน้ำหนักบรรทุกไม่เกิน 4,000 กิโลกรัม ให้มีสิทธิได้รับเงินอุดหนุน 150,000 บาท ต่อคัน
  • รถจักรยานยนต์ให้มีสิทธิได้รับเงินอุดหนุน 18,000 บาทต่อคัน

 

ผู้ได้รับสิทธิตามมาตรการสนับสนุนการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าประเภทรถยนต์และรถจักรยานยนต์ สำหรับรถยนต์นั่งรถยนต์โดยสารที่มีที่นั่งไม่เกิน 10 คน หรือรถจักรยานยนต์ ต้องผลิตรถยนต์นั่ง รถยนต์โดยสารที่มีที่นั่งไม่เกิน 10 คน หรือรถจักรยานยนต์ หรือต้องดำเนินการเพื่อให้ผู้ประกอบอุตสาหกรรมหรือผู้ประกอบกิจการ ที่เกี่ยวข้องกับผู้ได้รับสิทธิในขั้นตอน

 

การขอรับสิทธิดังกล่าว ผลิตรถยนต์นั่ง รถยนต์โดยสารที่มีที่นั่ง ไม่เกิน 10 คน หรือรถจักรยานยนต์ แล้วแต่กรณี เพื่อชดเชยการนำเข้าที่ได้รับสิทธิตามมาตรการ สนับสนุนการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าประเภทรถยนต์และรถจักรยานยนต์ ซึ่งมีการนำเข้ามาในประเทศ ในแบบสำเร็จรูปทั้งคัน (Completely Built Up : CBU) ในปี พ.ศ. 2565-2566 

 

หลักเกณฑ์และเงื่อนไขเกี่ยวกับการผลิตเพื่อชดเชยการนำเข้า

 

1.กรณีนำเข้ารถยนต์นั่งหรือรถยนต์โดยสารที่มีที่นั่งไม่เกิน 10 คน ที่มีราคาขายปลีกแนะนำไม่เกิน 2 ล้านบาท และมีขนาดความจุของแบตเตอรี่ตั้งแต่ 10 กิโลวัตต์ ชั่วโมงขึ้นไป ให้ผลิตรถยนต์นั่งหรือรถยนต์โดยสารที่มีที่นั่ง ไม่เกิน 10 คน รุ่นใดก็ได้ โดยต้องผลิตชดเชยจนครบตามจำนวนการนำเข้ามาในประเทศในแบบ สำเร็จรูปทั้งคัน ในอัตราส่วน 1:1 เท่า (นำเข้า 1 คัน ผลิต 1 คัน) ของจำนวนที่นำเข้ามา ทั้งหมด ภายในวันที่ 31 ธันวาคม 2567


หากจำเป็นต้องขยายระยะเวลาการผลิตชดเชยจนถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2568 ต้องผลิตชดเชยการนำเข้าในอัตราส่วน 1 : 1.5 เท่า (นำเข้า 1 คัน ผลิต 1.5 คัน) ของจำนวนที่นำเข้ามาทั้งหมด 

 

2.กรณีที่มีการนำเข้ารถยนต์นั่งหรือรถยนต์โดยสารที่มีที่นั่งไม่เกิน 10 คน ที่มีราคาขายปลีกแนะนำเกิน 2 ล้านบาท แต่ไม่เกิน 7 ล้านบาท และมีขนาดความจุของแบตเตอรี่ ตั้งแต่ 30 กิโลวัตต์ชั่วโมงขึ้นไป ให้ผลิตรถยนต์นั่งหรือ รถยนต์โดยสารที่มีที่นั่งไม่เกิน 10 คน เฉพาะรุ่นที่มีการนำเข้าแบบสำเร็จรูปทั้งคันในปี พ.ศ. 2565-2566

 

โดยต้องผลิตชดเชยจนครบตามจำนวนการนำเข้ามาในประเทศในแบบสำเร็จรูปทั้งคัน ในอัตราส่วน 1 : 1 เท่า (นำเข้า 1 คัน ผลิต 1 คัน) ของจำนวนที่นำเข้ามาทั้งหมด ภายในวันที่ 31 ธันวาคม 2567 

 

หากจำเป็นต้องขยายระยะเวลาการผลิตชดเชยจนถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2568 ต้องผลิตชดเชยการนำเข้าในอัตราส่วน 1 : 1.5 เท่า (นำเข้า 1 คัน ผลิต 1.5 คัน) ของจำนวนที่นำเข้ามาทั้งหมด 

 

3.กรณีที่มีการนำเข้ารถจักรยานยนต์ ต้องผลิตชดเชยจนครบตามจำนวนการนำเข้ามาในประเทศในแบบสำเร็จรูปทั้งคัน ในอัตราส่วน 1 : 1 เท่า (นำเข้า 1 คัน ผลิต 1 คัน) ของจำนวนที่นำเข้ามาทั้งหมด ภายในวันที่ 31 ธันวาคม 2567 หากจำเป็น ต้องขยายระยะเวลาการผลิตชดเชยจนถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2568 ต้องผลิตชดเชยการนำเข้าในอัตราส่วน 1 : 1.5 เท่า (นำเข้า 1 คัน ผลิต 1.5 คัน) ของจำนวน ที่นำเข้ามาทั้งหมด

 

ภาพประกอบ รถยนต์อีวี EV

 

ประกาศแพ็กเพจอีวียังกำหนดว่า ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2569 รถยนต์นั่ง รถยนต์โดยสารที่มีที่นั่งไม่เกิน 10 คน หรือรถยนต์กระบะ ต้องใช้แบตเตอรี่หรือชิ้นส่วนที่ผลิตในประเทศ เป็นส่วนประกอบในการผลิต รถยนต์นั่ง รถยนต์โดยสารที่มีที่นั่งไม่เกิน 10 คน

 

รวมทั้งรถยนต์กระบะ แบบพลังงานไฟฟ้า จากแบตเตอรี่ (Battery Electric Vehicle : BEV) ทุกคัน หรือต้องดำเนินการเพื่อให้ผู้ประกอบ อุตสาหกรรมหรือผู้ประกอบกิจการที่เกี่ยวข้องกับผู้ได้รับสิทธิในขั้นตอนการขอรับสิทธิดังกล่าว ใช้แบตเตอรี่หรือชิ้นส่วนที่ผลิตในประเทศเป็นส่วนประกอบในการผลิตรถยนต์ดังกล่าวทุกคัน

 

เงื่อนไขการทำข้อตกลงการรับสิทธิแพ็กเกจอีวี 

 

เงื่อนไขที่ 1

  • ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2569 ต้องใช้แบตเตอรี่ที่ผลิตในประเทศ ระดับเซลล์ (Battery Cell) 
  • ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2569 ต้องใช้แบตเตอรี่ที่ผลิตในประเทศ ระดับโมดูล (Battery Module) 
  • ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2573 ต้องใช้พีซียู อินเวอร์เตอร์ (PCU Inverter) ที่ผลิตในประเทศ 
  • ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2578 ต้องใช้ชิ้นส่วนที่ผลิต ในประเทศ โดยเลือกใช้ชิ้นส่วนอย่างใดอย่างหนึ่ง จากชิ้นส่วน 5 รายการ ประกอบด้วย มอเตอร์ ขับเคลื่อน (Traction Motor) เกียร์ทดรอบ (Reduction Gear) คอมเพรสเซอร์ระบบปรับอากาศ สำหรับยานพาหนะไฟฟ้าแบบแบตเตอรี่ ระบบบริหารจัดการแบตเตอรี่ (BMS) ระบบควบคุมการขับขี่ (DCU)

 

เงื่อนไขที่ 2 

  • ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2569 ต้องใช้แบตเตอรี่ที่ผลิตในประเทศระดับ การประกอบ (Battery Pack Assembly) 
  • ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2573 ต้องใช้พีซียู อินเวอร์เตอร์ (PCU Inverter) ที่ผลิตในประเทศ 
  • ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2578 ต้องใช้ชิ้นส่วนที่ผลิต ในประเทศโดยเลือกใช้ชิ้นส่วน 2 รายการ จากชิ้นส่วน 5 รายการ ประกอบด้วย มอเตอร์ขับเคลื่อน (Traction Motor) เกียร์ทดรอบ (Reduction Gear) คอมเพรสเซอร์ระบบปรับอากาศสำหรับ ยานพาหนะไฟฟ้าแบบแบตเตอรี่ ระบบบริหารจัดการแบตเตอรี่ (BMS) ระบบควบคุมการขับขี่ (DCU)

 

บทลงโทษกรณีผู้ประกอบการทำผิดเงื่อนไข 

 

กรณีที่ผู้ประกอบอุตสาหกรรมหรือผู้ประกอบกิจการที่มีความเกี่ยวข้องกับผู้ได้รับสิทธิ ตามมาตรการสนับสนุนการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าประเภทรถยนต์และรถจักรยานยนต์ ไม่ดำเนินการผลิตรถยนต์นั่ง รถยนต์โดยสารที่มีที่นั่งไม่เกิน 10 คน หรือรถจักรยานยนต์ เพื่อชดเชยการนำเข้า

 

ตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่กำหนด กรมสรรพสามิตจะเรียกคืนเงินอุดหนุน ดังกล่าวจากผู้ได้รับเงินอุดหนุนเป็นรายคันตามจำนวนที่ไม่สามารถดำเนินการผลิตชดเชยได้ พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปีโดยไม่คิดทบต้น และจะบังคับตามหนังสือสัญญาค้าประกันโดย ธนาคารที่วางไว้เต็มจำนวน

 

การไม่ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขเกี่ยวกับการผลิตเพื่อชดเชยการนำเข้า ไม่ว่าจะเป็นกรณีที่มีสิทธิได้รับเงินอุดหนุนหรือไม่ ผู้ได้รับสิทธิจะต้องร่วมกันรับผิดโดยเสียค่าปรับ ในจำนวนเท่ากับภาษีสรรพสามิต เบี้ยปรับ และเงินเพิ่ม ตามกฎหมายว่าด้วยภาษีสรรพสามิต ที่ชำระขาดไป สำหรับรถยนต์นั่ง รถยนต์โดยสารที่มีที่นั่งไม่เกิน 10 คน หรือรถจักรยานยนต์ เป็นรายคันตามจำนวนที่ไม่สามารถดำเนินการผลิตชดเชยได้

 

กรณีที่ผู้ประกอบอุตสาหกรรมหรือผู้ประกอบกิจการที่มีความเกี่ยวข้องกับผู้ได้รับสิทธิ ตามมาตรการสนับสนุนการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าประเภทรถยนต์และรถจักรยานยนต์ ไม่ใช้แบตเตอรี่หรือชิ้นส่วนที่ผลิตในประเทศเป็นส่วนประกอบในการผลิตรถยนต์นั่ง รถยนต์โดยสารที่มีที่นั่งไม่เกิน 10 คน หรือรถยนต์กระบะ แบบพลังงานไฟฟ้าจากแบตเตอรี่ (Battery Electric Vehicle : BEV) ทุกคัน ตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่กำหนดไว้ 

 

ต้องร่วมกันรับผิดโดยเสียค่าปรับ 2 เท่า ของจำนวนภาษีสรรพสามิตที่จะต้อง เสียจากการผลิตรถยนต์นั่ง รถยนต์โดยสารที่มีที่นั่งไม่เกิน 10 คน และรถยนต์กระบะ แบบพลังงาน ไฟฟ้าจากแบตเตอรี่ (Battery Electric Vehicle : BEV) ตามจำนวนการผลิตที่ไม่เป็นไปตาม หลักเกณฑ์และเงื่อนไขดังกล่าว

 

ทั้งนี้เพื่อให้การดำเนินการตามมาตรการสนับสนุนการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าประเภทรถยนต์ และรถจักรยานยนต์มีความสอดคล้องกับมติคณะกรรมการนโยบายยานยนต์ไฟฟ้าแห่งชาติ หากมีกรณี ที่มีปัญหาการตีความหรือปัญหาในทางปฏิบัติเกี่ยวกับการดำเนินการตามมาตรการนี้ ให้คณะกรรมการ กำหนดหลักเกณฑ์

 

รวมทั้งพิจารณาการขอรับสิทธิตามมาตรการสนับสนุนการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าประเภท รถยนต์และรถจักรยานยนต์นำเสนออธิบดีกรมสรรพสามิตหรือผู้ที่อธิบดีกรมสรรพสามิตมอบหมาย เพื่อหารือไปยังคณะกรรมการนโยบายยานยนต์ไฟฟ้าแห่งชาติต่อไป

 

ประกาศนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันออกประกาศ ณ วันที่ 21 มีนาคม พ.ศ. 2565 เป็นต้นไป

 

อ่านรายละเอียดแพ็คเกจอีวีทั้งหมด คลิกที่นี่