นายพิทักษ์ อุดมวิชัยวัฒน์ อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ เปิดเผยว่า ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา หน่วยงานศุลกากรสหรัฐฯ (U.S. Customs and Boarder Protection: CBP) และหน่วยงานป้องกันการฉ้อฉลด้านศุลกากรแห่งคณะกรรมาธิการยุโรป (European Anti-Fraud Office: OLAF) ได้ขอความร่วมมือกรมฯ ตรวจสอบถิ่นกำเนิดสินค้าจำนวน 15 สินค้า จากผู้ส่งออกจำนวน 29 ราย
เนื่องจากสงสัยว่าผู้ผลิตจากประเทศที่สหรัฐฯ และสหภาพยุโรปมีมาตรการทางการค้า เช่น มาตรการตอบโต้การทุ่มตลาด (Anti-Dumping Measure: AD) อาจแอบอ้างว่าไทยเป็นแหล่งกำเนิดสินค้า เพื่อหลบเลี่ยงการถูกเรียกเก็บอากร AD ของสหรัฐฯ/สหภาพยุโรป เป็นต้น
โดยผลการตรวจสอบ พบว่า ผู้ส่งออกไทยรวม 13 ราย หรือร้อยละ 45 ของผู้ส่งออกที่ถูกตรวจสอบได้แอบอ้างถิ่นกำเนิดสินค้าว่าเป็นสินค้าไทย 8 สินค้า ได้แก่ ฟูก สปริงในฟูก อะลูมิเนียมฟอยล์ น้ำผึ้ง ตะปู โซลาร์และแผงโซลาร์ จักรยานไฟฟ้า และแบตเตอรี่ลิเทียม ซึ่งมีรูปแบบการหลบเลี่ยงต่างๆ เช่น นำเข้าชิ้นส่วนมาประกอบในไทย หรือนำเข้ามาผลิตและแปรสภาพเพียงเล็กน้อย ไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์ถิ่นกำเนิดสินค้าที่สหรัฐฯ หรือสหภาพยุโรปกำหนด จึงทำให้สินค้ายังคงถิ่นกำเนิดเดิม ไม่ใช่ไทย
ทั้งนี้ ไตรมาสแรกของปี 2565 สหรัฐฯ และสหภาพยุโรปได้จับตามองสินค้าของไทย ได้แก่ ท่อเหล็กไร้ตะเข็บ ชิ้นส่วนยานยนต์ ยางสำหรับรถบัสหรือรถบรรทุก ไฟเบอร์กลาส เฟอร์นิเจอร์ไม้ และข้อต่อท่อทำด้วยเหล็กหรือเหล็กกล้า เป็นต้น
“ผู้ส่งออกไทยจำเป็นต้องให้ความสำคัญกับหลักเกณฑ์ถิ่นกำเนิดสินค้าที่ประเทศนำเข้าปลายทาง เช่น สหรัฐฯ หรือสหภาพยุโรปกำหนด โดยตรวจสอบว่าสินค้าที่จะส่งออกนี้ มีกระบวนการผลิตที่ได้ตามถิ่นกำเนิด มิใช่นำเข้าสินค้ามาเพื่อแอบอ้างเป็นถิ่นกำเนิดไทยเพื่อหลบเลี่ยงมาตรการทางการค้าที่ประเทศนำเข้ากำหนด เนื่องจากกรมฯ กังวลว่าหากถูกประเทศปลายทางขอตรวจสอบย้อนหลัง
และพบว่าสินค้าผลิตไม่ถูกต้องตามกฎถิ่นกำเนิดที่ประเทศปลายทางกำหนด จะส่งผลให้ผู้ส่งออกถูกเรียกเก็บอากรเพิ่มจากประเทศปลายทาง และไทยอาจถูกมองว่าเป็นฐานในการแอบอ้างถิ่นกำเนิดสินค้าได้ ดังนั้น ผู้ส่งออกควรตรวจสอบว่าสินค้าที่จะส่งออกมีการผลิตถูกต้องตามกฎถิ่นกำเนิดที่ประเทศปลายทางกำหนดหรือไม่ เพื่อป้องกันผลเสียหายดังกล่าวที่อาจเกิดขึ้นได้ในอนาคต”
ทั้งนี้กรมฯ ได้เฝ้าระวังสินค้าที่อาจแอบอ้างไทยเป็นถิ่นกำเนิด โดยใช้ฐานข้อมูลระบบตรวจพิสูจน์ถิ่นกำเนิดสินค้าและติดตามสถานการณ์การนำเข้าเพื่อตรวจสอบสถิติการนำเข้า-ส่งออก รายการสินค้าที่สหรัฐฯ และสหภาพยุโรปใช้มาตรการทางการค้าต่อประเทศอื่นๆ เช่น จีน เพื่อวิเคราะห์ติดตามว่า ไทยนำเข้าสินค้าดังกล่าวจากจีนและส่งออกไปสหรัฐฯ หรือสหภาพยุโรปในปริมาณใกล้เคียงกันหรือไม่ นอกจากนี้ กรมฯ ได้ให้ความร่วมมือและประสานใกล้ชิดกับหน่วยงาน CBP และหน่วยงาน OLAF เพื่อตรวจสอบโรงงานและพิจารณาว่าเป็นสินค้าที่ผลิตได้สอดคล้องกับหลักเกณฑ์ถิ่นกำเนิดสินค้าหรือไม่