กรมทรัพย์สินฯ เดินหน้าป้องงานลิขสิทธิ์  “ราหูอมจันทร์” ของศิลปินไทย

01 มิ.ย. 2565 | 02:15 น.
อัปเดตล่าสุด :01 มิ.ย. 2565 | 09:22 น.

กรมทรัพย์สินทางปัญญา เดินหน้าปกป้องงานลิขสิทธิ์ “ราหูอมจันทร์” ของศิลปินไทยยุติปัญหาการละเมิดลิขสิทธิ์ในกัมพูชา

จากกรณีห้องเสื้อในกัมพูชานำผลงานการออกแบบลายไทย "ราหูอมจันทร์" ของนายฐิติ เกตุธรรม ศิลปินคนไทย ไปใช้บนชุดผู้เข้าประกวด Miss Universe 2022 ของกัมพูชา โดยไม่ได้รับอนุญาต ล่าสุด กรมทรัพย์สินทางปัญญาเข้าช่วยเหลือและรวบรวมหลักฐาน พร้อมติดต่อกรมลิขสิทธิ์ฯ กระทรวงวัฒนธรรมและศิลปกรรม ประเทศกัมพูชาแล้ว 

กรมทรัพย์สินฯ เดินหน้าป้องงานลิขสิทธิ์   “ราหูอมจันทร์” ของศิลปินไทย

นายวุฒิไกร ลีวีระพันธุ์ อธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญา เปิดเผยว่า กรมทรัพย์สินทางปัญญาพร้อมเดินหน้าทำงานเชิงรุกช่วยเหลือผู้ประกอบการไทยที่ถูกละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาในต่างประเทศ  

นายวุฒิไกร ลีวีระพันธุ์ อธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญา

 

 

 โดยทันทีที่ทราบกรณีดังกล่าว กรมทรัพย์สินทางปัญญาได้เร่งตรวจสอบและติดต่อเจ้าของผลงาน "ราหูอมจันทร์" พบว่ามีหลักฐานต้นฉบับการออกแบบของศิลปินคนไทย จึงเป็นผลงานลิขสิทธิ์ที่ได้รับการคุ้มครองตามกฎหมายทันทีที่ได้สร้างสรรค์

กรมทรัพย์สินฯ เดินหน้าป้องงานลิขสิทธิ์   “ราหูอมจันทร์” ของศิลปินไทย

ล่าสุด กรมทรัพย์สินทางปัญญาได้แจ้งกรมลิขสิทธิ์และสิทธิข้างเคียง (Department of Copyright and Related Rights) กระทรวงวัฒนธรรมและศิลปกรรม ประเทศกัมพูชา และส่งหลักฐานที่แสดงถึงการสร้างสรรค์ผลงานของศิลปินคนไทย พร้อมแสดงข้อกังวลเกี่ยวกับการกระทำของห้องเสื้อกัมพูชาที่นำผลงานของศิลปินคนไทยไปใช้บนชุดผู้เข้าประกวด Miss Universe ของกัมพูชา ซึ่งถือเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์และสร้างความเสียหายให้กับผู้สร้างสรรค์ชาวไทย โดยได้เรียกร้องให้ฝ่ายกัมพูชายุติการกระทำที่เข้าข่ายละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาดังกล่าว ทั้งนี้ กรมฯ จะติดตามความคืบหน้าอย่างใกล้ชิด เพื่อสร้างความมั่นใจว่าทรัพย์สินทางปัญญาของคนไทยจะได้รับการปกป้องคุ้มครองอย่างเหมาะสม และระงับความเสียหายให้ได้อย่างทันท่วงที

กรมทรัพย์สินฯ เดินหน้าป้องงานลิขสิทธิ์   “ราหูอมจันทร์” ของศิลปินไทย

ทั้งนี้ การสร้างเครือข่ายความร่วมมือกับสำนักงานทรัพย์สินทางปัญญาต่างประเทศ นับเป็นภารกิจสำคัญของกรมทรัพย์สินทางปัญญา เพื่อแสวงหาความร่วมมือและสร้างแนวร่วมในการให้ความช่วยเหลือและแก้ปัญหากรณีคนไทยถูกละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาในต่างประเทศได้อย่างรวดเร็ว นอกจากนี้ กรมฯ ยังมีงานบริการประชาชนที่หลากหลายและมีความจำเป็นต่อการประกอบธุรกิจในยุคปัจจุบัน คือ ศูนย์ให้คำปรึกษาด้านทรัพย์สินทางปัญญา (IPAC) ซึ่งพร้อมให้คำแนะนำแก่ผู้ประกอบการในทุกมิติอย่างครบวงจร ระบบโชว์รูมลิขสิทธิ์ออนไลน์ (Copyright Publish) ซึ่งเป็นช่องทางสร้างรายได้จากงานลิขสิทธิ์ให้แก่เจ้าของสิทธิ และบริการไกล่เกลี่ยข้อพิพาทด้านทรัพย์สินทางปัญญาออนไลน์ ซึ่งเป็นทางเลือกในการยุติข้อขัดแย้งโดยไม่ต้องผ่านกระบวนการศาล เป็นต้น โดยสามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ สายด่วนกรมทรัพย์สินทางปัญญา โทร.1368