นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าฯ กทม. กล่าวถึงความคืบหน้าการต่อสัญญาสัปทานรถไฟฟ้าสายสีเขียว ว่า ในวันพรุ่งนี้กทม.ได้เชิญบริษัทกรุงเทพธนาคม จำกัด หารือถึงรายละเอียดเกี่ยวกับสัญญาสัมปทานฯ โดยการแก้ไขสัญญาสัมปทานในครั้งนี้ ไม่มีทางที่กทม.จะรอให้หมดสัญญาสัมปทานแล้วค่อยดำเนินการ แต่เราต้องเริ่มคิดเรื่องการแก้ไขปัญหาสัญญาสัมปทานตั้งแต่ตอนนี้ ซึ่งจะต้องเตรียมบุคลากรต่างๆ ที่เข้ามาช่วยเหลือเพราะสัญญาสัมปทานจะสิ้นสุดในปี 2572
ส่วนภาระหนี้ที่รับโอนมาจากการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) จำนวน 5-6 หมื่นล้านบาท จะต้องดูว่าการรับโอนหนี้ในครั้งนี้ถูกต้องหรือไม่ เพราะยังต้องกลับไปดูรายละเอียดหนี้ในส่วนของโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว ช่วงสมุทรปราการ-หมอชิต-คูคต ว่าสภา กทม.รับโอนหนี้ไปแล้วหรือยัง รวมทั้งกระบวนการรับโอนหนี้ กระบวนการจ้างเดินรถ ที่อยู่ระหว่างตรวจสอบรายละเอียดของสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.)
"การต่อสัญญาสัมปทานฯ ออกไปถึงปี 2602 ซึ่งเป็นการต่อสัญญาสัมปทานที่มีการใช้มาตรา 44 ที่ไม่เข้าข่าย พ.ร.บ.ร่วมลงทุน ซึ่งเราก็ยังสงสัยว่าอัตราค่าโดยสาร 65 บาทตลอดสาย ทำได้จริงหรือไม่ ใครเป็นคนคิด เพราะไม่ได้เกิดการแข่งขันของภาคเอกชน มองว่าเรื่องนี้ไม่ได้เป็นเรื่องซับซ้อนเพราะว่าเราไม่ได้เป็นคนทำ แค่มาดูว่าเรื่องราวเป็นอย่างไร และเล่าให้ประชาชนฟัง เพื่อคิดหาทางออก"
นายชัชชาติ กล่าวต่อว่า สำหรับอัตราค่าโดยสารรถไฟฟ้าสายสีเขียว หลังจากนี้ จะต้องมีการคุยรายละเอียดร่วมกับภาคส่วนที่เกี่ยวข้องอีกครั้ง ว่าเป็นอย่างไร แต่นโยบายของเรามองว่า 8 สถานี อยู่ที่ 30 บาท ดูสมเหตุสมผลมากกว่า การคิดอัตราค่าโดยสาร 65 บาทตลอดสาย ซึ่งเป็นการคิดจากสถานีต้นทางถึงสถานีปลายทาง
ขณะที่ การฟ้องร้องทวงหนี้ค่าจ้างเดินรถ และหนี้ค่างานระบบรถไฟฟ้าของเอกชน จำนวน 40,000 ล้านบาท นั้น ไม่ต้องกังวล แต่ถ้าจำเป็นอาจจะต้องมีการออกตราสารหนี้ (Bond) อย่าเอาเรื่องหนี้มาเป็นตัวกดดันให้ประชาชนต้องแบกรับค่าโดยสาร 65 บาท ในระยะยาว เพราะการแก้หนี้ด้วยวิธีนี้ไม่สมเหตุสมผล
"วิธีการแก้หนี้มีหลายวิธี จริงๆ กทม.มีการออกข้อบัญญัติในการกู้เงินมาใช้แล้ว อย่าเอาเรื่องนี้เป็นเงื่อนไข หากบอกว่ามีหนี้เยอะและไม่ต้องสัญญสัมปทาน เราว่ามันเป็นคนละเรื่องกัน ถ้าเราคิดรวมกัน เราจะสับสน เพราะฉะนั้นจะต้องแยกเรื่องหนี้กับสัมปทานออกจากกัน"