สางปมรถไฟฟ้าสายสีเขียว ผู้ว่ากทม.ใหม่ จ่อเจอด่านหิน  วิษณุย้ำต้องผ่านครม.

28 พ.ค. 2565 | 03:29 น.
อัปเดตล่าสุด :28 พ.ค. 2565 | 10:42 น.

สางปมรถไฟฟ้าสายสีเขียว จ่อเจอด่านหิน วิษณุ ชี้รอความเห็นจากชัชชาติ ผู้ว่าฯ กทม.คนใหม่ ต้องผ่านครม. แถมมีสิทธิ์เห็นต่าง กทม.หากชาติต้องเสียเงินมหาศาล

 

ปมปัญหา สัญญาร่วมลงทุนโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวของกรุงเทพมหานคร (กทม.) เพื่อขยายสัญญาสัมปทานให้กับ บมจ.ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ (BTSC) นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ระบุว่า เรื่องดังกล่าวยังอยู่ที่เลขาธิการคณะรัฐมนตรี (ครม.)  

 

 

ล่าสุดมีกระแสจาก นายชัชชาติ สิทธิ พันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร คนใหม่ ที่ต้องการเข้ามาตรวจสอบข้อสัญญา  และต้องการให้การต่อสัญญาเป็นไปตามกระบวนการของพระราชบัญญัติ(พ.ร.บ.) ร่วมลงทุนฯ ซึ่งทาง ครม.จะสอบถามไปยังผู้ว่าฯ กทม.คนใหม่ก่อน

 

 

 

 

 

อย่างไรก็ตาม ในทางกลับกัน  การแก้ปัญหารถไฟฟ้าสายสีเขียวแนวทางใหม่ต้องมาจาก กทม. และเสนอต่อ กระทรวงมหาดไทยในฐานะผู้กำกับดูแล  ทั้งนี้ตามขั้นตอนหาก กทม.จะดำเนินการเองยอมรับว่า สามารถทำได้ แต่กระทรวงมหาดไทยต้องเป็นผู้นำเสนอ ครม.เพื่อออกมติครม. ตามคำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.)

 

อย่างไรก็ตาม นายวิษณุอธิบายว่า" ครม.มีสิทธิเห็นต่างไปจาก กทม.ได้แม้กทม.มีอำนาจแก้ไขปรับเปลี่ยน แต่ต้องผ่านกระทรวงมหาดไทย เพื่อเป็นไปรษณีย์ส่งต่อเข้า ครม.ให้และให้ ครม.พิจารณา ซึ่งไม่ต้องเห็นชอบตาม กทม.ได้ เพราะถึงเวลาอาจต้องเสียเงินเสียทอง ใช้งบประมาณแผ่นดิน ครม.มีสิทธิที่จะคิดเช่นเดียวกัน"

 

 

นายวิษณุ กล่าวว่า เรื่องรถไฟฟ้าสายสีเขียวไม่มีกำหนดระยะเวลาว่าต้องดำเนินการภายในเมื่อไหร่ แต่หากเกิดอุบัติเหตุทางการเมือง เรื่องนี้อาจไปเดือดร้อนกับภาคเอกชนที่ไม่ทราบแนวทางว่าจะดำเนินการอย่างไรต่อไป และรัฐบาลใหม่ที่เข้ามาต้องทำตามคำสั่ง คสช. เพราะคำสั่ง คสช.มีผลผูกพัน เพราะเป็นกฏหมายที่ถูกกำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญ

ส่วนจำเป็นต้องไปเริ่มนับหนึ่งกระบวนการพิจารณาใหม่หรือไม่ นายวิษณุ กล่าวว่า อย่าเพิ่งไปพูดอย่างนั้น แต่ต้องดูว่า กทม.จะเอาอย่างไร ถึงจะตอบได้ว่า ต้องไปเริ่มนับหนึ่งใหม่หรือไม่ ก็ต้องให้เวลา กทม.พิจารณา เพราะเขาอาจไม่เคยทำการบ้านเรื่องนี้มาก่อน

 

 

ส่วนกรณีที่นายชัชชาติ ผู้ว่าฯ กทม. คนใหม่ ระบุว่า รถไฟฟ้าสายสีเขียว ต้องเข้า พ.ร.บ.ร่วมทุนนั้น นายวิษณุ กล่าวว่าแล้วแต่ผู้ว่าฯ กทม. ซึ่งการเจรจาไปก่อนหน้านี้ตามคำสั่ง ครม.ก็ต้องยกเลิก ซึ่ง ครม.ก็เคยคิดเรื่องนี้ หรือแม้แต่พรรคภูมิใจไทยก็อยากให้ใช้ พ.ร.บ.ร่วมทุน