แหล่งข่าวจากการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) เปิดเผยว่า ขณะนี้บริษัทที่ปรึกษาฯ ที่ได้ดำเนินการศึกษา สำรวจ ออกแบบรายละเอียด และจัดทำรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) ในโครงการ เพื่อเตรียมก่อสร้างทางรถไฟสายแม่สอด-ตาก-กำแพงเพชร-นครสวรรค์ ระยะทางประมาณ 250 กิโลเมตร เสร็จเรียบร้อย และได้เสนอรายงานการศึกษาฯ ฉบับสมบูรณ์ ให้การรถไฟแห่งประเทศไทย(รฟท.) เพื่อพิจารณาแล้ว
โครงการนี้ถือเป็นรถไฟทางคู่สายใหม่ ที่จะทำให้เส้นทางรถไฟเชื่อมระเบียงเศรษฐกิจ แนวตะวันออก-ตะวันตก (East-West Economic Corridor: EWEC) เชื่อมโยงจากพรมแดนด้านตะวันตกที่แม่สอด จ.ตาก กับพรมแดนด้านตะวันออกที่ จ.นครพนม มีโครงข่ายสมบูรณ์มากขึ้น โดยจะเชื่อมต่อกับรถไฟทางคู่ช่วงนครสวรรค์-บ้านไผ่ จ.ขอนแก่น และช่วงบ้านไผ่-นครพนม
โครงข่ายเส้นทางดังกล่าว จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพให้การขนส่งสินค้าและการสัญจรของไทย เชื่อมโยงกับประเทศเพื่อนบ้าน ได้แก่ สหภาพเมียนมา สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (สปป.ลาว) เวียดนาม และกัมพูชา ให้สะดวกมากยิ่งขึ้น
แหล่งข่าวเผยด้วยว่า ขั้น ตอนต่อจากนี้ หากคณะกรรมการ (บอร์ด) รฟท. พิจารณาให้ความเห็นชอบรายงานฯฉบับนี้ แล้ว คาดจะเสนอกระทรวงคมนาคม และคณะรัฐมนตรี เพื่อพิจารณาตามลำดับในเร็ว ๆ นี้
สำหรับผลการศึกษาสรุปได้ว่า การพัฒนาโครงการรถไฟทางคู่ เส้นทางนครสวรรค์-กำแพงเพชร-ตาก-แม่สอด มีความคุ้มค่า และเหมาะสมทางเศรษฐศาสตร์ มีอัตราผลตอบ แทนด้านเศรษฐกิจ (EIRR) 13.47% ควรได้รับการพัฒนาตลอดทั้งเส้นทางในคราวเดียวกัน
โดยมีวงเงินลงทุนรวม 1.08 แสนล้านบาท แบ่งเป็น ค่าก่อสร้าง 1.01 แสนล้านบาท ค่าจัดกรรมสิทธิ์ที่ดิน 3.89 พันล้านบาท และค่าบริการที่ปรึกษา 2.68 พันล้านบาท แนวเส้นทาง รถไฟ เริ่มต้นที่สถานีบึงเสนาท อ.เมืองนครสวรรค์ จ.นครสวรรค์ และสิ้นสุดที่สถานีด่านแม่สอด อ.แม่สอด จ.ตาก มีสถานีรวม 27 แห่ง
แหล่งข่าวแจ้งว่า ในเบื้องต้นการก่อสร้างแบ่งเป็น 3 สัญญา สัญญาที่ 1 ช่วงปากนํ้าโพ (นครสวรรค์)-กำแพงเพชร กม.0+000 ถึง กม.183+000 ระยะทาง 183 กิโลเมตร มี 23 สถานี ค่าก่อสร้าง 3.69 หมื่นล้านบาท ค่าจัดกรรมสิทธิ์ที่ดิน 2.66 พันล้านบาท เป็นทางระดับพื้น 178.6 กิโลเมตร ทางยกระดับ 5.8 กิโลเมตร สะพาน 264 แห่ง และทางยกระดับข้ามทางรถไฟ (Overpass) อีก 6 แห่ง
สัญญาที่ 2 ช่วงกำแพง เพชร-ตาก กม.183+000 ถึง กม.217+025 ระยะทาง 34 กิโลเมตร มีสถานี 1 แห่ง ค่าก่อสร้าง 3.37 หมื่นล้านบาท ค่าจัดกรรมสิทธิ์ที่ดิน 254 ล้านบาท เป็นทางระดับพื้น 8 กิโลเมตร ทางยกระดับ 10.5 กิโลเมตร และอุโมงค์ 1 แห่ง (15.5 กิโลเมตร)
สัญญาที่ 3 ช่วงตาก-แม่สอด กม.217+025 ถึง กม.250+020 ระยะทาง 33 กิโลเมตร มีสถานี 3 แห่ง ค่าก่อสร้าง 3.12 หมื่นล้านบาท ค่าจัดกรรมสิทธิ์ที่ดิน 975 ล้านบาท เป็นทางระดับพื้น 9.7 กิโลเมตร ทางยกระดับ 10.1 กิโลเมตร อุโมงค์ 3 แห่ง (14.2 กิโลเมตร) สะพาน 1 แห่ง Overpass 1 แห่ง และศูนย์ซ่อมบำรุงเบา (Light Maintenance) 1 แห่ง
คาดว่าจะเริ่มจัดทำรายละเอียดเงื่อนไขการประกวด ราคา (TOR) ราคากลาง และเปิดประมูลได้ภายในปี 2566 เริ่มก่อสร้างในช่วงต้นปี 2567 แล้วเสร็จปลายปี 2572 และเปิดให้บริการปี 2573
สำหรับจังหวัดตากนั้น มีความสำคัญเป็นประตูหน้าด่านการค้าชายแดนไทย-เมียนมา ด้านพรมแดนตะวันตก เป็นประตูเชื่อมโยงประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน(AEC) บนระเบียงเศรษฐกิจ แนวตะวันออก-ตะวันตก ด้านบน (East-West Economic Corridor: EWEC) หรือเส้นทางหมายเลข 9 (R9) เป็นเมืองชายแดนติดกับประเทศเมียนมา และเป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษของประเทศ ครอบคลุมพื้นที่ 3 อำเภอ คือ อ.แม่สอด อ.แม่ระมาด และ อ.พบพระ
นอกจากนั้น อ.แม่สอด ยังเป็นเมืองหน้าด่านที่มีชายแดนติดกับประเทศเมียนมา ซึ่งเป็นประตูการค้าชายแดนที่สำคัญของประเทศ เป็นประตูสู่ฝั่งทะเลอันดามัน โดยเฉพาะประเทศไทยได้ส่งออกสินค้าไปยังประเทศเมียนมา ปีที่ผ่านมามูลค่าการค้าชายแดนเกินกว่า 100,000 ล้านบาท และคาดว่าปี 2565 นี้ ปริมาณการค้าจะเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง
อัศวิน พินิจวงษ์ /รายงาน
หน้า 8 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 42 ฉบับที่ 3,789 วันที่ 5-8 มิถุนายน พ.ศ.2565