รถไฟฟ้าลอดใต้เจ้าพระยาเจาะอุโมงค์เหมือนกัน ทำไมคะแนนเทคนิคต่างกัน ?

04 มิ.ย. 2565 | 03:36 น.
อัปเดตล่าสุด :04 มิ.ย. 2565 | 10:54 น.

รถไฟฟ้าลอดใต้เจ้าพระยาเจาะอุโมงค์เหมือนกัน แต่ทำไมคะแนนเทคนิคต่างกัน ?ดร.สามารถถ ราชพลสิทธิ์ ตั้งข้อสังเกตเทียบรถไฟฟ้า เจาะอุโมงค์ลอดใต้เจ้าพระยา สายสีน้ำเงิน -ส้ม -ม่วงใต้

 

เกณฑ์ทีโออาร์รถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์-มีนบุรี  ยังคงเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์ในวงกว้างว่าเหตุใดการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย(รฟม.)จึงกำหนดคะแนนเทคนิคแตกต่างกันทั้งที่ รูปแบบการก่อสร้างโครงการไม่แตกต่างกัน

 

 

ต่อเรื่องนี้ ดร.สามารถ ราชพลสิทธิ์ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ตั้งข้อสังเกตผ่านเฟซบุ๊กว่าเวลานี้ รฟม. กำลังเปิดประมูลหาเอกชนมาร่วมลงทุนก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีส้มตะวันตก (บางขุนนนท์-ศูนย์วัฒนธรรมฯ) และเดินรถตลอดสายทั้งช่วงตะวันตกและตะวันออก (บางขุนนนท์-ศูนย์วัฒนธรรมฯ-มีนบุรี)

 

การก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีส้มตะวันตกจะต้องขุดเจาะอุโมงค์ลอดใต้เจ้าพระยาเหมือนกับรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินส่วนต่อขยายและสายสีม่วงใต้ แต่ทำไม รฟม. จึงกำหนดคะแนนด้านเทคนิคสูงกว่า ?

 

1. เกณฑ์ประมูลรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินส่วนต่อขยาย

 

รถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินส่วนต่อขยาย (สนามไชย-ท่าพระ) เป็นรถไฟฟ้าสายแรกที่ลอดใต้แม่น้ำเจ้าพระยา การประมูลรถไฟฟ้าสายนี้ในปี 2559 การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) กำหนดให้ผู้ยื่นข้อเสนอจะต้องได้คะแนนด้านเทคนิคไม่น้อยกว่า 70% จึงจะได้รับการพิจารณาข้อเสนอด้านราคา ใครเสนอราคาต่ำสุดก็จะชนะการประมูล

 

 

ปรากฏว่าผู้รับเหมาที่ชนะการประมูลไม่เคยมีประสบการณ์ในการขุดเจาะอุโมงค์ในพื้นที่เกาะรัตนโกสินทร์มาก่อน เพิ่งมีโอกาสจากโครงการนี้เป็นครั้งแรก แต่ก็สามารถทำการก่อสร้างจนสำเร็จลุล่วงเป็นไปตามความต้องการของ รฟม. และได้เปิดใช้ในปี 2562 ชี้ให้เห็นว่าการกำหนดคะแนนผ่านเกณฑ์ด้านเทคนิคไม่น้อยกว่า 70% เป็นระดับคะแนนที่เหมาะสมแล้ว

 

 

2. เกณฑ์ประมูลรถไฟฟ้าสายสีม่วงใต้

 

 

รฟม. เปิดประมูลรถไฟฟ้าสายสีม่วงใต้ (เตาปูน-ราษฎร์บูรณะ) ครั้งที่ 2 เมื่อปลายปี 2564 หลังล้มประมูลครั้งที่ 1 เมื่อปลายเดือนสิงหาคม 2564 รถไฟฟ้าสายนี้มีเส้นทางที่จะต้องขุดเจาะอุโมงค์ใต้เกาะรัตนโกสินทร์และใต้แม่น้ำเจ้าพระยาเช่นเดียวกับรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินส่วนต่อขยาย

 

 

รฟม. กำหนดให้ผู้ยื่นข้อเสนอจะต้องได้คะแนนด้านเทคนิคในแต่ละหัวข้อไม่น้อยกว่า 80% และจะต้องได้คะแนนด้านเทคนิครวมทุกหัวข้อไม่น้อยกว่า 85% จึงจะได้รับการพิจารณาข้อเสนอด้านราคา ใครเสนอราคาต่ำสุดก็จะชนะการประมูล

 

 

ขณะนี้ รฟม. ได้ประมูลหาผู้รับเหมาเสร็จเรียบร้อยแล้ว และได้ลงนามสัญญากับผู้รับเหมาแล้วด้วย

 

 

3. เกณฑ์ประมูลรถไฟฟ้าสายสีส้มตะวันตก

 

3.1 ประมูลครั้งที่ 1

 

ในเดือนกรกฎาคม 2563 รฟม. ได้เปิดประมูลหาผู้ร่วมลงทุนก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีส้มตะวันตก (บางขุนนนท์-ศูนย์วัฒนธรรมฯ) ซึ่งต้องขุดเจาะอุโมงค์ใต้เกาะรัตนโกสินทร์และใต้แม่น้ำเจ้าพระยาเช่นเดียวกับรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินส่วนต่อขยายและสายสีม่วงใต้ และต้องให้บริการเดินรถตลอดสายทั้งช่วงตะวันตกและตะวันออก (บางขุนนนท์-ศูนย์วัฒนธรรมฯ-มีนบุรี)

 

 

รฟม. กำหนดให้ผู้ยื่นข้อเสนอจะต้องได้คะแนนด้านเทคนิคในแต่ละหัวข้อไม่น้อยกว่า 80% และจะต้องได้คะแนนด้านเทคนิครวมทุกหัวข้อไม่น้อยกว่า 85% จึงจะได้รับการพิจารณาข้อเสนอด้านผลตอบแทน ใครเสนอผลตอบแทนสุทธิ (ผลตอบแทนที่จะให้ รฟม. - เงินสนับสนุนที่ขอรับจาก รฟม.) สูงสุดก็จะชนะการประมูล

 

แต่ก่อนถึงวันยื่นข้อเสนอ รฟม. ได้เปลี่ยนเกณฑ์ประมูล ทำให้ถูกฟ้อง ในที่สุด รฟม. ได้ล้มประมูลเมื่อวันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2564

 

3.2 ประมูลครั้งที่ 2

รถไฟฟ้าลอดใต้เจ้าพระยาเจาะอุโมงค์เหมือนกัน ทำไมคะแนนเทคนิคต่างกัน ?

ขณะนี้ รฟม. กำลังเปิดประมูลครั้งที่ 2 โดยใช้เกณฑ์ประมูลเหมือนกับครั้งที่ 1 แต่ได้ปรับเพิ่มคะแนนผ่านเกณฑ์เทคนิค ดังนี้

  • คะแนนด้านเทคนิคในแต่ละหัวข้อจะต้องได้ไม่น้อยกว่า 85% โดยได้ปรับเพิ่มขึ้นจากการประมูลครั้งที่ 1 ที่กำหนดไว้ไม่น้อยกว่า 80% และ
  • คะแนนด้านเทคนิครวมทุกหัวข้อจะต้องได้ไม่น้อยกว่า 90% โดยได้ปรับเพิ่มขึ้นจากการประมูลครั้งที่ 1 ที่กำหนดไว้ไม่น้อยกว่า 85%

 

 

เมื่อเปรียบเทียบคะแนนผ่านเกณฑ์เทคนิคในการประมูลรถไฟฟ้าสายสีส้มตะวันตกครั้งที่ 2 กับการประมูลรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินส่วนต่อขยายและสายสีม่วงใต้ พบว่าคะแนนผ่านเกณฑ์เทคนิคในการประมูลรถไฟฟ้าสายสีส้มตะวันตกครั้งที่ 2

 

สูงกว่าคะแนนผ่านเกณฑ์เทคนิคในการประมูลรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินส่วนต่อขยายถึง 20% และสูงกว่าสายสีม่วงใต้ 5% ทั้งๆ ที่ใช้เทคนิคขุดเจาะอุโมงค์ใต้เกาะรัตนโกสินทร์และใต้แม่น้ำเจ้าพระยาเหมือนกัน จึงน่าคิดว่าทำไม รฟม. จึงกำหนดไว้เช่นนั้น ?

 

4. ผลกระทบจากคะแนนด้านเทคนิคในการประมูลรถไฟฟ้าสายสีส้มตะวันตกครั้งที่ 2

 

 

การปรับเพิ่มคะแนนด้านเทคนิคในการประมูลรถไฟฟ้าสายสีส้มตะวันตกครั้งที่ 2 จะทำให้ผู้ยื่นข้อเสนอผ่านเกณฑ์เทคนิคยากขึ้น เป็นผลให้เหลือผู้ยื่นข้อเสนอที่จะได้รับการพิจารณาข้อเสนอด้านผลตอบแทนน้อยราย

 

ด้วยเหตุนี้ จะทำให้การแข่งขันในการเสนอผลตอบแทนให้ รฟม. ลดลง พูดได้ว่าผู้ยื่นข้อเสนอไม่มีความจำเป็นที่จะต้องเสนอผลตอบแทนให้ รฟม. สูง เนื่องจากมีคู่แข่งน้อยนั่นเอง รฟม. ก็จะไม่ได้รับผลตอบแทนสูงสุดที่ควรจะได้

5. สรุป

เทคโนโลยีในการขุดเจาะอุโมงค์ใต้เกาะรัตนโกสินทร์และใต้แม่น้ำเจ้าพระยาสำหรับการก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีส้มตะวันตกไม่ได้มีความพิเศษสลับซับซ้อนถึงขนาดต้องกำหนดคะแนนด้านเทคนิคให้สูงกว่าการประมูลรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินส่วนต่อขยายและสายสีม่วงใต้

ทั้งนี้ ประเด็นสำคัญที่อยากให้ทุกคนได้รับรู้ก็คือ การขุดเจาะอุโมงค์ลอดใต้แม่น้ำเจ้าพระยา ไม่ใช่เป็นการขุดเจาะในแม่น้ำ แต่เป็นการขุดเจาะในดินใต้ท้องน้ำประมาณ 10 เมตร หรือใต้ผิวน้ำประมาณ 30 เมตร

ด้วยเหตุนี้ รฟม. จึงไม่จำเป็นต้องปรับคะแนนด้านเทคนิคเพิ่มขึ้น ซึ่งจะทำให้มีผู้ยื่นข้อเสนอที่ผ่านเกณฑ์เทคนิคได้มากขึ้น เป็นผลให้มีการแข่งขันในการเสนอผลตอบแทนให้ รฟม. สูงขึ้น รฟม. ก็จะได้รับผลตอบแทนมากขึ้นด้วย

ที่สำคัญ การเพิ่มคะแนนผ่านเกณฑ์เทคนิคอาจทำให้ รฟม. ถูกกล่าวหาได้ว่าต้องการสกัดผู้ยื่นข้อเสนอรายใดรายหนึ่งไม่ให้ผ่านเกณฑ์เทคนิคหรือไม่ ?

ทั้งหมดนี้ เพื่อรักษาผลประโยชน์สูงสุดของ รฟม. หรือประเทศชาติโดยส่วนรวม

หมายเหตุ : ข้อสงสัยดังกล่าวข้างต้นจึงเป็นข้อกังขาที่ผมและประชาชนทุกคนชอบที่จะต้องขอคำชี้แจงให้สิ้นสงสัยจากหน่วยงานที่รับผิดชอบโดยตรง ทั้งนี้ก็เพื่อปกป้องผลประโยชน์ของประเทศชาติและประชาชน ด้วยเจตนาที่จะให้ประชาชนได้รับประโยชน์จากโครงการนี้อย่างเต็มที่ โดยปราศจากข้อสงสัยใดๆ ทั้งสิ้นเท่านั้นเอง