นายเจย์ ไพรเออร์ รองประธานฝ่ายพัฒนาธุรกิจ บริษัท เชฟรอน คอร์ปอเรชั่น สหรัฐอเมริกา เปิดเผยว่า บริษัท เชฟรอน นิวส์ เอเนอร์จี ซึ่งเป็นบริษัทย่อยของเชฟรอนฯได้ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือพันธมิตรกับบริษัท พีที เปอร์ตามินา (Persero) บริษัทด้านพลังงานของอินโดนีเซีย เพื่อเดินหน้าแสวงหาโอกาสลดคาร์บอนอย่างต่อเนื่อง ผ่านความร่วมมือและการเป็นพันธมิตรระหว่างเชฟรอน ธุรกิจพลังงานของอินโดนีเซีย และหน่วยงานภาครัฐหลากหลายฝ่าย ซึ่งทุกฝ่ายมีผลประโยชน์ร่วมกันในการพลิกโฉมพลังงานของอินโดนีเซียให้ก้าวหน้ายิ่งขึ้น
ทั้งนี้ 2 บริษัทได้วางแผนพิจารณานำเทคโนโลยีหลากหลายมาใช้ ไม่ว่าจะเป็น เทคโนโลยีพลังงานความร้อนใต้พิภพรูปแบบใหม่ การชดเชยคาร์บอน (Carbon Offsets) ผ่านกรรมวิธีทางธรรมชาติ เทคโนโลยีการดักจับ การใช้ประโยชน์ และการกักเก็บคาร์บอน (Carbon Capture, Utilization and Storage : CCUS) รวมถึงการพัฒนาพลังงานไฮโดรเจน การผลิต การกักเก็บ และการขนส่งที่ลดการปล่อยก๊าซคาร์บอน โดยตั้งเป้าให้บริการแก่ลูกค้าในประเทศและภูมิภาคในอนาคต
นายเจฟฟ์ กุสตาฟสัน ประธานบริษัท เชฟรอน นิวส์ เอเนอร์จี กล่าวว่า เชฟรอนฯ ตั้งใจที่จะจัดหาพลังงานที่สะอาดยิ่งขึ้นและวางใจได้ในราคาที่เอื้อมถึง พร้อมทั้งเป็นส่วนสำคัญในการสนับสนุนธุรกิจและลูกค้าของเชฟรอนฯในการลดคาร์บอนให้ได้มากที่สุด ผ่านภารกิจในประเทศอินโดนีเซียที่กำลังจะเกิดขึ้น รวมถึงในธุรกิจของเชฟรอนฯในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกนี้
การผนึกกำลังร่วมกันระหว่างเชฟรอนและเปอร์ตามินา ถือเป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญในการร่วมผลักดันเป้าหมายของรัฐบาลอินโดนีเซียในการลดการปล่อยคาร์บอนให้เหลือศูนย์ภายในปี 2060 สอดคล้องกับพันธกิจของบริษัทเปอร์ตามินาที่มุ่งเป้าเพิ่มการใช้พลังงานหมุนเวียนจาก 9.2% ให้ได้ถึง 17.7 % ภายในปี 2030
นายนิกเก้ วิดยาวาติ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารของบริษัท พีที เปอร์ตามินา (Persero) กล่าวว่า ในฐานะรัฐวิสาหกิจด้านพลังงานที่ใหญ่ที่สุดของประเทศอินโดนีเซีย เปอร์ตามินา ยังคงมุ่งมั่นเร่งพัฒนาการเปลี่ยนผ่านรูปแบบพลังงานให้สอดคล้องกับเป้าหมายของรัฐบาล ซึ่งการผนึกกำลังในครั้งนี้เป็นหนึ่งในก้าวสำคัญสำหรับเปอร์ตามินา และเชฟรอน ที่ผสานความเชี่ยวชาญของทั้ง 2 บริษัทในการพัฒนาโครงการลดก๊าซคาร์บอน รวมถึงส่งเสริมให้เกิดการพึ่งพาพลังงานและความมั่นคงด้านพลังงานในประเทศ
ทั้งนี้ ประเทศอินโดนีเซีย เป็นประเทศที่มีพลังงานความร้อนใต้พิภพมากเป็นอันดับสอง โดยได้ดำเนินการขุดเจาะและนำพลังงานดังกล่าวมาใช้ตั้งแต่ปี 1974 ซึ่งบริษัทเปอร์ตามีนา ได้ก่อตั้งบริษัท Sub holding Power & NRE ที่มีศักยภาพในการผลิตพลังงานโดยใช้ความร้อนใต้พิภพรวมทั้งสิ้น 1,877 เมกะวัตต์ จากพื้นที่ 13 แหล่งของบริษัท ซึ่งมีกำลังการผลิตได้ 672 เมกะวัตต์ และอีก 1,205 เมกะวัตต์ ที่เป็นธุรกิจร่วมทุนกับบริษัทอื่นๆ ซึ่งในจำนวนกำลังการผลิตไฟฟ้า 672 เมกะวัตต์ มาจากพื้นที่สิบายัก 12 เมกะวัตต์ พื้นที่ลูมุต บาไล 55 เมกะวัตต์ พื้นที่อูลูเบลู 220 เมกะวัตต์ พื้นที่กาโมจัง 235 เมกะวัตต์ พื้นที่คาราฮา 30 เมกะวัตต์ และพื้นที่ลาเฮนดอง 120 เมกะวัตต์
นอกจาก โครงการพัฒนาพลังงานความร้อนใต้พิภพนั้น บริษัทเปอร์ตามีนา ยังนำร่องพัฒนากรีนไฮโดรเจน (Green Hydrogen) หรือไฮโดรเจนที่ผลิตจากพลังงานสะอาด ในพื้นที่อูลูเบลู โดยตั้งเป้าผลิตถึง 100 กิโลกรัมต่อวัน รวมถึงโครงการผลิตพลังงานจากน้ำเกลือเข้มข้นในพื้นที่ลาเฮนดอง ที่คาดว่าจะมีศักยภาพในการผลิตถึง 200 เมกะวัตต์ จากแหล่งพื้นที่ต่าง ๆ
นายนิกเก้ วิดยาวาติ กล่าวเพิ่มเติมว่า เปอร์ตามินา ยังได้พัฒนาเทคโนโลยีการดักจับ การใช้ประโยชน์ และการกักเก็บคาร์บอน (CCUS) ร่วมกับพันธมิตรมากมาย เพื่อเป็นแนวทางสำคัญของบริษัทที่มุ่งลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนใน 2 แหล่งก๊าชและน้ำมัน ณ พื้นที่กุนดิช์และสุโควาติ นอกจากนี้ บริษัท เปอร์ตามินา ยังอยู่ระหว่างการพิจารณานำเทคโนโลยี CCUS มาใช้ในเชิงพาณิชย์ในพื้นที่เกาะสุมาตราอีกด้วย
นายลูหุท บี.ปันไจตัน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงประสานงานกิจการทางทะเลและการลงทุน ประเทศอินโดนีเซีย กล่าวว่า ปัจจุบันรัฐบาลอินโดนีเซีย ได้ผนวกโรดแมปพัฒนาการเปลี่ยนผ่านรูปแบบพลังงานให้อยู่ในแผนพลังงานชาติ โดยได้ตั้งเป้าการใช้พลังงานหมุนเวียนถึง 23% ภายในปี 2025 ในขณะเดียวกัน ทางภาครัฐตระหนักถึงความสำคัญในการผนึกกำลังร่วมกับภาคส่วนต่างๆ เพื่อขับเคลื่อนสู่เป้าหมายการลดคาร์บอน
“การผลักดันการลดคาร์บอนให้เกิดขึ้นอย่างแท้จริงนั้น ไม่สามารถที่จะสำเร็จได้ด้วยความพยายามของหน่วยงานเพียงหน่วยงานเดียว ดังนั้นจึงมุ่งหวังให้บริษัทด้านพลังงานระดับโลกอย่างเปอร์ตามินาและเชฟรอน ช่วยส่งเสริมการลดการปล่อยก๊าซร่วมกันและขับเคลื่อนการเปลี่ยนผ่านรูปแบบพลังงานต่อไปในอนาคตตามเป้าหมายของรัฐบาลอินโดนีเซีย”
ขณะที่การดำเนินงานในประเทศไทย เชฟรอนฯ การลดปริมาณความเข้มข้นของการปล่อยคาร์บอนฯในกระบวนการปฏิบัติงานแหล่งปิโตรเลียม จะดำเนินงานใน 2 ส่วน ได้แก่ การลดการใช้พลังงานเชื้อเพลิงและเพิ่มประสิทธิภาพของอุปกรณ์เครื่องจักร โดยเปิดใช้งานตามความเป็นจริง สอดคล้องกับกำลังการผลิตปิโตรเลียม และพัฒนาเครื่องจักรอุปกรณ์ให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น รวมถึงการลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกโดยตรง จากการจัดการเผาทิ้งของก๊าซส่วนที่เหลือ จากระบวนการผลิต เป็นต้น