เกษตรกรโคนม ล่ารายชื่อรัฐบาลขอปรับราคาน้ำนมดิบใหม่

05 มิ.ย. 2565 | 09:42 น.
อัปเดตล่าสุด :05 มิ.ย. 2565 | 16:42 น.

เว็บไซต์ "change.org" เดือด เครือข่ายยุวเกษตรกรโคนมแห่งประเทศไทย ล่ารายชื่อ เพื่อขอปรับราคากลางน้ำนมดิบ “นมโรงเรียน” ใหม่ โอดต้นทุนสูงต่อเนื่อง พร้อมยื่นหนังสือถึงปลัดกระทรวงเกษตรกร หรือ ในฐาน ประธาน milkboard วันที่ 13 มิ.ย. นี้ เวลา 10 โมงเช้า

แหล่งข่าวเกษตรกรโคนม เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า ทางเครือข่ายยุวเกษตรกรโคนมแห่งประเทศไทย กำลังล่ารายชื่อผ่านเว็บไซต์ "change.org"  เกษตรกรโคนมไทยกำลัง...ร้องไห้ และไม่มีใครได้ยิน ราคารับซื้อน้ำนมดิบของเกษตรกรไทยไม่ได้มีการปรับให้สอดคล้องกับต้นทุนที่สูงขึ้นต่อเนื่อง มากกว่า 8 ปีแล้ว และขณะนี้มีเกษตรกรจำนวนมากไม่สามารถแบกรับภาระต้นทุนที่สูงขึ้นได้รวมไปถึงสถานการณ์โรคระบาด “โควิด- 19”

 

ส่งผลให้การบริโภคนมลดลง โรคระบาดลัมปีสกินที่สร้างความเสียหายต่อสุขภาพโคนมในฟาร์ม ราคาน้ำมันเชื้อเพลิงที่ปรับตัวสูงขึ้น ทำให้ค่าขนส่งน้ำนมดิบและการขนส่งอาหารสัตว์ปรับตัวสูงขึ้น ภาวะสงครามที่ทำให้ราคาวัตถุดิบอาหารสัตว์ปรับตัวสูงขึ้นมากกว่า 30% อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ทำให้เกษตรกรหลายฟาร์ม ต้องพ่ายแพ้กับอาชีพที่ตัวเองรัก บางคนกู้หนี้ยืมสินมา หวังให้อาชีพนี้เลี้ยงดูปากท้อง แต่สถานการณ์รุนแรงจนต้องเลิกเลี้ยง/ขายกิจการ ไปในที่สุด เราจึงได้เรียกร้องแนวทางแก้ไขปัญหาอย่างยั่งยืน ดังนี้

 

1. ขอให้รัฐบาลช่วยเหลือโดยการเพิ่มราคารับซื้อน้ำนมดิบ มีการปรับราคากลางรับซื้อน้ำนมดิบครั้งสุดท้ายเมื่อ 8 ปีที่แล้ว วันนี้อยากให้ทบทวนใหม่ ปรับราคากลางรับซื้อ ให้สอดคล้องกับภาวะที่เกษตรกรต้องเผชิญอยู่

 

2. ขอให้รัฐบาลช่วยเหลือโดยการออกมาตรการควบคุมราคาวัตถุดิบอาหารสัตว์ และต้นทุนปัจจัยการผลิตอื่นๆ  วัตถุดิบอาหารสัตว์ที่รัฐต้องมีการควบคุมดูแล การนำเข้า การสำรองอาหารสัตว์ ต้องไม่ให้ผูกขาดโดยผู้ค้ารายใดรายหนึ่ง กระตุ้นหน่วยงานราชการที่ควรมีบทบาทหน้าที่เพื่อเกษตรกรอย่างจริงจัง ลุกขึ้นมาทำงานอย่างจริงจังได้เสียที

 

 

คลิก รายชื่อสนับสนุน ปรับราคาน้ำนมดิบใหม่

 

3. ขอให้รัฐบาลจัดสรรสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ สำหรับเกษตรกรผู้เลี้ยงโคนม เพื่อเสริมสภาพคล่อง เป็นเงินทุนหมุนเวียนในฟาร์มและปรับปรุงฟาร์มให้เป็นสมาร์ทฟาร์มและได้รับมาตรฐาน GAP และเพื่อให้เกษตรกรรายย่อยเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้จริง ควรต้องมีการกับกับดูแล อย่างชัดเจน

 

ทั้งนี้ พวกเราไม่อยากแสดงออกเพื่อเรียกร้องในแบบที่ผ่านมาๆมา ไม่ว่าจะเป็นการปิดถนน การเทน้ำนมทิ้ง เพื่อกดดันรัฐบาล แต่อยากให้ความเห็นและการลงชื่อของทุกคนเป็นเสียงเรียกร้องที่ทรงพลัง และดังพอไปถึงผู้ที่เกี่ยวข้องในการพิจารณาปรับขึ้นราคารับซื้อน้ำนมดิบให้มีความสอดคล้องกับต้นทุนที่แบกรับจริงๆ และพลังของพวกเราจะช่วยทำให้เกษตรกรผู้เลี้ยงโคนมประกอบอาชีพต่อไปได้ มีพลังกาย พลังใจ ที่จะผลิตน้ำนมดีๆเพื่อคนไทยทุกๆคน

 

อย่างไรก็ดีในวันที่ 13 มิถุนายน นี้ ทาง เครือข่ายยุวเกษตรกรโคนมแห่งประเทศไทยไปยื่นหนังสือ ดร.ทองเปลว กองจันทร์ ปลัดกระทรวงเกษตรกร หรือ ในฐาน ประธานคณะกรรมการโคนมและผลิตภัณฑ์นม หรือ milkboard วันที่ 13 มิ.ย. นี้ เวลา 10 โมงเช้า