นายนัยฤทธิ์ จำเล ประธานชุมนุมสหกรณ์โคนมแห่งประเทศไทย จำกัด เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” วันนี้ (วันที่ 5 เมษายน 2565) ทางชุมนุมฯ ได้มีการกำหนดจัดประชุมคณะกรรมการชุมนุมสหกรณ์โคนมแห่งประเทศไทย จำกัด นัดพิเศษ ผลสรุปในที่ประชุม ได้มีมติ มี 3 เรื่องด้วย กัน
เรื่องที่ 1 ขับ 6 สหกรณ์ ประกอบด้วย สหกรณ์โคนมวังน้ำเย็น จำกัด , สหกรณ์โคนมไทยมิลค์ จำกัด , สหกรณ์โคนมมวกเหล็ก จำกัด, สหกรณ์โคนมปากช่อง จำกัด, สหกรณ์โคนมเชียงใหม่ จำกัด, สหกรณ์โคนมพัทลุง จำกัด ให้พ้นการเป็นสมาชิกจากสหกรณ์ เนื่องจากไม่จ่ายเงินกองทุนน้ำนมดิบ รวมทั้งมีการให้ร้ายด้วย จึงมีมติให้พ้นชุมนุมฯ
2.ขอให้รัฐบาลปรับราคาน้ำนมดิบให้กับเกษตรกรผู้เลี้ยงโคนมในประเทศไทย เพิ่มขึ้น 3 บาท จากราคาเดิม 19 บาทต่อกิโลกรัม บวกลบคุณภาพ เป็นราคา 22 บาทต่อกิโลกรัม บวกลบคุณภาพตามภาวะต้นทุนการผลิตสูงตามภาวะเศรษฐกิจผันผวนราคาน้ำมันแพง วัตถุดิบอาหารสัตว์มีการปรับตัวสูงขึ้น ส่งผลให้เกษตรกรผู้เลี้ยงโคนมหลายรายต้องล้มเลิกกิจการไป ซึ่งจากราคาน้ำนมดิบมีการปรับราคาครั้งสุดท้ายเมื่อวันที่ 16 ธันวาคม 2557 ที่ผ่านมา เป็นระยะเวลา 8 ปีแล้ว
3. ขอเดินหน้ารับงบประมาณ 2,800 ล้านบาท โครงการเยียวยาเกษตรกร เพื่อเป็นการช่วยเหลือเกษตรกรผู้เลี้ยงโคนม ให้สามารถประกอบอาชีพการเลี้ยงโคนมต่อไปได้ จึงขอให้รัฐบาลช่วยพิจารณาอนุมัติตามที่เกษตรกรผู้เลี้ยงโคนมในประเทศไทย ร้องขอ
นายนัยฤทธิ์ กล่าวว่า โครงการอาหารเสริม (นม) โรงเรียน มาตั้งแต่ปีพ.ศ. 2535 เป็นต้นมาจนถึงปัจจุบัน รัฐบาลยังประกาศประกันราคาน้ำนมดิบให้กับเกษตรกรผู้เลี้ยงโคนมทั้งประเทศไทย ต่อมาจากภาวะวิกฤติโรค โควิด -19 ระบาดในประเทศไทย ทำให้ผู้บริโภคมีการบริโภคนมลดลงส่งผลให้เกษตรกรผู้เลี้ยงโดนมได้รับความเดือดร้อนหลายๆ ด้าน ขณะเดียวกันจากภาวะวิกฤตโรคระบาด
ยังส่งผลให้ภาวะเศรษฐกิจผันผวนราคาน้ำมันแพง วัตถุดิบอาหารสัตว์มีการปรับตัวสูงขึ้นตามภาวะเศรษฐกิจไม่น้อยกว่า 30-40% อาหารหยาบมีการปรับตัวสูงขึ้น ปุ๋ย-ยารักษาสัตว์มีราคาแพงขึ้นตามกลไกการตลาด ขณะเดียวกันอาหารสำเร็จรูปก็มีการปรับราคาสูงขึ้นตามต้นทุนวัตถุดิบ ค่าจ้างแรงงานสูงขึ้นตามนโนบายแห่งรัฐทำให้ต้นทุนการผลิตนมมีต้นทุนสูงขึ้น พร้อมกับค่าครองชีพมีการปรับตัวสูงขึ้นตามภาวะเศรษฐกิจ
จึงได้ส่งผลกระทบต่อเกษตรกรผู้เลี้ยงโคนมในประเทศไทยเป็นอย่างมากทำให้เกษตรกรผู้เลี้ยงโคนมประสบปัญหาขาดทุน ต้นทุนการผลิตสูง มีรายได้ไม่เพียงพอกับคำใช้จ่าย ส่งผลให้เกษตรกรผู้เลี้ยงโคนมหลายรายต้องล้มเลิกกิจการเลี้ยงโคนม ด้วยเหตุดังกล่าวทำให้เกษตรกรผู้เลี้ยงโคนมได้รับความเดือดร้อน
ดังนั้น เพื่อเป็นการช่วยเหลือเกษตรกรผู้เลี้ยงโคนมให้สามารถประกอบอาชีพการเลี้ยงโคนมต่อไปได้เกษตรกรจึงขอความอนุเคราะห์รัฐบาลปรับราคาน้ำนมดิบจากเดิมกิโลกรัมละ 19 บาท บวกลบตามคุณภาพเป็นราคากิโลกรัมละ 22 บาท บวกลบตามคุณภาพ ตามภาวะต้นทุนการผลิตนมสูงเพื่อให้เกษตรกรผู้เลี้ยงโคนมในประเทศไทยสามารถประกอบอาชีพการเลี้ยงโคนมต่อไปได้