"ราคาน้ำมันพุ่งไม่หยุด" ฉุดดัชนีเชื่อมั่นอุตสาหกรรมร่วง 2 เดือนติด

09 มิ.ย. 2565 | 08:18 น.
อัปเดตล่าสุด :09 มิ.ย. 2565 | 15:18 น.

"ราคาน้ำมันพุ่งไม่หยุด" ฉุดดัชนีเชื่อมั่นอุตสาหกรรมร่วง 2 เดือนติด หลังสงครามรัสเซีย ยูเครนยืดเยื้อ และทวีความรุนแรงขึ้น

นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยผลการสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมในเดือนพฤษภาคม 2565 อยู่ที่ระดับ 84.3 ปรับตัวลดลงจากระดับ 86.2 ในเดือนเมษายน ปรับตัวลดลงเป็นเดือนที่ 2 ติดต่อกัน 

 

ทั้งนี้ องค์ประกอบดัชนีฯ ปรับตัวลดลงทุกองค์ประกอบ ได้แก่ คำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต ต้นทุนประกอบการ และผลกระกอบการ 

 

สำหรับปัจจัยที่ส่งผลลบต่อความเชื่อมั่นของผู้ประกอบการ ได้แก่ สงครามรัสเซีย-ยูเครน ที่ยังคงยืดเยื้อและทวีความรุนแรงขึ้นส่งผลให้ราคาน้ำมันในตลาดโลกรวมถึงราคาสินค้าโภคภัณฑ์และราคาวัตถุดิบต่างๆ ปรับตัวสูงขึ้น 

 

อีกทั้ง ต้นทุนการผลิตที่ปรับตัวสูงขึ้นส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการภาคการผลิตโดยเฉพาะ SMEs ขณะที่อุปสงค์ในประเทศยังฟื้นตัวช้าจากปัญหาเงินเฟ้อและค่าครองชีพที่ปรับตัวสูงขึ้นส่งผลให้กำลังซื้อของประชาชนลดลง สะท้อนจากดัชนีฯคำสั่งซื้อและยอดขายที่ปรับตัวลดลงจากเดือนก่อนหน้า

นอกจากนี้ผู้ประกอบการยังมีความกังวลเกี่ยวกับภาวะเศรษฐกิจโลกที่ยังมีความไม่แน่นอนสูงจากผลกระทบความขัดแย้งรัสเซีย-ยูเครน รวมทั้งการปิดเมืองของจีนส่งผลให้เกิดปัญหา Supply shortage โดยเฉพาะการขาดแคลนเซมิคอนดักเตอร์เพื่อใช้ผลิตรถยนต์และสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ ส่งผลกระทบต่อภาคการส่งออกของไทย 

 

อย่างไรก็ตามยังมีปัจจัยสนับสนุนจากการทยอยผ่อนคลายมาตรการควบคุมโควิด-19 ภายหลังการระบาดของสายพันธุ์ Omicron ลดลงทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจต่างๆ เพิ่มขึ้น ขณะที่นโยบายเปิดประเทศและการยกเลิกระบบ Test & Go ช่วยกระตุ้นการท่องเที่ยวและเศรษฐกิจในประเทศ

 

จากการสำรวจผู้ประกอบการ 1,323 ราย ครอบคลุม 45 กลุ่มอุตสาหกรรมของสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยในเดือนพฤษภาคม 2565 พบว่า 

 

"ราคาน้ำมันพุ่งไม่หยุด" ฉุดดัชนีเชื่อมั่นอุตสาหกรรมร่วง 2 เดือนติด

 

ปัจจัยที่ผู้ประกอบการมีความกังวลเพิ่มขึ้นได้แก่ 

  • ราคาน้ำมัน 85.5% 
  • สภาวะเศรษฐกิจโลก 65.7% 
  • เศรษฐกิจในประเทศ 59%
     

ปัจจัยที่มีความกังวล ลดลง ได้แก่ 

 

  • สถานการณ์ระบาดของโควิด-19 55.5%  
  • อัตราแลกเปลี่ยน (มุมมองผู้ส่งออก) โดยอัตราแลกเปลี่ยนอ้างอิงค่าเงินบาทเทียบกับดอลลาร์สหรัฐฯ 36.4%
  • สถานการณ์การเมืองในประเทศ 35.1% 
  • อัตราดอกเบี้ยเงินกู้ 33.2% 

 

สำหรับดัชนีฯคาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้า อยู่ที่ระดับ 96.7 ปรับตัวเพิ่มขึ้นจาก 95.9 ในเดือนเมษายน โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากการเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยวเต็มรูปแบบ การปลดล็อกมาตรการควบคุมโควิด-19 รวมถึงการที่ภาครัฐจะพิจารณาให้โรคโควิด-19 เป็นโรคประจำถิ่น ซึ่งผู้ประกอบการมองว่าจะส่งผลดีต่อเศรษฐกิจการค้า การลงทุนและการท่องเที่ยวของไทยในช่วงครึ่งหลังของปี 2565 แต่อย่างไรก็ตามยังคงต้องติดตามสถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างรัสเซียและยูเครนที่ยังมีความไม่แน่นอนอาจเป็นปัจจัยที่บั่นทอนการขยายตัวของเศรษฐกิจไทย

 

ข้อเสนอแนะต่อภาครัฐ 

 

  • เสนอให้ภาครัฐช่วยเจรจาหาแหล่งวัตถุดิบใหม่ที่มีศักยภาพมาทดแทน โดยเฉพาะ ปุ๋ย อาหารสัตว์   สารเคมี เป็นต้น รวมทั้งส่งเสริมการใช้วัตถุดิบในประเทศให้มากขึ้นเพื่อลดการพึ่งพาสินค้านำเข้าจากต่างประเทศและเพื่อความมั่นคงระยะยาว
  • ออกมาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการ SMEs เช่น เงินอุดหนุนรักษาการจ้างงาน เงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ   เพื่อเสริมสภาพคล่องในการดำเนินธุรกิจ
  • เสนอภาครัฐเปิดการท่องเที่ยวเต็มรูปแบบ และออกมาตรการดึงดูดนักท่องเที่ยวต่างชาติที่มีคุณภาพ เพื่อช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจช่วงครึ่งหลังของปี 2565
  • ดูแลเสถียรภาพค่าเงินบาทให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม