ลดราคาน้ำมันทำได้อีกหรือไม่ ลุ้นพลังงานถกผู้ประกอบการลดค่าการกลั่น

10 มิ.ย. 2565 | 04:49 น.
อัปเดตล่าสุด :10 มิ.ย. 2565 | 11:49 น.

ลดราคาน้ำมันทำได้อีกหรือไม่ ลุ้นพลังงานถกผู้ประกอบการลดค่าการกลั่น หลังปัจจุบันราคาสูงเกินจริง พร้อมร่วมมือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องหาแนวทาง หวั่นผิดกฎหมายการค้าเสรี

นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า ได้สั่งการให้กระทรวงพลังงานไปหารือร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งกระทรวงพาณิชย์ สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สบค.) และกลุ่มโรงกลั่นน้ำมันเพื่อศึกษาแนวทางลดราคาน้ำมันหน้าโรงกลั่น หรือการลดค่าการกลั่นน้ำมันลง 

 

โดยยังไม่สามารถสรุปได้ว่าจะลดได้กี่บาท ซึ่งทางฝั่งโรงกลั่นก็ต้องใช้เวลาในการวางแผน โดยเกณฑ์ราคาที่เหมาะสมจะต้องเป็นธรรมกับผู้บริโภคแน่นอน

 

“ตอนนี้กระทรวงพลังงานก็เร่งหารืออยู่ ซึ่งทางโรงกลั่นเค้าต้องใช้เวลา และวางแผนไม่ให้เกิดผลกระทบต่อธุรกิจ ลำพังอำนาจของกระทรวงพลังงานก็ทำได้ระดับหนึ่ง แต่เนื่องจากเป็นเรื่องที่ละเอียดอ่อนเพราะเกี่ยวข้องกับการค้าแบบตลาดเสรี ซึ่งต้องต้องศึกษาในแง่มุมของกฎหมาย ผสมกับการขอความร่วมมือกับหน่วยงานที่ดูแลทั้งหมด เพราะหากไปบังคับอย่างเดียวก็อาจจะผิดกฎการค้าเสรีได้ ซึ่งเหตุการณ์ลักษณะดังกล่าวเคยเกิดขึ้นมาแล้วในช่วง 15-20 ปีก่อน แต่ไม่เคยกินระยะเวลายาวนานขนาดนี้”

ส่วนมาตรการช่วยเหลือราคาน้ำมันดีเซล 50% ไม่ให้เกินเพดาน 35 บาทต่อลิตรระยะเวลา 3 เดือนตั้งแต่ เม.ย. 65 และจะสิ้นสุดในช่วงสิ้นเดือน มิ.ย. นี้นั้น ขณะนี้กระทรวงพลังงานได้หารือร่วมกับ กระทรวงการคลัง ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สภาพัฒน์ฯ) เพื่อติดตามสถานการณ์สงครามรัสเซีย-ยูเครนที่ยืดเยื้อ ว่าจะส่งผลกระทบต่อราคาน้ำมันอีกมากแค่ไหน 

 

รวมถึงติดตามกลไกของกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงที่จะสามารถมีงบดูแลราคาน้ำมันได้ถึงตอนไหน โดยหากกระทรวงพลังงานมีนโยบายตรึง แต่กระทรวงการคลังไม่พร้อมที่จะดูแลก็ไม่สามารถดำเนินมาตรการต่อได้ แต่มั่นใจว่าในช่วงต้นเดือนก.ค.นี้จะมีมาตรการใหม่ออกมาดูแลแน่นอน

 

ราคาน้ำมันลดลงได้อีกหรือไม่ ลุ้นพลังงานถกผู้ประกอบการลดค่าการกลั่น

 

สำหรับค่าไฟฟ้างวดเดือน ก.ย. - ธ.ค. 65 ยืนยันว่ารัฐบาลยังคงดูแลผู้ใช้ไฟที่ไม่เกิน 300 หน่วยต่อเดือนประเภทบ้านอยู่อาศัยและประเภทกิจการขนาดเล็ก (ไม่รวมส่วนราชการและรัฐวิสาหกิจ) ซึ่งเป็นกลุ่มผู้มีรายได้น้อย หรือกลุ่มเปราะบาง ไปถีงสิ้นปี 

โดยผู้ใช้ไฟฟ้าดังกล่าวที่จ่ายค่าไฟฟ้าให้กับการไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) และ การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) จะได้รับส่วนลดค่าไฟฟ้าจากการลดค่าไฟฟ้าผันแปรอัตโนมัติ  หรือค่าเอฟที (FT) ที่ 0.2338 บาทต่อหน่วย 

 

"กระทรวงพลังงานกำลังหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อที่จะหาแนวทางดูแลค่าไฟงวดปลายปีได้อย่างต่อเนื่อง ซึ่งยืนยันว่าหากมีการปรับขึ้นแล้ว จะต้องไม่ปรับขึ้นอีก เพื่อดูแลประชาชนในทุกกรณี โดยเฉพาะดูแลสภาพคล่องของ กฟผ. ให้สามารถมาดูแลด้านราคาค่าไฟได้อย่างต่อเนื่อง ซึ่ง กฟผ.ที่เป็นรัฐวิสาหกิจ ก็สามารถจะขอกรอบวงเงินกู้ ภายใต้พระราชบัญญัติ(พ.ร.บ.)รัฐวิสาหกิจ เพิ่มเติมได้"