สถานการณ์ราคาน้ำมันในตลาดโลก ยังคงมีความผันผวนต่อเนื่อง ล่าสุดน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัส ปรับตัวมาที่ระดับ 120 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล น้ำมันดิบเบรนท์ 122 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล และน้ำมันดิบดูไบ 115 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล
ขณะที่ราคาน้ำมันสำเร็จรูปในตลาดโลก น้ำมันเบนซิน ออกเทน 95 ปรับตัวมาที่ระดับ 164 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล น้ำมันดีเซล 169 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล และน้ำมันก๊าดและอากาศยาน 165 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล จากปัจจัยปริมาณน้ำมันดิบในตลาดโลกยังตึงตัว จากการคว่ำบาตรน้ำมันจากรัสเซีย และการที่กลุ่มประเทศผู้ส่งออกน้ำมัน (โอเปก) และชาติพันธมิตร หรือโอเปกพลัส ยังคงไม่สามารถเพิ่มกำลังการผลิตน้ำมันตามข้อตกลง
ผลของราคาน้ำมันดิบและน้ำมันสำเร็จรูปที่มีความแตกต่างกันมาก โดยน้ำมันดีเซล มีส่วนต่างจากน้ำมันดิบดูไบ ที่ใช้อ้างอิงในโรงกลั่นของไทย 54 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล น้ำมันเบนซินออกเทน 95 ส่วนต่าง 49 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล และน้ำมันก๊าดและอากาศยาน มีส่วนต่าง 50 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล
จากผลต่างของราคาน้ำมันดิบและน้ำมันสำเร็จรูปในตลาดโลกที่ห่างกันมากนี้เอง จึงเป็นปัจจัยยที่ส่งผลให้บรรดาโรงกลั่นน้ำมันทั่วโลกได้อานิสงส์จากค่าการกลั่นน้ำมันที่ปรับตัวสูงขึ้นมากตามไปด้วย
ข้อมูลจากสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน(สนพ.) เปิดเผยถึงค่าการกลั่นน้ำมัน 6 โรงกลั่นน้ำมันของไทย พบว่า ในช่วงวันที่ 1-14 มิถุนายน 2565 เฉลี่ยอยู่ที่ 5.74 บาทต่อลิตร เป็นการปรับตัวมาตั้งแต่ช่วงปลายปี 2564 ที่ผ่านมา และยิ่งสูงมากขึ้นอีกตามราคาน้ำมันในตลาดโลกที่ปรับตัวสูงขึ้นจากความขัดแย้งระหว่างรัสเซียและยูเครน
ค่าการการกลั่นในเดือนมกราคม 2565 เฉลี่ยอยู่ที่ 1.35 บาทต่อลิตร เดือนกุมภาพันธ์ ปรับตัวขึ้นมาเฉลี่ยอยู่ที่ 1.58 บาทต่อลิตร เดือนมีนาคม เฉลี่ยอยู่ที่ 2.80 บาทต่อลิตร และก้าวกระโดดขึ้นมาในเดือนเมษายน เฉลี่ยขึ้นมาอยู่ที่ 5.16 บาทต่อลิตร และเดือนพฤษภาคม ขึ้นมาเฉลี่ยอยู่ที่ 5.27 บาทต่อลิตร
เมื่อรวมค่าการกลั่นตั้งแต่เดือนมกราคม 2565 ถึงปัจจุบัน ค่าการกลั่นจะเฉลี่ยอยู่ที่ 3.46 บาทต่อลิตร เมื่อเทียบกับค่าการกลั่นในปี 2564 เฉลี่ยอยู่ที่ 0.89 บาทต่อลิตร และปี 2563 เฉลี่ยอยู่ที่ 0.70 บาทต่อลิตร
เมื่อมาดูผลประกอบการของบรรดา 6 โรงกลั่นน้ำมัน ที่พิจารณาจากเฉพาะธุรกิจการกลั่นน้ำมัน ซึ่งได้รับอานิสงส์จากการค่าการกลั่นน้ำมันที่เพิ่มสูงมากในช่วงไตรมาสแรกของปี 2565 เฉลี่ยอยู่ที่ 1.91 บาทต่อลิตร
ซึ่งเป็นผลจากทิศทางราคาน้ำมันดิบและส่วนต่างราคาลิตภัณฑ์ที่เกิดขึ้นจริงสูงกว่าราคาที่ทำประกันความเสี่ยงไว้ จึงส่งผลให้ขาดทุนขั้นต้นทางบัญชี้ -4.48 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล
ทั้งนี้ หากประเมินค่าการกลั่นที่ปรับตัวสูงแบบก้าวกระโดดในช่วงไตรมาสที่ 2 ของปีนี้ ที่น่าจะเฉลี่ยไม่ไม่ต่ำกว่า 5 บาทต่อลิตร จะส่งผลให้บรรดาโรงกลั่นต่างๆ มีกำไรจากการดำเนินงานแบบก้าวกระโดดตามไปด้วย
จุดนี้ ทำให้หลายฝ่ายออกมากดดันรัฐบาลว่า สมควรเจรจากับโรงกลั่นน้ำมันหรือใช้ข้อกฎหมายที่มีอยู่ ขอให้ปรับลดค่าการกลั่นลงมา เพื่อช่วยให้ราคาน้ำมันสำเร็จรูปในประเทศมาราคาถูกลง อันจะเป็นการช่วยเหลือแบ่งเบาภาระประชาชนได้ทางหนึ่งได้หรือไม่