วงการคิดอย่างไร ไทยปลูก "ข้าวบาสมาติ" ป้อนซาอุฯ

15 มิ.ย. 2565 | 03:00 น.
อัปเดตล่าสุด :16 มิ.ย. 2565 | 19:28 น.

สมาคมส่งออกข้าว เตือนสติ รัฐส่งเสริมชาวนาปลูกข้าวบาสมาติ ป้อนตลาดซาอุฯ ชี้ ไทยอากาศร้อน พันธุ์ข้าวไม่มี คนซื้อไร้ความเชื่อมั่น แนะขายข้าวชนิดอื่นที่ไทยมีอยู่แล้วดีกว่า “เกรียงศักดิ์” กังขาปริมาณ 30 ล้านตัน ย้อนแย้งจำนวนประชากรแค่ 35 ล้านคน ฟังเพี้ยน 3 แสนตัน หรือไม่

สืบเนื่องจากอธิบดีกรมการข้าวได้แจ้งต่อที่ประชุมว่า จากการเดินทางเยือนซาอุดิอาระเบีย ซึ่งซาอุฯ มีความต้องการจะซื้อข้าวบาสมาติจากไทย จำนวน 30 ล้านตัน ซึ่งข้าวชนิดนี้ ในเมืองไทยยังไม่มี เป็นข้าวเมล็ดยาวพิเศษ ทางกรมการข้าว จึงได้เตรียมข้อมูลที่จะหารือทั้งพันธุ์ข้าว แหล่งที่จะส่งเสริมให้ชาวนาปลูก มีความเป็นไปได้หรือไม่ “ฐานเศรษฐกิจ” จึงได้สอบถามในวงการข้าวคิดอย่างไร ไทยจะปลูกข้าวบาสมาติ

 

 

วิชัย ศรีประเสริฐ

 

นายวิชัย ศรีประเสริฐ นายกกิตติมศักดิ์สมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ข้าวบาสมาติ ชื่อเสียงถ้ามาจากประเทศไทย อาจจะทำให้คนที่เคยซื้อข้าวมาจาก ปากีสถานหรืออินเดีย เกิดความไม่เชื่อมั่น ยกตัวอย่างเช่น บอกว่าข้าวหอมมะลิ มาจากที่อื่นก็อาจจะไม่เชื่อมั่น เป็นต้น ในอดีตเคยมีชาวอินเดียเอาข้าวบาสมาติมาปลูกแถวเชียงใหม่ เชียงราย ทำไปได้พักหนึ่ง

 

แต่ไม่สำเร็จซึ่งเข้าใจว่าต้องการส่งออก แต่อาจจะเป็นดินหรือภูมิอากาศอาจจะไม่เหมาะสม เหมือนข้าวหอมมะลิ หากนำมาปลูกในภาคกลาง อาจจะมีคุณลักษณะอีกอย่างแล้วได้ราคาข้าวที่ต่ำกว่าพื้นที่ปลูกในพื้นที่ภาคอีสานเป็นต้น อาจจะมีเรื่องดินและอากาศที่ไม่เหมาะสม

 

"สำหรับตลาดข้าวปีนี้ไม่ค่อยดี เพราะโดนอินเดียแย่งตลาดไปหมด หากเปรียบเทียบราคาข้าวไทยแพงกว่าข้าวอินเดียส่วนต่าง 100 ดอลาร์สหรัฐ กำลังงงอยู่ว่าทำไมเกิดเหตุการณ์เช่นนี้ได้ มีกระแสข่าวว่า รัฐบาลอินเดียสนับสนุนให้เกษตรกรได้ปุ๋ยราคาถูก แล้วการแจกข้าวให้คนจนแบบแจกฟรี ซึ่งคนจนแทนที่จะนำข้าวไปรับประทาน แต่กลับนำมาขายให้กับพ่อค้าในราคาถูก"

 

 

และยังได้ข่าวว่าคนที่จะส่งออกข้าวจากอินเดียจะได้สถิติการส่งออกข้าวโอกาสจะได้ดอลลาร์เข้าประเทศ แต่มีสิทธิ์ที่จะขายให้กับสินค้าเข้ามาในประเทศอินเดีย (เวลาอินเดียบริหารประเทศ ให้กับผู้ส่งออกมีสิทธิ์ที่จะขายดอลลาร์ได้ผลประโยชน์ได้ราคาให้กับผู้ที่ส่งออกข้าว) ได้ยินแต่ข่าว แต่ยังไม่มีใครยืนยันว่าจริงหรือไม่จริง

 

เปรียบเทียบราคาข้าวในต่่างประเทศ

 

“ผมก็ยังไม่เชื่อว่าอินเดียจะขายข้าวได้ถูกกว่าประเทศไทย ต่างกัน 100 ดอลาร์สหรัฐ หากย้อนไปในในสมัยรัฐบาลยิ่งลักษณ์ โครงการจำนำข้าวเปลือกทุกเมล็ด  มีข้าวเหลือในโกดังจำนวนมาก ถึง  20 ล้านตัน เป็นข้าวเสีย รัฐบาลขายถูกออกมากิโลกรัมละ 5-6 บาท/กิโลกรัม ซึ่งในตอนนั้นส่งออกได้ดี เพราะมีผู้ส่งออกไปซื้อข้าวของรัฐในราคาถูก มาขายในต่างประเทศทำให้ขายได้ กว่า 11 ล้านตัน ก็มาจากโครงการของรัฐบาล เวลาอะไรที่เป็นของรัฐบาลก็มีโอกาสที่จะขายในราคาถูกมากๆ ได้ พอมาซื้อข้าวเปลือก ก็มีสิทธิ์ที่จะนำเงินภาษีไปซื้อข้าวเปลือกในราคาสูงกว่าราคาตลาดได้ ตอนขายก็สามารถขายต่ำกว่าราคาตลาดได้”

 

จำนำข้าวเปลือก

 

นายวิชัย กล่าวอีกว่า  เข้าใจว่า อินเดีย ก็เข้าทำนองเดียวกัน “จำนำข้าวเปลือกทุกเมล็ด”  ก็คือการหาเสียงของนักการเมืองอินเดีย เวลานี้นายนเรนทรา โมดี นายกรัฐมนตรี ก็ต้องการจะเป็นนายกรัฐมนตรีต่อ ก็จะได้คะแนนเสียงจากการที่ทำให้เกษตรกรมีความชื่นขอบนิยม ก็คือ การแจกข้าวฟรีคนจน ประมาณ 20 ล้านตันข้าวสาร เยอะมาก ก็มีความเป็นไปได้ เพราะนักการเมืองก็ทำแบบนี้เพื่อได้คะแนนเสียง

 

"ผมว่าประเทศไทยมีหน่วยงานราชการ สารพัด 108 ทูต มีอยู่ทุกประเทศ โดยเฉพาะอินเดีย ว่ากระแสข่าวจริงหรือไม่ แล้วถ้าจริงจะต่อต้านอย่างไร หรือจะฟ้องดับบลิวทีโอ ได้หรือไม่ ซึ่งราชการเองน่าประเมินได้ว่าผิดกฎระเบียบการค้าหรือไม่ อย่างไร"

 

 

เจริญ เหล่าธรรมทัศน์

 

ด้านนายเจริญ เหล่าธรรมทัศน์ นายกสมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย กล่าวว่า ประเทศไทยปลูกไม่ได้ จากที่เราไม่มีพันธุ์ข้าว “ข้าวบาสมาติ” ปลูกในพื้นที่มีภูมิอากาศเย็น แล้วที่ประเทศซาอุฯ ซื้อต้องเป็นข้าวเก่าเก็บไว้ 2  ปี แล้วถึงมาสีแปร วัฒนธรรมในการปลูก ไม่เข้ากับอุตสาหกรรมข้าวไทยในปัจจุบันอาจจะเป็นความคิดริเริ่มที่ดีที่เขาต้องการ ซึ่งประเทศซาอุ เคยซื้อข้าว 100 ชั้น 2 จากไทย ไปให้ประชาชนรับประทาน หรือแรงงานต่างชาติที่เข้าไปอยู่ในนั้น

 

"อยากให้มุ่งไปทางนี้ดีกว่า พันธุ์ข้าวเราก็มีแล้ว “ข้าวบาสมาติ” ไม่ใช่ข้าวพันธุ์พื้นเมืองของเรา แล้วเราจะไปเรียกชาวนาให้ปลูก จะเอาอะไรไปรับประกันว่าเมื่อปลูกแล้วจะได้ขาย นี่คือสำคัญที่สุด พฤติกรรมของชาวนาถ้าไม่มีอะไรไปรับประกันปลูกแล้วขายได้ ปลูกไม่ได้รับประทานเองได้ ก็ไม่ปลูก ดังนั้นการริเริ่มมองว่าดีแต่ไม่เหมาะสมกับสถานการณ์ในตอนนี้ สู้นำข้าวขาว 100% ชั้น 2 หรือข้าว 5% ชั้น 1 เสนอขายดีกว่า เพื่อให้แรงงานที่ไปทำงานที่โน้นได้รับประทาน ส่วนข้าวบาสมาติ เป็นข้าวชั้นสูง เป็นข้าวพรีเมี่ยม ซึ่งซาอุฯ นำเข้าจากอินเดีย อิหร่านอยู่แล้ว ไทยสภาพอากาศร้อนปลูกไม่ได้"

 

เกรียงศักดิ์ ตาปนานนท์

ด้านนายเกรียงศักดิ์  ตาปนานนท์ นายกกิตติมศักดิ์สมาคมโรงสีข้าวไทย กล่าวว่า เมื่อประมาณปี 2563 อินเดียส่งออกมากสุด 15.5 ล้านตัน หรือประมาาณ 30% ของการค้าข้าวโลก และ เป็นข้าวบาสมาติ ประมาณ 5 ล้านตัน ส่วนที่เหลือเป็นข้าวชนิดอื่นๆ ประมาณ 10 ล้านตัน ซึ่งข้าวบาสมาติก็มีข้าวแบบธรรมดา กับ ขาวยาวพิเศษ  ซึ่งตรงนี้การที่การที่รัฐบาลไทย ได้รับสัญญาณมาจากซาอุดิอาระเบียว่ามีความต้องการข้าวชนิดนี้ ก็ควรที่จะศึกษาตลาดให้ดี เพราะลักษณะพื้นที่เพาะปลูกอินเดีย หรือ ปากีสถาน  เป็นอย่างไร มีความแตกต่างหรือไม่

 

"ที่สำคัญควรที่จะศึกษาตลาดในประเทศก่อนว่ามีความนิยมการบริโภคข้าวหรือไม่ มีสัดส่วนในการนำเข้ามาจากต่างประเทศมาใช้ในร้านอาหารอาหรับ หรือร้านอาหารทั่วไปมีสัดส่วนการใช้เยอะไหม เพราะหากต่างประเทศมีความต้องการไม่มาก แล้วในประเทศมีความต้องการไม่มาก  ต้องศึกษาให้มากกว่านี้เพราะไม่เหมือนกับข้าวไทยที่ต่างประเทศคุ้นชิน คนไทยเองก็คุ้นชิน ตลาดตอบรับ ถ้าช่องทางตลาดตัน จะมีที่ระบายได้ ถึงแม้ว่าราคาจะต่ำลง แต่เรื่องนี้ก็เป็นเรื่องดีที่น่าศึกษา ติดตาม โดยเฉพาะความต้องการจริงมากน้อยแค่ไหน"

 

 

นายเกรียงศักดิ์ กล่าวว่า อย่างประเทศซาอุดิอาระเบีย ที่มีความต้องการมากถึง 30 ล้านตัน ไม่ค่อยแน่ใจว่าเป็นความต้องการใช้จริงหรือไม่ เมื่อเปรียบเทียบกับจำนวนประชากรของประเทศซาอุดิอาระเบีย มีประชากร 35 ล้านคน  ปีหนึ่งประเทศซาอุฯ นำเข้าข้าวรวม 1.3 ล้านตัน ก็มีการนำเข้าบาสติ 6-7 แสนตัน รับประทานอาหารชาวอาหรับ ก็มีการนำเข้าข้าวสาลี มีการนำเข้าข้าวจากไทย แค่ 2 หมื่นตัน  โดยอินเดีย ส่งออกข้าว บาสมาติ เป็นอันดับ 1 ของโลก ปริมาณกว่า 5 ล้านตัน ผู้ซื้อรายใหญ่ก็มีซาอุดิอาระเบีย รองลงมา อิรัก ซึ่งตัวเลข 30 ล้านตัน ในการนำเข้าข้าวบาสมาติ คิดว่าอาจจะพูดผิดหรือไม่ อาจจะแค่ 3 แสนตัน 

ชูเกียรติ โอภาสวงศ์

 

ปิดท้ายนายชูเกียรติ  โอภาสวงศ์  นายกกิตติมศักดิ์สมาคมส่งออกข้าวไท  กล่าวว่า เป็นเรื่องตลก ไม่ง่าย เพราะ 1. ข้าวชนิดนี้เกษตรกรไทยไม่ชำนาญในเรื่องการเพาะปลูก 2. ดินฟ้าอากาศ ภูมิประเทศ อย่างที่ปลูก อินเดีย ปากีสถาน มีที่ราบสูงอากาศเย็น เมื่อปลูกมาแล้วคุณภาพจะเป็นอย่างไร แล้วก็จะขายได้หรือไม่  3. ตลาดรองรับค่อนข้างจำกัด มีแต่ตะวันออกกลาง ต้องไปแข่งกับอินเดีย และปากีสถาน ไม่รู้จะทำได้ขนาดไหน และอีกประกาศหนึ่งปลูกมาแล้ว ขายไม่ได้ คนไทยเองก็ไม่บริโภคข้าวชนิดนี้ ไม่เหมือนข้าวขาว หรือข้าวหอม ที่สามารถระบายตลาดในประเทศได้ เมื่อพิจารณาเหตุผลดังกล่าวนี้ไม่ควรที่จะทำในสิ่งที่เราไม่ชำนาญ เราก็ควรทำให้มีข้าวหอม ข้าวขาวหลายชนิด

 

เช่น ข้าวพื้นนุ่ม หรือข้าวหอมหลายประเภทที่อยู่ในเกรดดีกว่าข้าวหอมปทุมธานี เป็นต้น หรือเทียบเท่าข้าวหอมมะลิ แต่ผลผลิตต่อไร่ดีกว่า เพื่อที่จะทำให้ต้นทุนลดลง แล้วจะมีตลาดประจำอยู่แล้วเพื่อรองรับ น่าจะทำได้ง่ายกว่า แต่หากสนับสนุนให้ขาวนาไปปลูกแล้วไม่มีคุณภาพดีเทียบเท่า เราก็จะลำบากเพราะเป็นข้าวที่ระบายในประเทศไม่ได้ แล้วอะไรที่เราไม่ชำนาญอย่าไปทำ เพราะเป็นข้าวที่เราไม่คุ้นเคย"

 

 

นายชูเกียรติ กล่าวว่า ผมเชื่อว่า ภูมิอากาศ ภูมิประเทศ บ้านเราไม่เหมาะ ในอดีตที่ประเทศไทยเคยสนับสนุนข้าวญี่ปุ่นให้ปลูก กลายเป็นว่าที่ปลูกใช้ในประเทศทั้งหมด แต่ส่งออกไม่ได้เลย เพราะคุณภาพไม่เหมือนออริจินอลส์ (Originals) ดูรูปลักษณ์ภายนอกอาจจะใช่ ไม่เหนียวเท่า ยางไม่ค่อยมี  จากสภาพอากาศเมืองไทยร้อน ไม่เย็นเหมือนญี่ปุ่น เวลาหุงตุ้ม ไม่เข้ามาตรฐานข้าวญี่ปุ่น เพราะฉะนั้นส่งออกไม่ได้ เป็นตัวอย่างบอกให้ทราบว่ามีเคยมีประเด็นเหล่านี้เกิดขึ้น สรุปอย่าไปทำเลย

 

ด้านสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ เมืองเจนไน ประเทศอินเดีย รายงาน จากผลกระทบที่อินเดียได้มีการระงับการส่งออกข้าวสาลี เพื่อเป็นการควบคุมราคาสินค้าภายในประเทศพุ่งสูงขึ้นเรื่อยๆ อันเนื่องมาจากสถานการณ์ตึงเครียดจากสงครามรัสเซีย - ยูเครน ส่งผลให้ห่วงโซ่อุปทานและการผลิตสินค้าอุปโภคบริโภคชะงักหรือชะลอลง เกิดการขาดแคลน อย่างไรก็ตาม ผู้เชี่ยวชาญทางการตลาดก็เห็นว่ายังไม่มีข้อบ่งชี้ที่รัฐบาลอินเดียจะประกาศระงับการส่งออกข้าวบาสมาติ

 

แม้ว่ายังไม่มีข้อบ่งชี้หรือสัญญานใดๆ จากรัฐบาลอินเดียที่จะสื่อไปถึงการห้ามการส่งออกข้าวบาสมาติของ อินเดีย แต่กลุ่มผู้ซื้อข้าวจากกลุ่มประเทศอาหรับต่างตื่นตัวเร่งสั่งข้าวปริมาณเพิ่มขึ้นเพื่อกักตุนสำรองอาหารสำหรับ ประชากรของประเทศและรักษาความมั่นคงทางอาหารโดยปกติในช่วงฤดูใบไม้ร่วง อินเดียเก็บเกี่ยวผลผลิตจากข้าวบาสมาติได้ถึง 8 ล้านตัน แต่จากการประมาณการอุตสาหกรรมในปีที่แล้ว เนื่องมาจากฝนหลงฤดูกาลซึ่งตรงกับในช่วงฤดูเก็บเกี่ยว ส่งผลให้ข้าวที่เก็บไว้ได้รับความเสียหายอย่างหนัก จึงทำให้มีผลผลิตที่น้อยลงกว่าปกติเหลืออยู่ที่ 6.5 – 7 ล้านตัน ในช่วงปีงบประมาณ 2565 อินเดียมีการส่งออกข้าวบาสมาติจำนวน 3.94 ล้านตัน ไปยังซาอุดีอาระเบีย ซึ่งเป็นผู้ซื้อหลัก ตามมาด้วยอิหร่าน อิรัก และอื่นๆ ในแถบตะวันออกกลาง

 

นอกจากนี้จากปัจจัยจากราคาข้าวบาสมาติที่พุ่งขึ้นสูงในปากีสถาน ส่งผลกระตุ้นให้กลุ่มผู้ซื้อจากแถบตะวันออกกลางหันมารับซื้อข้าวจากอินเดียแทน โดยข้าวระดับพรีเมี่ยมของปากีสถานนั้นราคาอยู่ที่ 1,450 ดอลลาร์สหรัฐ ต่อตัน เมื่อเทียบราคากับข้าวระดับพรีเมี่ยมของอินเดียอยู่ที่1,350 เหรียญสหรัฐฯ ต่อตัน และข้าวบาสมาติ คุณภาพระดับธรรมดาของปากีสถานราคาอยู่ที่ 1,325 ดอลาร์หรัฐฯ ต่อตัน ส่วนของอินเดียจะอยู่ที่ 1,200 ดอลาร์สหรัฐฯ ต่อตัน ตลาดภายในประเทศอินเดีย ข้าวบาสมาติระดับพรีเมี่ยม ราคาขายอยู่ที่ 250 รูปีต่อกิโลกรัม เพิ่มขึ้นไปจากเมื่อสองสัปดาห์ก่อนที่อยู่ที่ 230 รูปี

 

ในขณะเดียวกันข้าวระดับธรรมดาก่อนหน้านี้ราคาอยู่ที่ 190 รูปี แต่ปัจจุบันราคาปรับขึ้นเป็น 220 รูปี ส่วนข้าวบาสมาติเมล็ดแตก ราคาเมื่อสองสัปดาห์ก่อนหน้านี้อยู่ที่ 125 รูปี ปัจจุบันราคา ขึ้นเป็น 140 รูปีต่อกิโลกรัม คาดว่าราคาข้าวจะยังคงสูงขึ้นไปจนถึงฤดูเก็บเกี่ยวช่วงเดือนตุลาคม – พฤศจิกายน

 

ข้อคิดเห็น/ข้อเสนอแนะของสำนักงานฯ

 

อินเดียได้ประกาศห้ามส่งออกข้าวสาลีเพื่อควบคุมราคาสินค้าภายในประเทศ เนื่องจากภาวะเงินเฟ้อและราคาสินค้าอุปโภคบริโภคอินเดียเพิ่มสูงขึ้น การห้ามส่งออกข้าวสาลีของอินเดียไม่เพียงกระทบต่อต้นทุนราคาอาหาร แต่ยังกระทบต่อต้นทุนราคาอาหารสัตว์ให้มีแนวโน้มสูงขึ้นด้วยเช่นกัน คาดว่าราคาสินค้าจะยังปรับเพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ หากสงครามรัสเซียและยูเครนยังยืดเยื้อต่อเนื่อง

 

ปัจจุบันราคาข้าวสาลีในตลาดโลกพุ่งสูงสุดในรอบ 14 ปี ทั่วโลกจะเกิดวิกฤติความมั่นคงอาหารโลก เนื่องจากรัสเซียและยูเครนเป็นผู้ส่งออกสินค้าโภคภัณฑ์สำคัญ เช่น ข้าวโพด ข้าวสาลี น้ำมันเชื้อเพลิง เรปซีดออยล์เป็นต้น อย่างไรก็ตาม จากการประกาศห้ามส่งออกข้าวสาลีของอินเดียนี้ส่งผลให้หลายประเทศในภูมิภาคตะวันออกกลางสั่งซื้อข้าวบาสมาติจากอินเดียเพิ่มมากขึ้นเพื่อรักษาความมั่นคงทางอาหาร ล่าสุดนานาประเทศเรียกร้องให้อินเดียจัดส่งข้าวสาลีมากกว่า 1.5 ล้านตัน

 

เหตุผลที่อินเดียต้องประกาศระงับการส่งออกข้าวสาลี เนื่องจากอินเดียเผชิญปัญหาความแปรปรวนของภูมิอากาศเกิดคลื่นความร้อน (Heat Wave) ส่งผลกระทบต่อภาค การผลิตข้าวสาลีและผลิตผลการเกษตรซึ่งเก็บเกี่ยวได้น้อยลง อินเดียต้องแก้ปัญหาสต็อกข้าวสาลีในประเทศ ป้องกัน การขาดแคลน และราคาข้าวสาลีในอินเดียก็ปรับตัวสูงขึ้น

 

อย่างไรก็ตาม รัฐบาลอินเดียจะยังอนุญาตให้ส่งออกข้าว สาลีที่มี Letter of Credit ยืนยันการชำระเงินซื้อข้าวสาลีไว้ก่อนหน้าการประกาศ รวมถึงอนุญาตการส่งออกไปยัง ประเทศที่ขาดแคลนเพื่อช่วยแก้ปัญหาด้านความมั่นคงทางอาหาร โดยรัฐบาลอินเดียแจ้งว่ามาตรการระงับการส่งออก ข้าวสาลีเป็นเพียงมาตรการชั่วคราวเท่านั้น ซึ่งอาจมีการปรับเปลี่ยนได้ตามสถานการณ์ซึ่งต้องติดตามอย่างใกล้ชิดต่อไป