กอนช. เตือน 25 จังหวัด ระวังน้ำหลาก น้ำท่วมฉับพลัน ดินถล่ม วันที่ 15 – 17 มิ.ย.

15 มิ.ย. 2565 | 07:14 น.
อัปเดตล่าสุด :15 มิ.ย. 2565 | 14:20 น.

กอนช.ประกาศ แจ้งเตือน 25 จังหวัด ระวังน้ำหลาก น้ำท่วมฉับพลัน ดินถล่ม วันที่ 15–17 มิ.ย. จากหย่อมความกดอากาศต่ำที่ปกคลุมบริเวณประเทศเวียดนามตอนบน และ อ่าวตังเกี๋ย ประกอบกับมรสุมตะวันตกเฉียงใต้กำลังอ่อนพัดปกคลุมทะเลอันดามันและอ่าวไทย ทำให้ประเทศไทยตอนบนมีฝนเพิ่มขึ้น

 

ชยันต์ เมืองสง

นายชยันต์ เมืองสง รองเลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ เลขานุการกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) เผยว่า จากการคาดการณ์สภาพอากาศของกรมอุตุนิยมวิทยา พบว่าในช่วงวันที่ 15 – 16 มิถุนายน 2565 ร่องมรสุมพาดผ่านตอนบนของภาคเหนือ และประเทศลาวตอนบน เข้าสู่หย่อมความกดอากาศต่ำที่ปกคลุมบริเวณประเทศเวียดนามตอนบนและอ่าวตังเกี๋ย ประกอบกับมรสุมตะวันตกเฉียงใต้กำลังอ่อนพัดปกคลุมทะเลอันดามันและอ่าวไทย

 

ทำให้ประเทศไทยตอนบนจะมีฝนเพิ่มขึ้น โดยมีฝนตกหนักบางแห่ง บริเวณภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง ภาคตะวันออก และภาคใต้ ได้ประเมินสถานการณ์น้ำจากฝนคาดการณ์ของกรมอุตุนิยมวิทยาและสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (องค์การมหาชน) พบว่าปริมาณฝนตกสะสมต่อเนื่องอาจส่งผลให้เกิดน้ำหลาก น้ำท่วมฉับพลัน และดินถล่ม จึงขอให้เฝ้าระวังพื้นที่เสี่ยงอุทกภัย ในช่วงวันที่ 15 – 17 มิถุนายน 2565 ดังนี้

 

1. ภาคเหนือ จังหวัดเชียงใหม่ เชียงราย พะเยา น่าน พิษณุโลก และเพชรบูรณ์

 

2. ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จังหวัดนครราชสีมา ศรีสะเกษ อุบลราชธานี ชัยภูมิ บึงกาฬ ขอนแก่น อุดรธานี เลย หนองคาย กาฬสินธุ์ สกลนคร และนครพนม

 

3. ภาคใต้ จังหวัดระนอง สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช ตรัง ปัตตานี ยะลา และนราธิวาส

 

 

ในการนี้ เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมรับมือ ขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องโปรดดำเนินการ ดังนี้

 

1. ติดตามสภาพอากาศและสภาพน้ำอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะพื้นที่ที่มีฝนตกสะสมมากกว่า 90 มิลลิเมตร ในช่วงเวลา 24 ชั่วโมง และพื้นที่จุดเสี่ยงที่เคยเกิดน้ำท่วมขังอยู่เป็นประจำ

 

2. ตรวจสอบความมั่นคงแข็งแรงและความสามารถใช้งานของอ่างเก็บน้ำ อาคารบังคับน้ำ และติดตาม ตรวจสอบ ซ่อมแซม แนวคันบริเวณริมแม่น้ำและกำจัดสิ่งกีดขวางทางน้ำ พร้อมทั้งเร่งทำการระบายน้ำในพื้นที่ที่มีน้ำท่วมขังอยู่เดิม เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมรับน้ำหลากป้องกันน้ำท่วมให้สามารถใช้งานได้อย่างมีประสิทธิภาพ

 

3. เตรียมแผนเผชิญเหตุรับสถานการณ์น้ำหลาก เตรียมความพร้อมบุคลากร เครื่องจักรเครื่องมือ รวมถึงความพร้อมของระบบสื่อสารสำรอง เพื่อบูรณาการความพร้อมให้ความช่วยเหลือได้ทันที

 

4. ประชาสัมพันธ์สถานการณ์น้ำ และแจ้งเตือนล่วงหน้า ให้ประชาชนที่คาดว่าจะได้รับผลกระทบ เตรียมพร้อมในการอพยพได้ทันท่วงทีหากเกิดสถานการณ์

 

 

ประกาศแจ้งเตือน