นายภคพงศ์ ศิริกันทรมาศ ผู้ว่าการการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) เปิดเผยภายหลังประชุมคณะกรรมการกำกับดูและและติดตาม โครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว ครั้งที่ 2/2565 วันนี้ (17 มิ.ย.) ว่า สำหรับการประชุมในครั้งนี้ ได้หารือถึงประเด็นของการจัดทำบันทึกข้อตกลง (เพิ่มเติม ฉบับที่1) ว่าด้วยการจำหน่ายทรัพย์สินและโอนภาระทางการเงิน โครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว ช่วงแบริ่ง – สมุทรปราการ และช่วงหมอชิต - สะพานใหม่ - คูคต ของ รฟม.ให้กับกรุงเทพมหานคร (กทม.)
สำหรับรายละเอียดของการจัดทำบันทึกข้อตกลงฉบับดังกล่าว เพิ่มเติมมาจากข้อตกลงที่ได้ลงนามร่วมกันไปเมื่อปี 2561 ในครั้งที่มีการโอนทรัพย์สินและภาระหนี้ส่วนของโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว ช่วงแบริ่ง – สมุทรปราการ เนื่องจากรายละเอียดเรื่องภาระหนี้มีการเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม อีกทั้งยังมีภาระหนี้เพิ่มเติมจากส่วนของช่วงหมอชิต - สะพานใหม่ – คูคต ที่ กทม.นำไปบริหารจัดการด้วย
ส่วนภาระหนี้ที่จะบรรจุอยู่ในบันทึกข้อตกลงฉบับนี้ มีมูลหนี้ ณ 31 พ.ค.2565 รวมอยู่ที่ 53,321 ล้านบาท แบ่งเป็น หนี้ที่เกิดจากช่วงแบริ่ง - สมุทรปราการ ราว 19,150 ล้านบาท และหนี้ช่วงหมอชิต - สะพานใหม่ - คูคต ราว 34,171 ล้านบาท ภายหลังการหารือในครั้งนี้ ทาง กทม.จะต้องนำรายละเอียดภาระหนี้ทั้งหมด ไปเสนอขออนุมัติจากสภากรุงเทพมหานคร เพื่อขอเห็นชอบรับโอนทรัพย์สินและภาระหนี้
ขณะเดียวกันจากการหารือในครั้งนี้ กทม.แจ้งว่า จากการเข้ามารับตำแหน่งใหม่ของทีมผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ทำให้มีวาระที่ต้องพิจารณาเข้าสู่สภากรุงเทพมหานครค่อนข้างมาก คาดการณ์ว่าจะสามารถผลักดันข้อมูลภาระหนี้เข้าสู่การพิจารณาในอีก 2 เดือนข้างหน้า ก่อนจะเสนอไปยังกระทรวงมหาดไทย และคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่อขออนุมัติลงนามบันทึกข้อตกลงรับโอนทรัพย์สินและภาระหนี้ในโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว
นายภคพงศ์ กล่าวต่อว่า มูลหนี้ที่เกิดขึ้นนี้ เป็นการคาดการณ์โดย รฟม.ซึ่งไม่สามารถตอบได้ว่า กทม.จะมีความพร้อมรับโอนหนี้ส่วนนี้เมื่อไหร่ ดังนั้นนอกจากการคำนวณมูลหนี้ถึง 31 พ.ค.2565 คาดว่า กทม.จะนำเสนอสู่ที่ประชุมสภากรุงเทพมหานคร ทั้งนี้ รฟม.ยังคำนวณมูลหนี้ไปจนถึงสิ้นปีงบประมาณ 2565 หรือในเดือน ก.ย.2565 คาดว่าจะมีมูลหนี้เพิ่มขึ้นเป็น 54,284 ล้านบาท โดยในส่วนนี้รวมดอกเบี้ยจากเดือน เม.ย. - ก.ย.2565 ประมาณ 970 ล้านบาท หรือเฉลี่ยราว 161 ล้านบาท
“หนี้ส่วนนี้เป็นหนี้ที่เกิดจากงบประมาณการลงทุนส่วนของงานโยธาที่ รฟม.รับผิดชอบ รวมไปถึงงบเวนคืนที่ดิน และค่าจ้างที่ปรึกษา หาก กทม.ลงนามบันทึกข้อตกลงรับโอนทรัพย์สินและภาระหนี้ ก็ต้องดำเนินการจ่ายหนี้ทั้งหมดให้กับสำนักงบประมาณ โดยหนี้จะเป็นตัวเลขเท่าไหร่นั้น ก็ขึ้นอยู่กับว่า กทม.มีความพร้อมรับมอบภาระหนี้เมื่อไหร่ หากว่าช้ากว่านี้ออกไปอีก ก็จะเพิ่มภาระดอกเบี้ยที่ กทม.ต้องรับผิดชอบ”
นอกจากนี้เรื่องการโอนโครงการสายสีเขียว ให้รฟม.ดูแล นั้น มองว่าปัญหาดังกล่าวยังไม่ถึงขั้นที่ทาง กทม.จะโอนโครงการฯ กลับมาให้ รฟม.ดูแล แต่ก็มีความเป็นไปได้ เพราะโครงการยังไม่ได้รับโอนเสร็จสิ้น เพราะยังมีขั้นตอนที่ กทม.ต้องจัดการอีกเยอะ