นางพิมพ์ชนก พิตต์ฟีลด์ เอกอัครราชทูตคณะผู้แทนถาวรไทยประจำองค์การการค้าโลกและองค์การทรัพย์สินทางปัญญาโลก(WTO) เปิดเผยว่า ได้เข้าร่วมการประชุมรัฐมนตรี กลุ่มประเทศผู้ส่งออกสินค้าเกษตรสำคัญของโลก (กลุ่มเคร์นส์) ครั้งที่ 42 ในช่วงการประชุม MC12 ซึ่งไทยได้ร่วมรับรองแถลงการณ์รัฐมนตรีกลุ่มเคร์นส์
เพื่อประกาศเจตนารมณ์ของสมาชิกที่จะร่วมกันหาข้อสรุปการเจรจาการค้าสินค้าเกษตร โดยผลักดันการปฏิรูปการเจรจาสินค้าเกษตรภายใต้ WTO อย่างเป็นรูปธรรม ตระหนักถึงผลกระทบจากภัยธรรมชาติ การระบาดของโควิด-19 และความขัดแย้งในปัจจุบันที่ส่งผลต่อความมั่นคงด้านอาหารและโภชนาการที่ทวีความรุนแรงมากขึ้น
โดยที่ประชุมยังได้เรียกร้องให้สมาชิกดำเนินการค้าสินค้าเกษตรที่สอดคล้องกับกฎเกณฑ์ของ WTO เพื่อให้เกิดความเป็นธรรม และให้ประชากรโลกมีอาหารที่เพียงพอ รวมทั้งสามารถเข้าถึงอาหารได้โดยทั่วกัน ควบคู่ไปกับการปฏิรูปการค้าสินค้าเกษตรใน 3 ประเด็นหลัก ภายใต้ WTO ได้แก่ การเปิดตลาดที่จะมีการลดภาษีระหว่างประเทศสมาชิกอย่างค่อยเป็นค่อยไป
การลดการอุดหนุนที่บิดเบือนการค้าให้แก่สินค้าเกษตร และการยกเลิกการอุดหนุนส่งออก ส่วนไทยได้แสดงความมุ่งมั่นที่จะร่วมกับสมาชิกกลุ่มเคร์นส์ขับเคลื่อนการเจรจาครั้งนี้ ให้ประสบความสำเร็จ และเตรียมความพร้อมเพื่อเผชิญความท้าทายใหม่ๆ ของโลก โดยเฉพาะการเปลี่ยนแปลงจากวิกฤตทางสาธารณสุขไปสู่วิกฤตทางอาหารอย่างเต็มรูปแบบ
สำหรับกลุ่มเคร์นส์เป็นการรวมกลุ่มของประเทศผู้ส่งออกสินค้าเกษตรรายสำคัญของโลก ประกอบด้วยสมาชิก 19 ประเทศ ได้แก่ อาร์เจนตินา ออสเตรเลีย บราซิล แคนาดา ชิลี โคลอมเบีย คอสตาริกา กัวเตมาลา อินโดนีเซีย มาเลเซีย นิวซีแลนด์ ปากีสถาน ปารากวัย เปรู ฟิลิปปินส์ แอฟริกาใต้ ไทย อุรุกวัย และเวียดนาม โดยมียูเครนเป็นประเทศผู้ร่วมสังเกตการณ์ ซึ่งมีเป้าหมายเพื่อผลักดันการเปิดเสรีการค้าสินค้าเกษตรในระดับพหุภาคีภายใต้ WTO
ทั้งนี้ ในปี 2564 กลุ่มเคร์นส์มีการส่งออกสินค้าเกษตร มูลค่า 514,715 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยมีผู้ส่งออกสินค้าเกษตรสำคัญ ได้แก่ บราซิล มูลค่า 99,472 ล้านดอลลาร์สหรัฐ แคนาดา มูลค่า 60,106 ล้านดอลลาร์สหรัฐ อินโดนีเซีย มูลค่า 46,907 ล้านดอลลาร์สหรัฐ อาร์เจนตินา 42,321 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ออสเตรเลีย 37,677 ล้านดอลลาร์สหรัฐ สำหรับไทยเป็นผู้ส่งออกสำคัญลำดับที่ 6 โดยมีมูลค่าส่งออก 32,942 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือร้อยละ 2.26 ของการส่งออกสินค้าเกษตรทั่วโลก