นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) มีมติเห็นชอบหลักการการรับซื้อไฟฟ้าและอัตรารับซื้อไฟฟ้าจากขยะอุตสาหกรรมในรูปแบบ Feed-in Tariff (FiT) สำหรับปี 2565 ตามแผนการเพิ่มการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานสะอาด ภายใต้แผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย พ.ศ. 2561 - 2580 ฉบับปรับปรุงครั้งที่ 1 (PDP2018 Rev.1) ในช่วงปี พ.ศ. 2564 - 2573 (ปรับปรุงเพิ่มเติม) ปริมาณ 100 เมกะวัตต์ ในอัตรา 6.08 บาทต่อหน่วย (ไม่ร่วมอัตรา FiT Premium)
สำหรับผู้ผลิตไฟฟ้าขนาดเล็กมาก (VSPP) และกำหนดวันจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบเชิงพาณิชย์ (SCOD) ในปี 2569 โดยที่ประชุมมอบหมายให้ กกพ. ดำเนินการออกระเบียบและประกาศรับซื้อไฟฟ้าจากขยะอุตสาหกรรมในรูปแบบ FiT รวมถึงกำกับดูแลการคัดเลือกให้เป็นไปตามขั้นตอน
ทั้งนี้ หากจำเป็นต้องการมีการปรับปรุงเงื่อนไขต่างๆ (ยกเว้นอัตรารับซื้อ) มอบหมายให้คณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) พิจารณาต่อไป
นอกจากนี้ ที่ประชุม กพช. ยังมีมติเห็นชอบโครงการและแผนงานของการไฟฟ้าทั้ง 3 แห่งโดยสอดคล้องกับแผนปฏิรูปพลังงาน ได้รับการยกเว้นเงื่อนไขในการได้รับการพิจารณาจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ตามหลักการแผนบูรณาการการลงทุนและการดำเนินงานเพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านพลังงานไฟฟ้า สำหรับแผนงานและโครงการปี 2565
ซึ่งการยกเว้นเงื่อนไขดังกล่าวสำหรับโครงการและแผนงาน ปี 2565 เพื่อให้การไฟฟ้าทั้ง 3 แห่ง สามารถพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านพลังงานได้อย่างต่อเนื่อง และให้บริการผู้ใช้ไฟฟ้าอย่างมีประสิทธิภาพ
อย่างไรก็ดี ที่ประชุมได้รับทราบหลักการร่างสัญญาซื้อขายไฟฟ้า (PPA) โครงการปากลาย และโครงการหลวงพระบาง และมอบหมายให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ลงนามใน PPA โครงการปากลาย และโครงการหลวงพระบาง ที่ผ่านการตรวจพิจารณาจากสำนักงานอัยการสูงสุดแล้ว ทั้งนี้ หากจำเป็นต้องมีการแก้ไข PPA ที่ไม่กระทบต่ออัตราค่าไฟฟ้าที่ระบุไว้ในร่าง PPA และเงื่อนไขสำคัญ
รวมทั้งการปรับกำหนดเวลาของแผนงาน (Milestones) ที่เกี่ยวข้องกับกำหนดการจ่ายไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ในช่วงก่อนการลงนาม PPA ให้อยู่ในอำนาจการพิจารณาของคณะกรรมการ กฟผ. ในการแก้ไข
นายสุพัฒนพงษ์ กล่าวต่อไปอีกว่า ด้วยสถานการณ์ความไม่สงบระหว่างสหพันธรัฐรัสเซียและประเทศยูเครนที่ยังไม่มีข้อยุติ ส่งผลให้ราคาก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) ในตลาดโลกมีความผันผวนและปรับตัวเพิ่มขึ้นในระดับสูงจากมาตรการคว่ำบาตรรัสเซียของหลายประเทศทั่วโลก
อีกทั้งปัจจุบันการผลิตไฟฟ้าของประเทศไทยพึ่งพาเชื้อเพลิงก๊าซธรรมชาติเป็นหลักจึงส่งผลให้ค่าไฟฟ้าของผู้ใช้ไฟฟ้าต้องปรับเพิ่มสูงขึ้น ส่งผลกระทบต่อด้านเศรษฐกิจและชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชน
ที่ประชุม กพช. จึงได้มีมติเห็นชอบการเลื่อนแผนการปลดเครื่องโรงไฟฟ้าพลังความร้อนแม่เมาะ เครื่องที่ 8 – 11 ออกไปจนถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2568 เพื่อเป็นอีกแนวทางหนึ่งที่จะสามารถช่วยลดต้นทุนการผลิตไฟฟ้าจากสถานการณ์ LNG มีราคาสูง ซึ่งจะสามารถช่วยลดค่าไฟฟ้าของผู้ใช้ไฟฟ้าได้
รวมถึงสามารถบรรเทาผลกระทบจากสถานการณ์การผลิตก๊าซธรรมชาติของแหล่งเอราวัณ (G1/61) ที่ลดลงในช่วงเปลี่ยนผ่านการให้สัมปทานก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทย ซึ่งไม่กระทบต่อเป้าหมายการลดการปลดปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) ของประเทศตามเป้าหมายการมีส่วนร่วมที่ประเทศกำหนด ภายในปี 2573 และมีความสอดคล้องกับรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ (EHIA) โดยที่ประชุมมอบหมายให้ กฟผ. และคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้อง
ที่ประชุม กพช. ได้รับทราบผลการบริหารอัตราค่าไฟฟ้าตามสูตรการปรับอัตราค่าไฟฟ้าโดยอัตโนมัติ (Ft) ช่วงปี 2563 – ปัจจุบัน ซึ่งมอบหมายให้ กฟผ. ช่วยรับภาระค่า Ft ที่เพิ่มขึ้น โดยชะลอการนำค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นจริงที่สูงขึ้นตั้งแต่งวดเดือนกันยายน 2564 – เดือนธันวาคม 2564 จนถึงปัจจุบัน ที่เรียกเก็บกับประชาชนในระยะนี้ไว้ก่อน
เพื่อช่วยเหลือภาระค่าใช้จ่ายของประชาชนตามมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 3 มีนาคม 2563 และวันที่ 29 มีนาคม 2565 และมอบหมายให้ฝ่ายเลขานุการฯ นำเสนอ ครม. รับทราบผลการดำเนินงานตามมติ ครม. เมื่อวันที่ 3 มีนาคม 2563 และวันที่ 29 มีนาคม 2565 ต่อไป