วันนี้ (23 มิ.ย.65) นายสุวัจน์ ลิปตพัลลภ นายกสภามหาวิทยาลัยราชภัฎนครราชสีมา ได้เป็นเจ้าภาพเลี้ยงต้อนรับคณะผู้ประเมินจากองค์การยูเนสโก้ ให้โคราชเป็นอุทยานธรณีโลก
นายสุวัจน์ กล่าวว่า เรื่องนี้เป็นเรื่องสำคัญเพราะจะพลิกจังหวัดนครราชสีมา ให้เป็นจังหวัดท่องเที่ยวแบบเป็นอินเตอร์ สามารถสร้าง Content ส่งเสริมภาพลักษณ์ด้านท่องเที่ยว
ทั้งนี้ องค์การยูเนสโก้ ได้มอบหมายให้ MS.Marie-Luise Frey ผู้ประเมินอาวุโสจากสหพันธรัฐเยอรมันณี Ms.Sarah Gamble ผู้ประเมินจากประเทศแคนนาดา และ Dr.Jeon Yongmun ผู้มีประสบการณ์ประเมินจีโอพาร์คโลกของยูเนสโกจากประเทศเกาหลีใต้ เดินทางมาประเมิน พิพิธภัณฑ์อุทยานธรณีโคราช สถาบันวิจัยและพิพิธภัณฑ์ไม้กลายเป็นหิน และ ทรัพยากรธรณี บ้านโกรกเดือนห้า ต.สุรนารี อ.เมือง จ.นครราชสีมา เพื่อรวบรวมข้อมูลและหลักฐานประกอบการรับรองอุทยานธรณีโคราช เพื่อการรับรองให้เป็นอุทยานธรณีโลก ของ ยูเนสโก้ ระหว่างวันที่ 22-26 มิ.ย.2565
โดยจะมีการลงพื้นที่ตรวจประเมินภาคสนาม จำนวน 17 แหล่งสำคัญทางธรณีวิทยา ใน 5 อำเภอ ของจังหวัดนครราชสีมา ได้แก่
1.สถาบันวิจัยไม้กลายเป็นหิน ช้างดึกดำบรรพ์และไดโนเสาร์
2.โรงเรียนพันดุง
3.แหล่งผลิตเกลือภูมิปัญญาบ้านพันดุง
4.ชุมชนโพนสูง
5.แหล่งตัดหินสีคิ้ว
6.เขาจันทน์งาม
7.ศูนย์เรียนรู้ กฟผ.
8.อ่างพักน้ำตอนบนลำตะคองสูบกลับ(เขาเควสต้า)
9. ผายายเที่ยง
10.ชุมชนไท-ยวน
11.ชุมชนและปราสาทพนมวัน
12.โรงเรียนท่าช้างราษฎร์บำรุง
13.ไทรงาม ท่าช้าง
14.กลุ่มทอเสื่อบ้านท่าช้าง
15.เรือนรักษ์รถไฟ
16.พระนอนหินทราย
17.แหล่งตัดหินบ้านส้มกบงาม
ทั้งนี้ได้มีการนำเสนอข้อมูลการพัฒนา ผลกระทบ ประโยชน์รวมถึงศักยภาพของชุมชน เพื่อให้เห็นภาพรวมของแหล่งเควสต้าของอุทยานธรณีโคราช ที่มีภูมิประเทศสวยงามโดดเด่นที่เป็นอัตลักษณ์ของอุทยานธรณีโคราช
ผศ.ดร.ประเทือง จินตสกุล ผู้อำนวยการอุทยานธรณีโคราช เปิดเผยว่า โคราชจีโอพาร์ค ดินแดนแห่งเควสต้าและฟอสซิส Cuesta & Fossil Land ครอบคลุมพื้นที่ลุ่มน้ำลำตะคองใน 5 อำเภอของจังหวัดนครราชสีมา จำนวน 3,167 ตร.กม. ได้แก่ อำเภอสีคิ้ว อำเภอสูงเนิน อำเภอขามทะเลสอ อำเภอเมือง และ อำเภอเฉลิมพระเกียรติ
มีแหล่งที่มีความสำคัญระดับนานาชาติระดับชาติและท้องถิ่นในพื้นที่อุทยานธรณีโคราชมากถึง 39 แหล่ง ประกอบด้วยแหล่งธรณี จำนวน 21 แห่ง และเป็นแหล่งธรรมชาติอื่นและแหล่งวัฒนธรรมที่เชื่อมโยงกับแหล่งธรณีวิทยาถึง 18 แห่ง
นอกจากนี้ อุทยานธรณีโคราช ยังมีมรดกที่จับต้องไม่ได้ อาทิ ความเชื่อและภูมิปัญญาท้องถิ่นที่สำคัญอีกมากมาย อุทยานธรณีโคราชตั้งอยู่บนที่ราบสูงโคราชขอบด้านตะวันตกเฉียงใต้ ซึ่งมีแนวเขาเควสตาสองชั้นเป็นแลนด์มาร์คที่โดดเด่นและไม่ซ้ำอุทยานธรณีแห่งใดในเครือข่ายอุทยานธรณีโลกซึ่งถูกรองรับด้วยแผ่นหินที่มีอายุราว 150-90 ล้านปี เรียกว่า กลุ่มหินโคราช ซึ่งพื้นที่บริเวณนี้เป็นห้องเรียนกลางแจ้งของ นักศึกษาและนักธรณีวิทยา
ดังนั้น ถ้าผ่านการประเมินแล้วจะช่วยส่งเสริมการท่องเที่ยวภายในประเทศ จะทำให้มีนักท่องเที่ยวจากต่างประเทศเดินทางเข้ามาในพื้นที่จังหวัดนครราชสีมาเพิ่มมากขึ้นอย่างแน่นอน