“ดารุมะ ซูชิ” เอฟเฟกต์ สคบ.ไล่เช็คทุกธุรกิจทำ Voucher หวั่นซ้ำรอย

23 มิ.ย. 2565 | 23:23 น.

“ดารุมะ ซูชิ” เอฟเฟกต์ สคบ.ไล่เช็คทุกธุรกิจที่ขายคูปอง หรือ Voucher หลังพบหลายธุรกิจมีโปรโมชั่น และทำการตลาดในลักษณะนี้จำนวนมาก หวั่นซ้ำรอย ผู้บริโภคได้รับความเสียหายเหมือนเคสร้านอาหารญี่ปุ่น เปิดบุฟเฟ่ต์แซนมอน แย้มออกมาตรการมาคุม ส่วนคดีคืบหน้ายังไงต้องติดตาม

กรณีของร้านอาหารญี่ปุ่น “ดารุมะ ซูชิ” (Daruma Sushi) ขายคูปองทิพย์ หรือ e-Voucher บุฟเฟ่ต์แซลมอน ยังคงมีความเคลื่อนไหวต่อเนื่องแม้ว่าทางเจ้าหน้าที่ตำรวจจะสามารถจับกุม นายเมธา ชลิงสุข หรือ บอล เจ้าของร้าน ที่สนามบินสุวรรณภูมิ ภายหลังจากนั่งเครื่องบินกลับมาจากไต้หวันเดินทางกลับเข้าประเทศได้แล้ว 

 

หลังจากเหตุการณ์นี้ พบว่ามีผู้เสียหายไปเข้าไปร้องเรียนกับสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) รวมทั้งร้องเรียนกับหน่วยงานอื่น ๆ อีกจำนวนมาก และมูลค่าความเสียหายก็เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ล่าสุดหน่วยงานต่าง ๆ ยังร่วมกันไล่เช็คบิลธุรกิจ โดยผลักดันคดีนี้เป็นคดีพิเศษ อยู่ภายใต้การดำเนินการของกรมสอบสวนคดีพิเศษ หรือ DSI

 

ส่วนทางฝั่งรัฐบาลเองก็ติดตามเรื่องนี้ โดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม มอบหมายให้ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องช่วยกันดูแลเคสดังกล่าวทุกรูปแบบ โดยเฉพาะการช่วยเหลือทั้งผู้เสียหาย และพนักงานที่ถูกลอยแพ 

 

อีกฟากหนึ่งในด้านของการขยายผลนั้น ที่ผ่านมา นายอนุชา นาคาศัย รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ในฐานะกำกับดูแล สคบ. ได้สั่งให้สคบ.ไปขยายผลในเรื่องนี้ โดยเฉพาะการไล่ตรวจสอบผู้ประกอบธุรกิจที่ทำธุรกิจในลักษณะของการขายคูปอง หรือ Voucher เช่นเดียวกัน เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดเรื่องซ้ำรอยอย่างกรณี "ดารุมะ ซูชิ"

 

“ดารุมะ ซูชิ” (Daruma Sushi) ขายคูปองทิพย์ หรือ e-Voucher บุฟเฟ่ต์แซลมอน

ล่าสุด นายจิติภัทร์ บุญสม ผู้อำนวยการกองคุ้มครองผู้บริโภคด้านโฆษณา สคบ. เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า นายอนุชา นาคาศัย รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ได้มอบหมายให้สคบ. ไล่ขยายผลผู้ประกอบธุรกิจอื่น ๆ นอกจากรายของดารุมะ ซูชิ เพราะปัจจุบันเห็นว่ายังมีหลายธุรกิจ หรือหลายสินค้าที่มีการขายคูปอง หรือ Voucher ที่คล้าย ๆ กัน

 

“จริง ๆ แล้วเรื่องการขายคูปอง ก็มีรายอื่น ๆ หลากหลายธุรกิจเหมือนกัน เช่น อาหาร ล้างรถยนต์ อาหารเสริม และโปรแกรมเสริมความงาม โดยที่ผ่านมาพบการร้องเรียนหลายกรณี ทั้งการขายคูปองให้ผู้บริโภคไปแล้วก็ปิดให้บริการ ความเสียหายแต่ละครั้งก็ค่อนข้างสูง และผู้บริโภคก็ได้รับความเดือดร้อนจำนวนมาก” นายจิติภัทร์ ระบุ

 

ทั้งนี้ในแนวทางการตรวจสอบขยายผลเรื่องดังกล่าว สคบ.อาจต้องร่วมหารือกับหน่วยงานต่าง ๆ เพื่อพิจารณาออกมาตรการมารองรับให้ชัดเจน เพื่อช่วยคุ้มครองผู้บริโภค เช่น การควบคุมจำนวนการออกคูปองล่วงหน้า หรือออกได้ไม่เกิน 50% ของยอดขายที่ผ่านมา 6 เดือน เพราะที่ผ่านมาผู้ประกอบธุรกิจหลายรายมักออกคูปองราคาถูกมากเกินไปไม่จำกัดจำนวน และทำให้เกิดปัญหาตามมาเหมือนกรณีนี้  

 

นายจิติภัทร์ ยอมรับว่า ในการออกมาตรการมานั้นก็ต้องดูให้เกิดความสมดุล และเหมาะสม เพราะรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี มอบหมายมาว่า การจะออกมาตรการมาบังคับใช้นอกจากจะดูว่าเป็นประโยชน์กับผู้บริโภคแล้ว ก็ต้องดูฝั่งผู้ประกอบการ ภาคการค้า และระบบเศรษฐกิจโดยรวม ไม่ให้ได้รับผลกระทบด้วย

 

“ดารุมะ ซูชิ” (Daruma Sushi) ขายคูปองทิพย์ หรือ e-Voucher บุฟเฟ่ต์แซลมอน

อย่างไรก็ตามในด้านการดำเนินคดีนั้น รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ยังได้มอบหมายให้ สคบ. ประสานงานกับกรมสอบสวนคดีพิเศษ DSI โดยตอนนี้ให้เชิญตัวแทนผู้ร้องไปยื่นเรื่องร้องทุกข์กับ DSI แล้ว และสคบ.ยังเตรียมรวบรวมข้อมูลการร้องเรียนของผู้บริโภคทั้งหมดส่งไปยัง DSI เพื่อพิจารณาสืบสวนสอบสวนตามขั้นตอนของคดีพิเศษต่อไป 

 

นายจิติภัทร์ ระบุว่า ขณะนี้ยอดการร้องเรียนกรณีความเสียหายจากการซื้อคูปองทิพย์ของ "ดารุมะ ซูชิ" กับสคบ. พุ่งไปถึง 900 ราย ซึ่งเพิ่มขึ้นจากวันแรกคือวันที่ 18 มิถุนายน 2565 ที่ผ่านมา ที่มีจำนวน 105 ราย โดยตอนนี้มีผู้เสียหายแยกเป็นกลุ่มต่าง ๆ ดังนี้ 

  • กลุ่มผู้บริโภคที่ซื้อคูปอง Voucher
  • กลุ่มผู้ลงทุนแฟรนไชส์ 
  • ผู้ที่ซื้อคูปองเพื่อนำไปจำหน่ายต่อ

 

ทั้งนี้จากการรายงานข้อมูลความเสียหายเบื้องต้น โดยจากการสอบข้อเท็จจริงกับบริษัทผู้จัดทำแอปพลิเคชัน Daruma Sushi ซึ่งเป็นผู้ได้รับว่าจ้างให้ทำแอปพลิเคชัน และเปิดขาย e-Voucher บุฟเฟ่ต์แซลมอน พบว่า

 

ตั้งแต่มีการเปิดขาย e-Voucher มาตั้งแต่ปีที่แล้วเกือบ 6 แสนใบ ใช้ไปแล้วประมาณ 4 แสนใบ เหลือที่ยังไม่ได้ใช้ทั้งหมด 1.29 แสนใบ คิดเป็นจำนวนผู้ถือ e-Voucher ซึ่งเป็นผู้เสียหายที่ยังไม่ได้ใช้ประมาณ 3.3 หมื่นราย