ส.อ.ท.จับมือพันธมิตร ล้อมคอก 800 โรงงาน ทิ้งกากอุตฯ ออกนอกระบบ

24 มิ.ย. 2565 | 07:30 น.
อัปเดตล่าสุด :24 มิ.ย. 2565 | 14:53 น.

ส.อ.ท. ผนึกพันธมิตร สร้างมาตรฐานโรงงานอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ ด้วยตราสัญลักษณ์ Eco Factory For Waste Processor ไล่บี้ตรวจประเมินโรงงานกำจัดกากอุตสาหกรรม 800 แห่ง ตอบสนองนโยบาย BCG ของภาครัฐ และลดการทิ้งกากอุตฯ ออกนอกระบบ

 

นายธีระพล ติรวศิน ประธานกลุ่มอุตสาหกรรมการจัดการเพื่อสิ่งแวดล้อม สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า จากที่คณะกรรมการจากภาคส่วนต่าง ๆ อาทิเช่น กรมโรงงานอุตสาหกรรม กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ กรมควบคุมมลพิษ สำนักงานมาตรฐานอุตสาหกรรม และผู้ประกอบการอุตสาหกรรมจัดการกากของเสีย ได้ร่วมกันจัดทำข้อกำหนดในการส่งเสริมมาตรฐานโรงงานอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ และได้ประกาศใช้ข้อกำหนดมาตรฐานโรงงานอุตสาหกรรมเชิงนิเวศสำหรับผู้ประกอบการจัดการของเสีย (Eco Factory For Waste Processor) ตั้งแต่วันที่ 21 มีนาคม 2565 ที่ผ่านมา เพื่อยกระดับและส่งเสริมผู้ประกอบการกำจัดและบำบัดกากอุตสาหกรรม ให้มีการดำเนินธุรกิจที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อม สังคม และเศรษฐกิจ มุ่งสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน

 

ส.อ.ท.จับมือพันธมิตร ล้อมคอก 800 โรงงาน ทิ้งกากอุตฯ ออกนอกระบบ

 

ทั้งนี้ ในช่วงหลายปีที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบัน มีโรงงานรีไซเคิล บำบัด หรือกำจัดกากอุตสาหกรรมเพิ่มขึ้นจำนวนมาก และพบว่ามีการทิ้งกากอุตสาหกรรมออกนอกระบบเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง สาเหตุส่วนหนึ่งเกิดจากการดำเนินธุรกิจที่ไม่ได้มาตรฐาน และต้องการลดต้นทุนการดำเนินการ ซึ่งมีตัวอย่างโรงงานรีไซเคิลบางแห่งมีการแจ้งนำกากอุตสาหกรรมเข้าไปกำจัดในโรงงาน แต่เมื่อภาครัฐเข้าไปตรวจสอบพบว่าไม่มีเครื่องจักรตามที่แจ้งดำเนินการไว้ ซึ่งทำให้กากอุตสาหกรรมที่รับมานั้นไม่ได้รับการบำบัดหรือกำจัดใด ๆ และนำไปสู่การทิ้งกากอุตฯออกนอกระบบ สร้างผลกระทบและภาพลักษณ์ที่เสียหายต่อผู้ประกอบการที่อยู่ในอุตสาหกรรมนี้ และส่งผลกระทบต่อความยั่งยืนภาคอุตสาหกรรมต่าง ๆ ในภาพรวมด้วยเช่นกัน

 

 ดังนั้นเพื่อการสร้างมาตรฐานและความเชื่อมั่นให้กับทุกภาคส่วน กลุ่มอุตสาหกรรมการจัดการเพื่อสิ่งแวดล้อม จึงได้ร่วมมือกับสถาบันนํ้าและสิ่งแวดล้อมเพื่อความยั่งยืน การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย(กนอ.) และหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้องในการช่วยพัฒนามาตรฐานตราสัญลักษณ์ที่แสดงว่าผู้ประกอบการอุตสาหกรรมจัดการของเสีย มีการดำเนินธุรกิจที่ได้มาตรฐาน มีความรับผิดชอบต่อสังคม คำนึงถึงสิ่งแวดล้อม สังคม และเศรษฐกิจ และสอดคล้องตาม BCG Model จึงได้ร่วมกันสนับสนุนและส่งเสริมให้สมาชิกในกลุ่มฯ รวมทั้งผู้ประกอบการจัดการของเสียอุตสาหกรรมที่อยู่ราว 800 แห่ง ได้รับการรับรองมาตรฐาน Eco Factory for Waste Processor ภายใน ปี 2568

 

 “ส.อ.ท.ตั้งเป้าหมายไว้ว่าภายในปี 2568 ผู้ประกอบการจัดการของเสียที่เป็นสมาชิกของสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยต้องได้รับการรับรองมาตรฐาน Eco Factory for Waste Processor 100% และผู้ประกอบการจัดการของเสียที่ประกอบกิจการอยู่ในปัจจุบัน จะต้องได้รับการรับรองมากกว่า 80% ของผู้ประกอบกิจการทั้งหมด มีการดำเนินธุรกิจที่ได้มาตรฐานหลักวิชาการ ถูกต้องตามกฎหมาย คำนึงถึงการประกอบการที่มีความรับผิดชอบต่อสังคม เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และส่งเสริมเศรษฐกิจหมุนเวียน รวมทั้งส่งเสริมการพัฒนาเศรษฐกิจชุมชนให้เติบโตควบคู่กับเศรษฐกิจอุตสาหกรรม สอดคล้องตามเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน”

 

นายธีระพล กล่าวเสริมว่า สำหรับการตรวจประเมินตามมาตรฐาน Eco Factory For Waste Processor จะดำเนินงานตรวจประเมินตามเกณฑ์ที่กำหนดทุก ๆ 3 ปี ภายใต้การรับรองของคณะกรรมการที่เป็นผู้ทรงคุณวุฒิ จากราชการและเอกชน ที่จะเป็นผู้ตรวจสอบ ซึ่งเท่ากับว่าจะมีโรงงานต้องถูกตรวจประเมินปีละประมาณ 300 แห่ง

 

ล่าสุดได้มีบริษัทผู้นำด้านการจัดการกากอุตสาหกรรม ได้เข้าร่วมแสดงเจตนารมณ์เพื่อขอรับรองมาตรฐาน Eco Factory for Waste Processor นำร่องแล้ว 16 ราย ตั้งอยู่ในจังหวัดสระบุรี 7 ราย ประกอบด้วย บริษัท เอส ซี ไอ อีโค่ เซอร์วิสเซส จำกัด บริษัท ทีพีไอ โพลีน จำกัด (มหาชน) บริษัท ปูนซีเมนต์นครหลวง จำกัด (มหาชน) 2 แห่ง บริษัท อินทรี อีโคไซเคิล จำกัด บริษัท ทีเออาร์เอฟ จำกัด บริษัท ไพโร เอนเนอร์ยี่ จำกัด และอยู่ในจังหวัดชลบุรี 3 แห่ง ได้แก่ บริษัท มัตซึดะ ซังเกียว (ประเทศไทย) จำกัด บริษัท ส.กนกการจัดการสิ่งเเวดล้อม จำกัด และ บริษัท ซิมสุลาลัย จำกัด และจังหวัดอื่นๆ เช่น บริษัท สยามเอ็นไวรอนเมนทอลเทคโนโลยี่ จำกัด จ.ระยอง บริษัท โปรเฟสชั่นแนล เวสต์ เทคโนโลยี (1999) จำกัด (มหาชน) สระแก้ว  บริษัท ไฟเบอร์ พัฒน์ จำกัด สมุทรปราการ บริษัท มัตซึดะ ซังเกียว (ประเทศไทย) จำกัด พระนคร ศรีอยุธยา บริษัท ปูนซีเมนต์ไทย (ลำปาง) จำกัด และบริษัท ปูนซีเมนต์ไทย (ทุ่งสง) จำกัด นครศรีธรรมราช

 

นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ได้กล่าวว่า ตราสัญลักษณ์ Eco Factory For Waste Processor เป็นความร่วมมือระหว่าง ส.อ.ท. และ กนอ.เพื่อให้เกิดความยั่งยืนของภาคอุตสาหกรรมในการดำเนินธุรกิจ รวมทั้งตอบสนองนโยบาย BCG ของภาครัฐ ในการใช้ประโยชน์กากอุตสาหกรรมตามหลักเศรษฐกิจหมุนเวียนหรือ Circular Economy ทั้งนี้ สภาอุตสาหกรรม จะประชาสัมพันธ์และเชิญชวนให้โรงงานต่าง ๆ ที่เป็นสมาชิกของ ส.อ.ท. สนับสนุนและเลือกใช้บริการจากโรงงาน รีไซเคิล หรือบำบัด หรือ กำจัดกากอุตสาหกรรมที่ได้รับการรับรองตราสัญลักษณ์นี้ เท่านั้น

 

เกรียงไกร เธียรนุกุล

 

นายวีริศ อัมระปาล ผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) กล่าวว่า ความร่วมมือระหว่าง กนอ. และ ส.อ.ท. ในการพัฒนามาตรฐาน Eco Factory For Waste Processor ในครั้งนี้จะเป็นความร่วมมือที่สำคัญ ในการยกระดับผู้ประกอบการจัดการของเสียให้มีการดำเนินการที่สอดคล้องตามแนวทางการพัฒนาที่ยั่งยืน โดย กนอ. จะดำเนินการส่งเสริมให้ Waste Processor ในนิคมอุตสาหกรรมที่มีอยู่ประมาณ 80 แห่ง ได้รับรองมาตรฐานนี้ครบ 100% ภายในปี 2568 และจะส่งเสริมให้โรงงานอุตสาหกรรมในนิคมฯ เลือกใช้บริการบำบัดและกำจัดของเสียจากผู้ประกอบการจัดการของเสียที่ได้รับรองมาตรฐาน และที่สำคัญคือการผลักดันสิทธิประโยชน์ต่างๆ ให้กับ Waste Processor ที่ได้รับรองมาตรฐานนี้

 

วีริศ  อัมระปาล

 

จากข้อมูลของกรมโรงงานอุตสาหกรรม (กรอ.) ปีงบประมาณ 2565 ตั้งแต่เดือนตุลาคม 2564 ถึงมีนาคม 2565 กรอ.ได้ตั้งเป้าหมายปริมาณกากอุตสาหกรรมที่เป็นของเสียอันตรายได้รับการจัดการอยู่ที่ 1.3 ล้านตันต่อปี โดยในช่วง 6 เดือนดังกล่าว สามารถดำเนินการได้ 0.58 ล้านตัน ขณะที่ปริมาณกากอุตสาหกรรมเข้าสู่ระบบตั้งเป้าหมายที่ 17 ล้านตันต่อปี ในช่วง 6 เดือน สามารถดำเนินการได้ 8.03 ล้านตัน