วันนี้(27 มิ.ย.65) นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ เลขาธิการพรรคสร้างอนาคตไทย และอดีตรมว.พลังงาน ได้โพสต์เฟซบุ๊กส่วนตัว ในหัวข้อ “ราคาน้ำมัน ต้องเป็นวาระแห่งชาติได้แล้วครับ” ระบุว่า
บอกเลยว่า วันนี้ถ้าถามว่ามีใครได้รับผลกระทบจากราคาน้ำมันที่สูงขึ้นมากไหมครับ คำตอบคงเป็นว่า ไม่มีใครไม่ได้รับผลกระทบ ขอเล่าสถานการณ์ราคาน้ำมันให้ฟังครับ ว่ามีที่มาที่ไปอย่างนี้ครับ
ก่อนโควิด ราคาย้อนหลัง 5 ปี ราคาน้ำมันไม่สูงมาก
- ราคาสูงสุด 75 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ในช่วง ตุลา 61
- ราคาสวิงระหว่าง 40-60 ดอลลาร์ต่อบาร์เรลในช่วงปี 2558-2563
พอมีสถานการณ์โควิด การขนส่ง เดินทางหยุด ราคาน้ำมันลดลงไปเป็นติดลบ
- เมษา 2563 - 37.63 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล
หลังสถานการณ์โควิดที่รุนแรงลดลง ราคาขึ้นก็มาเรื่อยๆ จนเกือบ 61%
มีข้อมูลจาก IEA ว่าสัปดาห์ก่อน น้ำมันแพงขึ้นจากเดือนที่แล้ว 11% และแพงจากปีก่อนถึง 70%
ธนาคารโลกบอกว่า วิกฤติพลังงานรอบนี้ใหญ่ที่สุดนับตั้งแต่วิกฤติปี 1973 เลย
สรุปง่ายๆ ครับว่า วันนี้น้ำมันราคาแพง เพราะ
1. การผลิต และอุปทานน้ำมัน ไม่เพิ่ม
2. แต่ความต้องการปริมาณน้ำมัน เพิ่มหลังโควิดขึ้นมาก
3. ช็อกจากสงครามรัสเซีย-ยูเครน
การคาดการณ์ราคาจาก IEA, US EIA, Bloomberg, The Washington Post บอกว่า ราคาอาจขึ้นถึง 120-150 ดอลลาร์ หรืออาจจะ 180 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล สิ้นปีนี้
ขนาด US Energy Information Administration (EIA) ที่เคยบอกว่าน้ำมันจะลดลง 98.20$ แต่ก็ได้ออกมาบอกว่าตัวเลขประมาณการนี้ “มีความไม่แน่นอนสูง”
จากข้อมูลการคาดการณ์ของ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยบอกว่า
ราคาน้ำมันที่ขึ้น 1 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล จะทำให้ราคาน้ำมันขายปลีกในประเทศเพิ่มขึ้น 25 สตางค์ ต่อลิตร ดังนั้น
- ถ้าขึ้นเป็น 150 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ดีเซลก็อาจจะขึ้นอีก7.50 เกือบ 50 บาท
- ถ้าขึ้นเป็น 180 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ดีเซลก็อาจจะขึ้นอีก 15 เกือบ 60 บาท
- คนไทยอาจได้เห็นน้ำมันดีเซลลิตรละ 60 บาท
เห็นข้อมูลนี้แล้ว จะไม่ให้ผมบอกได้อย่างไรครับ ว่า ราคาน้ำมัน ต้องเป็นวาระแห่งชาติ
วันนี้การแก้ปัญหาเรื่องน้ำมันยังขาดการบูรณาการร่วมกันยังไม่สามารถสร้างความเชื่อมั่นต่อพี่น้องประชาชนได้ ผลกระทบเรื่องน้ำมันแพงมันเกี่ยวข้องกับปัญหาปากท้องประชาชน เชื่อมโยงกันเป็นลูกโซ่
ดังนั้นการแก้ปัญหาทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องร่วมมือกันแต่วันนี้ ทั้งกระทรวงพลังงาน พาณิชย์ คลัง และคมนาคม ยังคงต่างคนต่างเดินเพราะปัญหาผลกระทบต่างๆ มาจากปัจจัยภายนอกที่ยากจะควบคุม หากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไม่ร่วมมือกันก็ยากที่จะแก้ไขให้ตอบโจทย์ความเดือดร้อนของประชาชนได้ครับ