กกพ.คลอดเกณฑ์รับซื้อ ไฟฟ้าขยะชุมชน ยื่นข้อเสนอต้น ก.ค. เงินสะพัด 5 หมื่นล้าน

27 มิ.ย. 2565 | 06:42 น.
อัปเดตล่าสุด :27 มิ.ย. 2565 | 13:59 น.

กกพ.จ่อประกาศหลักเกณ์รับซื้อไฟฟ้าจากขยะชุมชน ต้น ก.ค.นี้ หลัง กพช. ไฟเขียว 34 โครงการ กำลังผลิต 282 เมกะวัตต์ วีเอสพีพีได้รับอัตราค่าไฟฟ้า 5.08 บาทต่อหน่วย คาดเงินลงทุนสะพัด 5 หมื่นล้าน ช่วยสนับสนุนลดคาร์บอนไดออกไซด์

 

นายคมกฤช ตันตระวาณิชย์ เลขาธิการคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ในฐานะโฆษก กกพ. เปิดเผยว่า จากที่คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ที่มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม เป็นประธาน มีมติเห็นชอบอัตรารับซื้อไฟฟ้าจากขยะชุมชนในรูปแบบ Feed-in Tariff (FiT) สำหรับปี 2565 ภายใต้แผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย พ.ศ. 2561-2580 ฉบับปรับปรุงครั้งที่ 1 (PDP2018 Rev.1) สำหรับผู้ผลิตไฟฟ้าขนาดเล็กมาก (VSPP) และผู้ผลิตไฟฟ้ารายเล็ก (SPP) รวม 34 โครงการ ปริมาณรับซื้อไฟฟ้ารวม 282.98 เมกะวัตต์ ระยะเวลาสนับสนุน 20 ปี และกำหนดวันจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบเชิงพาณิชย์ (SCOD) ในปี 2568-2569 โดยมอบหมายให้คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ไปดำเนินการการออกระเบียบและประกาศรับซื้อไฟฟ้านั้น

 

ล่าสุดทาง กกพ. ได้ดำเนินการจัดทำหลักเกณฑ์การรับซื้อไฟฟ้าของโครงการดังกล่าว เสร็จเรียบร้อยแล้ว และจะนำเสนอบอร์ด กกพ.เห็นชอบภายในสัปดาห์นี้ และออกประกาศ เพื่อให้การไฟฟ้าฝ่ายจำหน่าย (การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) และการไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) เปิดรับยื่นข้อเสนอรับซื้อไฟฟ้าในช่วงต้นเดือนกรกฎาคม 2565 ต่อไป โดยแต่ละโครงการที่เป็น VSPP จะมีปริมาณไฟฟ้าขายเข้าระบบไม่เกิน 10 เมกะวัตต์ และโครงการที่เป็น SPP จะมีปริมาณไฟฟ้าขายเข้าระบบไม่เกิน 50 เมกะวัตต์ คาดว่าจะก่อให้เกิดการลงทุนราว 5 หมื่นล้านบาท

 

กกพ.คลอดเกณฑ์รับซื้อ ไฟฟ้าขยะชุมชน ยื่นข้อเสนอต้น ก.ค. เงินสะพัด 5 หมื่นล้าน

 

สำหรับโครงการดังกล่าวนี้ อยู่ภายใต้แผน PDP2018 Rev.1 ตามกรอบอัตรารับซื้อไฟฟ้าสูงสุดตามมติ กพช. เมื่อวันที่ 5 พฤศจิกายน 2564 เพื่อใช้สำหรับการออกระเบียบและประกาศเชิญชวนการรับซื้อไฟฟ้า ปริมาณรับซื้อรวมไม่เกิน 400 เมกะวัตต์ ซึ่งปัจจุบันองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ได้รับความเห็นชอบจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย(มท.) มีจำนวน 34 โครงการ ปริมาณเสนอขาย 282.98 เมกะวัตต์ ส่วนที่เหลืออยู่ระหว่างการดำเนินการของ มท. เพื่อให้ได้ปริมาณเสนอขายครบ 400 เมกะวัตต์

 

 

ทั้งนี้ มีอัตรารับซื้อไฟฟ้าจากขยะชุมชน ดังนี้ (1) โครงการผลิตไฟฟ้าจากขยะชุมชนในรูปแบบ FiT สำหรับ VSPP ปี 2565 ที่กำลังผลิตติดตั้งน้อยกว่าหรือเท่ากับ 10 เมกะวัตต์ อัตรารับซื้อไฟฟ้าส่วนคงที่ (FiT fixed : FiTF) อยู่ที่ 2.39 บาทต่อหน่วย และอัตรารับซื้อไฟฟ้าส่วนแปรผัน (FiT variable : FiTV) อยู่ที่ 2.69 บาทต่อหน่วย และ FiT อยู่ที่ 5.08 บาทต่อหน่วย ระยะเวลาสนับสนุน 20 ปี มี FiT Premium 8 ปีแรก อยู่ที่ 0.70 บาทต่อหน่วย และ SPP ที่กำลังผลิตติดตั้งมากกว่า 10 เมกะวัตต์  แต่ไม่เกิน 50 เมกะวัตต์ อัตรา FiTF อยู่ที่ 1.81 บาทต่อหน่วย  FiTV อยู่ 1.85 บาทต่อหน่วย ที่และ FiT อยู่ที่ 3.66 บาทต่อหน่วย ระยะเวลาสนับสนุน 20 ปี

 

แหล่งข่าวจากกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) กล่าวว่า โครงการดังกล่าวนี้ จะช่วยสนับสนุนการบรรลุเป้าหมาย ของแผนแม่บทการบริหารจัดการขยะมูลฝอยของประเทศ พ.ศ. 2559 - 2564 และร่างแผนปฏิบัติการ ด้านการจัดการขยะของประเทศ พ.ศ. 2565 - 2570 ที่ต้องการให้ขยะมูลฝอยชุมชนได้รับการจัดการอย่างถูกต้องตามหลักวิชาการไม่น้อยกว่า 75% ของปริมาณที่เกิดขึ้น ก่อให้เกิดขยะมูลฝอยตกค้างได้รับการกำจัดอย่างถูกต้องตามหลักวิชาการ 100% ภายในสิ้นสุดแผน เป็นประโยชน์ต่อการแก้ไขปัญหาขยะมูลฝอยชุมชนควบคู่กับการผลิตพลังงานไฟฟ้า โดยเฉพาะในพื้นที่ที่มีขยะมูลฝอยสะสมจำนวนมากหรือมีข้อจำกัด ในการหาพื้นที่ฝังกลบขยะ

 

อีกทั้ง สอดคล้องกับแผนปฏิบัติการการลดก๊าซเรือนกระจกของประเทศไทย พ.ศ. 2564 - 2573 สาขาพลังงาน ในส่วนของแผนงานการพัฒนาพลังงานจากขยะ ที่คาดว่าจะมีศักยภาพในการผลิตไฟฟ้าประมาณ 450 เมกะวัตต์ และศักยภาพการลดก๊าซเรือนกระจก 1.63 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า

 

รวมถึงสาขาการจัดการของเสียชุมชน ในส่วนกิจกรรมการเผาขยะมูลฝอยในเตาเผา เพื่อผลิตพลังงาน มีศักยภาพลดก๊าซเรือนกระจก 0.46 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า หรือเทียบเท่าการดูดกลับก๊าซ เรือนกระจกของพื้นที่ป่าที่มีอายุการเจริญเติบโตตั้งแต่ 5 - 20 ปี ประมาณ 3,160,625 ไร่ จึงต้องเร่งผลักดันการดำเนินงานและเพิ่ม

 

สัดส่วนของการพัฒนาพลังงานขยะให้สอดรับกับการยกระดับการบรรลุเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ภายในปี ค.ศ. 2050 และมุ่งสู่การปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ (Net Zero Greenhouse Gas Emission)  ภายในปี ค.ศ. 2065 รวมถึงการบรรลุเป้าหมายการมีส่วนร่วมที่ประเทศกำหนด (Nationally Determined Contribution : NDC) ที่จะถูกยกระดับเป็น 40% ภายในปี ค.ศ. 2030