ครม.ทุ่ม5พันล้าน ตั้ง “กองทุนฯ" รับผลกระทบจาก FTA ในภาคผลิต-บริการ

28 มิ.ย. 2565 | 08:16 น.
อัปเดตล่าสุด :28 มิ.ย. 2565 | 15:23 น.

"รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกรัฐบาล "เผยมติครม.เห็นชอบจัดตั้ง “กองทุนช่วยเหลือเพื่อการปรับตัวของภาคการผลิต-บริการที่ได้รับผลกระทบจาก FTA การเปิดเสรีทางการค้า” เงินประเดิม 3 ปีแรก 5,000 ล้านบาท

วันที่ 28 มิ.ย. 65 นางสาวรัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่า ครม.เห็นชอบจัดตั้ง "กองทุนช่วยเหลือเพื่อการปรับตัวของภาคการผลิตและภาคบริการที่ได้รับผลกระทบจากการเปิดเสรีทางการค้า(FTA)" ของคณะกรรมการนโยบายการบริหารเงินทุนหมุนเวียน ตามที่กระทรวงพาณิชย์เสนอ การจัดตั้งกองทุนดังกล่าว

 

 

มีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นแหล่งเงินทุนสำหรับช่วยเหลือ เยียวยา และบรรเทาผู้ที่ได้รับหรือคาดว่าจะได้รับผลกระทบจากการเปิดเสรีทางการค้าในภาคการผลิตทั้งเกษตร อุตสาหกรรม และภาคบริการ โดยจะขับเคลื่อนผ่านกลไกคณะกรรมการบริการกองทุนฯ ซึ่งมีอำนาจหน้าที่ เช่น กำหนดนโยบาย กำกับการบริหารจัดการ และติดตามการดำเนินงาน พิจารณาอนุมัติแผนการดำเนินงานประจำปี กำหนดอัตราค่าธรรมเนียม หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการจัดเก็บค่าธรรมเนียมจากผู้ที่ได้ประโยชน์จากการเปิดเสรีทางการค้า เป็นต้น 

นางสาวรัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี

สำหรับงบประมาณและแหล่งรายได้ของกองทุน มาจากการรับทุนประเดิมจากรัฐบาลที่จัดสรรให้ภายใน 3 ปี ประมาณ 5,000 ล้านบาท โดยปีแรกรับจัดสรร 1,000 ล้านบาท ปีที่ 2-3 ปีละ 2,000 ล้านบาท

 

ส่วนแหล่งที่มาของรายได้ อาทิ การจัดเก็บค่าธรรมเนียมจากผู้ส่งออกที่ได้รับประโยชน์จากการเปิดเสรีทางการค้า โดยจัดเก็บค่าธรรมเนียมจากผู้ขอหนังสือรับรองถิ่นกำเนิดสินค้าเพื่อใช้สิทธิพิเศษทางภาษีสำหรับการส่งออกภายใต้การเปิดเสรีทางการค้า คาดว่า จะสามารถจัดเก็บได้ประมาณ 80 ล้านบาทต่อปี

นางสาวรัชดากล่าวต่อว่า กองทุนช่วยเหลือเพื่อการปรับตัวของภาคการผลิตและภาคบริการฯ ไม่มีความซ้ำซ้อนในการให้ความช่วยเหลือเยียวยาผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการเปิดเสรีทางการค้ากับกองทุนอื่นๆ อาทิ

  • กองทุนเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศสาหรับอุตสาหกรรม
  • กองทุนปรับโครงสร้างการผลิตภาคเกษตรเพื่อเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันของประเทศ

 

เนื่องจากกองทุนเพิ่มขีดความสามารถฯ จะให้เงินสนับสนุนเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการลงทุน การวิจัยและพัฒนา ในอุตสาหกรรมเป้าหมายที่เน้นลงทุนในเทคโนโลยีขั้นสูง ซึ่งไม่ได้ครอบคลุมถึงการให้ความช่วยเหลืออันเกิดจากผลกระทบจากการเปิดเสรีทางการค้า

 

ส่วนกองทุนปรับโครงสร้างการผลิตภาคเกษตรฯ เน้นช่วยเหลือกลุ่มผู้ผลิตสินค้าเกษตรขั้นต้นเท่านั้น ไม่ครอบคลุมภาคอุตสาหกรรม และภาคบริการที่ได้รับผลกระทบจากการเปิดเสรีทางการค้าเช่นกัน