นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า กระทรวงฯได้ลงพื้นที่ก่อสร้างโครงการรถไฟฟ้าสายสีเหลือง ช่วงลาดพร้าว-สำโรง และโครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพู ช่วงแคราย - มีนบุรี เมื่อวันที่ 30 มิถุนายน 2565 เพื่อติดตามความก้าวหน้าการก่อสร้าง แผนการพัฒนาโครงการฯ ในอนาคต การเชื่อมต่อกับโครงการขนส่งมวลชนอื่น ๆ และความพร้อมของขบวนรถต่าง ๆ รวมถึงแผนการเตรียมเปิดให้บริการเดินรถ สำหรับความคืบหน้าการก่อสร้างโครงการรถไฟฟ้าสายสีเหลือง ช่วงลาดพร้าว-สำโรง ระยะทาง 30.4 กม.มีความคืบหน้าในภาพรวมคิดเป็นร้อยละ 92.93 แบ่งเป็นงานโยธา ร้อยละ 93.42 และงานระบบรถไฟฟ้าร้อยละ 92.29 ขณะนี้รถไฟฟ้าสายสีเหลืองได้รับมอบขบวนรถแล้ว 28 ขบวน จากทั้งหมด 30 ขบวน ในส่วนขบวนรถไฟฟ้าที่เหลือจะจัดส่งถึงประเทศไทยได้ภายในเดือนกรกฎาคม 2565 จะเปิดให้บริการทดสอบเดินรถเสมือนจริงภายในเดือนตุลาคม 2565 และเปิดให้บริการเดินรถฟรี ระยะเวลา 3 เดือน (เดือนมกราคม-มีนาคม 2566) โดยจะเปิดให้บริการได้บางช่วง คือ ช่วงสถานีภาวนา-สำโรง หลังจากนั้นเปิดให้บริการเต็มทั้งระบบภายในปี 2566
สำหรับโครงการรถไฟฟ้าสายสีเหลือง ช่วงลาดพร้าว - สำโรง มีแนวเส้นทางเริ่มต้นที่แยกรัชดา - ลาดพร้าว บริเวณหน้าอาคารจอดแล้วจร สถานีลาดพร้าว ของรถไฟฟ้ามหานคร สายเฉลิมรัชมงคล (MRT สายสีน้ำเงิน) ไปตามแนวถนนลาดพร้าว ถึงทางแยกบางกะปิ เข้าสู่ถนนศรีนครินทร์ ข้ามทางแยกต่างระดับพระราม 9 ผ่านแยกพัฒนาการ แยกศรีนุช แยกศรีอุดม แยกศรีเอี่ยม แยกศรีเทพา เข้าสู่ถนนเทพารักษ์ และสิ้นสุดที่บริเวณแยกเทพารักษ์ รวมระยะทางทั้งสิ้นประมาณ 30.4 กิโลเมตร ประกอบด้วย สถานีทั้งหมด 23 สถานี ศูนย์ซ่อมบำรุง 1 แห่ง และอาคารจอดแล้วจร 1 แห่ง มีการเชื่อมต่อระบบรถไฟฟ้าอีก 4 สาย ประกอบด้วย 1) สถานีลาดพร้าว (YL01) เชื่อมต่อกับรถไฟฟ้ามหานครสายเฉลิมรัชมงคล (MRT สายสีน้ำเงิน) 2) สถานีแยกลำสาลี (YL09) เชื่อมต่อกับโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย-มีนบุรี (สุวินทวงศ์) 3) สถานีหัวหมาก (YL11) เชื่อมต่อกับรถไฟฟ้าแอร์พอร์ตเรลลิงค์และรถไฟทางไกลสายตะวันออก 4) สถานีสำโรง (YL23) เชื่อมต่อกับรถไฟฟ้าสายสีเขียว ช่วงแบริ่ง - สมุทรปราการ
ด้านส่วนต่อขยายสายสีเหลือง ช่วงแยกรัชดา-ลาดพร้าว-แยกรัชโยธิน ขณะนี้การรถไฟฟ้าขนส่งมวลนแห่งประเทศไทย (รฟม.) อยู่ระหว่างเจรจากับเอกชนทั้ง 2 ราย เพื่อไม่ให้กระทบกับรายได้รถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินในอนาคต หากโครงการเป็นประโยชน์ต่อประชาชนก็ต้องเจรจาเพื่อให้ได้ข้อยุติ
ส่วนความคืบหน้ารถไฟฟ้าสายสีชมพู ช่วงแคราย-มีนบุรี ระยะทาง 34.5 กม. ในภาพรวมคิดเป็นร้อยละ 88.51 แบ่งเป็นงานโยธา ร้อยละ 90.06 และงานระบบรถไฟฟ้าร้อยละ 87.02 ขณะนี้รถไฟฟ้าสายสีชมพู อยู่ระหว่างทดสอบการเดินรถ และมีแผนกำหนดการทดสอบเดินรถเสมือนจริง (Trial Run) เริ่มภายในเดือนตุลาคม 2565 และเปิดให้บริการเดินรถฟรี ระยะเวลา 3 เดือน (เดือนมกราคม-มีนาคม 2566) ก่อนจะเปิดให้บริการบางช่วง ประกอบด้วย ช่วงสถานีศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติ-มีนบุรีและช่วงสถานีกรมชลประทาน-มีนบุรี และเปิดเดินรถอย่างเป็นทางการภายในปี 2566 ปัจจุบันรถไฟฟ้าสายสีชมพูได้รับมอบขบวนรถแล้ว 26 ขบวนจากทั้งหมด 42 ขบวน ในส่วนขบวนรถไฟฟ้าที่เหลือจะจัดส่งถึงประเทศไทยได้ภายในเดือนกรกฎาคม 2565
ขณะที่ความคืบหน้าการก่อสร้างรถไฟฟ้าส่วนต่อขยายสายสีชมพู ช่วงสถานีศรีรัช-เมืองทองธานี ระยะทาง 2.8 กม.ปัจจุบันเอกชนได้เข้าพื้นที่เพื่อดำเนินการก่อสร้างแล้ว โดยจะใช้ระยะเวลาการก่อสร้าง 3 ปี คาดว่าจะเปิดให้บริการได้ภายในปี 2568
สำหรับโครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพู ช่วงแคราย - มีนบุรี มีจุดเริ่มต้นบนถนนรัตนาธิเบศร์ บริเวณถัดจากศูนย์ราชการจังหวัดนนทบุรี ผ่านแยกแครายเข้าสู่ถนนติวานนท์ ตัดเข้าสู่ถนนแจ้งวัฒนะที่บริเวณใกล้กับ ห้าแยกปากเกร็ด ผ่านแยกหลักสี่ เข้าสู่ถนนรามอินทราจนถึงแยกมีนบุรี เลี้ยวขวาสู่ถนนรามคำแหง ซึ่งมีสถานีสุดท้ายที่บริเวณใกล้ซอยรามคำแหง 192 ระยะทางประมาณ 34.5 กิโลเมตร ประกอบด้วยสถานีทั้งหมด 30 สถานี ศูนย์ซ่อมบำรุง 1 แห่งและอาคารจอดแล้วจร 1 แห่ง มีการเชื่อมต่อระบบรถไฟฟ้าอีก 4 สาย ประกอบด้วย 1) สถานีศูนย์ราชการนนทบุรี (PK01) เชื่อมต่อกับรถไฟฟ้ามหานครสายฉลองรัชธรรม (MRT สายสีม่วง) 2) สถานีหลักสี่ (PK14) เชื่อมต่อกับโครงการระบบรถไฟชานเมืองสายสีแดง ช่วงบางซื่อ - รังสิต 3) สถานีวัดพระศรีมหาธาตุ (PK16) เชื่อมต่อกับโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว ช่วงหมอชิต - สะพานใหม่ - คูคต 4) สถานีมีนบุรี (PK30) เชื่อมต่อกับโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย - มีนบุรี (สุวินทวงศ์)
นายศักดิ์สยาม กล่าวต่อว่า ส่วนอัตราค่าโดยสารรถไฟฟ้าทั้ง 2 สาย เบื้องต้นค่าโดยสารจากข้อมูลปี 59 จะจัดเก็บในอัตรา 14-42 บาท ซึ่งเมื่อเปิดให้บริการแบบเก็บค่าโดยสารต้องพิจารณาจากดัชนีผู้บริโภค(CPI) อีกครั้ง ซึ่งได้มอบให้กรมการขนส่งทางราง (ขร.) การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย(รฟม.) และเอกชน ไปพิจารณาค่าใช้จ่ายให้สะท้อนกับความเป็นจริงมากที่สุด ขณะเดียวกันได้ให้ไปพิจารณาพัฒนาพื้นที่เชิงพาณิชย์ เพื่อนำรายได้มาลดค่าโดยสารให้ประชาชน ซึ่งตนอยากให้มีราคาที่ถูกที่สุดอยู่แล้ว ส่วนค่าแรกเข้าในการเชื่อมต่อกับรถไฟฟ้าสายสีต่างๆ นั้น อยู่ระหว่างการเจรจา โดยขณะนี้กระทรวงคมนาคมได้ตั้งคณะทำงานเพื่อเตรียมความพร้อมในการเปิดให้บริการทั้ง 2 สายแล้ว
"ทั้งนี้ปัญหาและอุปสรรคที่พบในการก่อสร้างโครงการรถไฟฟ้าสายสีเหลือง ช่วงลาดพร้าว - สำโรง และโครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพู ช่วงแคราย - มีนบุรี พบว่าบางพื้นที่มีสาธารณูปโภคตามแนวเส้นทางก่อสร้างอยู่ด้วย ส่งผลให้การก่อสร้างมีความล่าช้า ซึ่งได้มอบนโยบายให้เร่งประสานขอความร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้การก่อสร้างเดินหน้าได้อย่างราบรื่นแล้วเสร็จตามกำหนด และดำเนินการคืนพื้นที่โดยเร็วเพื่อบรรเทาปัญหาจราจร ลดผลกระทบต่อการเดินทางของประชาชนให้มากที่สุด พร้อมทั้งให้ความสำคัญกับการออกแบบเพื่อคนทั้งมวล (Universal Design) และการกำหนดอัตราค่าโดยสารที่มีความหมาะสม เป็นธรรม"