นายชัยวัฒน์ โควาวิสารัช ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท บางจาก คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า กลุ่มบริษัทได้กำหนดเป้าหมายมุ่งสู่สังคมคาร์บอนต่ำ ด้วยการกำหนดแผน BCP NET ครอบคลุม 4 แนวทาง เพื่อตอบสนองต่อเป้าหมาย Carbon Neutrality ในปี 2030 และ Net Zero ในปี 2050 โดยเน้นกระบวนการที่จับต้องได้และสามารถหวังผลในระยะยาว
ภายใต้ B = Breakthrough Performance เน้นกระบวนการผลิตที่มีประสิทธิภาพสูง การปรับปรุงและเพิ่มประสิทธิภาพในกระบวนการทำงาน ปล่อยคาร์บอนต่ำและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เช่น การใช้เทคโนโลยีและเชื้อเพลิงที่ช่วยลดการปล่อยคาร์บอนจากกระบวนการผลิตในโรงกลั่นน้ำมันบางจาก การเปิดสถานีบริการ Net Zero การใช้ไฟฟ้าจากระบบกักเก็บพลังงาน (แบตเตอรี่) ในธุรกิจผลิตไฟฟ้าของบีซีพีจี เป็นต้น
C = Conserving Nature and Society สนับสนุนการสร้างสมดุลทางระบบนิเวศและเชื่อมโยงสู่สังคมคาร์บอนต่ำ ผ่านการดูดซับคาร์บอนด้วยวิถีธรรมชาติ มุ่งเน้นพัฒนากิจกรรมเพิ่มพื้นที่ในการดูดซับคาร์บอนจาก 2 ระบบนิเวศ ได้แก่ 1. ระบบนิเวศจากป่า (Green Carbon) เช่น โครงการปลูกป่ากับกรมป่าไม้ โครงการอนุรักษ์ป่าชุมชนร่วมกับมูลนิธิแม่ฟ้าหลวงฯและปลูกต้นไม้ในพื้นที่ปฏิบัติการทั่วประเทศ เช่น โครงการปลูกป่าในโรงไฟฟ้าของบีซีพีจี เป็นต้น และ 2. ระบบนิเวศทางทะเล (Blue Carbon) จากแหล่งป่าชายเลนและหญ้าทะเล
P = Proactive Business Growth and Transition เปลี่ยนผ่านธุรกิจสู่พลังงานสะอาด มุ่งสู่เป้าหมาย Net Zero ด้วยเทคโนโลยีเพื่อการเติบโตอย่างยั่งยืน เพิ่มสัดส่วนรายได้จากธุรกิจสีเขียว เน้นขยายการลงทุนใหม่ ๆ ที่ช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากการดำเนินธุรกิจ ศึกษาเทคโนโลยีตอบโจทย์ธุรกิจคาร์บอนต่ำ เช่น Blue/Green Hydrogen เชื้อเพลิงทางเลือกคาร์บอนต่ำ เช่น เชื้อเพลิงอากาศยานยั่งยืนหรือ Sustainable Aviation Fuel (SAF) หรือน้ำมันกรีนดีเซล Green Diesel เทคโนโลยีการดักจับ การใช้ประโยชน์และการกักเก็บคาร์บอน (CCUS) และธุรกิจซื้อขายคาร์บอนเครดิต เพื่อส่งเสริมสร้างวัฒนธรรมคาร์บอนต่ำ โดยในปัจจุบันสัดส่วนของธุรกิจสีเขียวคิดเป็นสัดส่วนราว 40% ของ EBITDA ของกลุ่มบางจากฯ ซึ่งประมาณการว่าสัดส่วนธุรกิจสีเขียวจะเพิ่มสูงขึ้นเป็นอย่างน้อย 50% ในปี ค.ศ. 2030
NET = Net Zero Ecosystem สร้างระบบนิเวศเพื่อรองรับการไปสู่เป้าหมาย Net Zero อาทิ การดำเนินธุรกิจขนส่งเชื้อเพลิงโดยบริษัท BFPL การให้บริการและจำหน่ายเชื้อเพลิงทางเลือกคาร์บอนต่ำ การจัดทำแพลตฟอร์มให้เช่ามอเตอร์ไซค์ไฟฟ้า Winnonie การก่อตั้ง Carbon Markets Club เพื่อส่งเสริมการซื้อขายคาร์บอนเครดิต การร่วมก่อตั้ง Syn Bio Consortium การสร้างวัฒนธรรมคาร์บอนต่ำในองค์กรผ่านโครงการรณรงค์ต่าง ๆ เช่น Bangchak 100x Climate Action ทุกคนช่วยได้
นายชัยวัฒน์ กล่าวอีกว่า สำหรับการดำเนินงานล่าสุด กลุ่มบริษัทได้สนับสนุนเกาะหมากมุ่งสู่ Low Carbon โดยได้ลงนามข้อตกลงความร่วมมือกับองค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน คณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิสาหกิจชุมชนเกษตรผสมผสานบ้านอ่าวนิด อ. เกาะกูด จ.ตราด และองค์การบริหารส่วนตำบลเกาะหมาก ที่เร่งศึกษา Blue Carbon ในการกักเก็บคาร์บอนไดออกไซด์ของแหล่งหญ้าทะเลในแนวปะการัง เพื่อพัฒนาพื้นที่เกาะหมากสู่เป้าหมายการเป็น Low Carbon Destination หรือเป็นพื้นที่เป้าหมายแห่งแรกในโครงการแหล่งท่องเที่ยวคาร์บอนต่ำของประเทศไทยโดยข้อมูลของ IUCN (International Union for Conservation of Nature) เมื่อปี 2564 ระบุว่าหญ้าทะเลเป็นพืชกลุ่มเดียวที่อยู่ในทะเลเต็มตัว จะมีความสามารถเฉพาะตัวในการดูดซับและกักเก็บคาร์บอนได้มากกว่าป่าบนบกถึง 7-10 เท่า
ผู้ช่วยศาสตราจารย์สุริยัน ธัญกิจจานุกิจ คณบดี คณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กล่าวว่า โครงการ Blue Carbon ในแหล่งหญ้าทะเล เกาะหมาก-เกาะกระดาด คณะผู้วิจัยได้ทำการสำรวจโดยทำแผนที่การแพร่กระจายของหญ้าทะเลทั้งหมด 4 ชนิดที่พบในพื้นที่นี้ ซึ่งผลการสำรวจพบว่า แหล่งหญ้าทะเลมีความซับซ้อนมาก คาดว่ามีการสะสมคาร์บอนได้เป็นอย่างดี แต่จำเป็นต้องใช้เวลาในการวิเคราะห์ในรายละเอียด
ทั้งนี้ การดำเนินงานขั้นต่อไป จะวิเคราะห์ข้อมูลดูดซับ/กักเก็บคาร์บอน และทำการสำรวจเพิ่มเติม ตลอดจนวางแผนในการปลูกหญ้าทะเลโดยใช้เทคนิควิธีการต่าง ๆ เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดและรบกวนธรรมชาติน้อยที่สุด