ปัญหาน้ำมันแพง ขณะที่กองทุนน้ำมันฯอุดหนุนราคาน้ำมันได้จำกัดขึ้นเรื่อย ๆ จากภาระขาดทุนสะสมทะลุ 1 แสนล้านบาทไปแล้ว แนวทางหนึ่งที่ถูกเสนอถี่ขึ้นเรื่อย ๆ คือ ลดสัดส่วนไบโอดีเซลลง หรือบางครั้งถึงกับเสนอให้ถอดออกไปเลย ขณะที่ราคาปาล์มเริ่มปรับลดสู่ระดับสิบบาทลงมา นั้น นายชัยฤทธิ์ ถ่ายย้วน คณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาการบริหารจัดการปาล์มน้ำมันอย่างเป็นระบบ และ คณะกรรมการนโยบายปาล์มน้ำมันแห่งชาติ เปิดเผย"ฐานเศรษฐกิจ"ว่า ขณะนี้เชื่อว่ามั่นว่าราคาปาล์มจะยืนอยู่ที่ 7-10 บาทต่อกิโลกรัม(ก.ก.)
โดยมีปัจจัยบวกหลายอย่าง เช่น ทั่วโลกขาดแคลนน้ำมันสำหรับบริโภค โดยน้ำมันจากถั่วเหลืองผลิตได้น้อยลง ยังต้องอาศัยน้ำมันปาล์มจาก 3 ประเทศผู้ส่งออกหลัก คือ อินโดนีเซีย ผลิตได้ 45 ล้านตันต่อปี มาเลเซีย 25 ล้านตัน และไทย 3 ล้านตันต่อปี ขณะที่ความต้องการใช้น้ำมันทั่วโลก 72 ล้านตันต่อปี
สิ่งที่เป็นห่วงในขณะนี้คือ ราคาปุ๋ยเคมีสูงขึ้นมาก เช่น ปุ๋ยยูเรีย ขนาด 50 กิโลกรัม เดิมกระสอบละ 345บาท วันนี้กระสอบละ 1,800บาท ปุ๋ย DAT 18460 จากราคากระสอบละ 775 บาท ขึ้นเป็น 2,000 บาท และปุ๋ย MOP 0060 เดิมราคากระสอบละ 625 บาท ขึ้นเกือบ 3 เท่า เป็น 1,800 บาท โดยปาล์มน้ำมันหากไม่ใส่ปุ๋ยจะไม่ให้ผลผลิต
"อีกประการคือ นโยบายพลังงานทางเลือกของรัฐบาล ที่กำหนดให้นำน้ำมันปาล์มมาผสมในน้ำมันดีเซลหมุนเร็ว ซึ่งได้ประสบกัญหาจากน้ำมันปาล์มมีราคาแพง ยิ่งดันให้ต้นทุนน้ำมันดีเซลสูงขึ้น ต้องปรับลดสัดส่วนลงจาก B10 และ B7 ลงเป็น B5 และล่าสุดว่าจะทำเหลือแค่ B3 หรืออาจจะถอดออกไปเลยในที่สุดก็เป็นไปได้ ซึ่งจะยิ่งกดราคาปาล์มลงไปอีก"
นายชัยฤทธิ์ กล่าวอีกว่า จากต้นทุนการผลิตที่ปรับตัวสูงขึ้น เวลานี้หากราคาผลผลิตปาล์มน้ำมันลดลงมานั้น จะต้องไม่ต่ำกว่า 8 บาทต่อก.ก.ซึ่งเป็นราคาที่เกษตรกรอยู่ได้ ซึ่งเวลานี้ห่วงกันมากเรื่องปุ๋ย ทั้งเรื่องราคาที่สูงขึ้นมาก และขาดแคลน หากหามาใส่ปาล์มไม่ได้ก็จะไม่มีผลผลิต
ด้านเจ้าของสวนปาล์มน้ำมันรายใหญ่ ระดับ 3,000 ไร่ ในพื้นที่ตรังและกระบี่ กล่าวว่า สถานการณ์ราคาพืชผลทางด้านการเกษตรในประเทศไทยไม่แน่นอน ขึ้นอยู่กับกลุ่มทุนจะเป็นผู้กำหนดราคา โดยเฉพาะราคาปาล์มน้ำมัน เกษตรกรชาวสวนปาล์มน้ำมันใจชื้น เมื่อราคาผลปาล์มน้ำมันหน้าโรงงานขายได้กิโลกรัมละ 12 บาท แต่ราคายืนอยู่ได้ไม่นานก็ผันผวนลดลงมาเหลือ 10 บาท และ 8 บาทต่อกิโลกรัม
ปัจจัยสำคัญที่สุดในการทำสวนปาล์น้ำมันคือปุ๋ย เมื่อราคาปาล์มน้ำมันขยับขึ้น เพราะรัฐบาลมีนโยบายไบโอดีเซล โดยนำน้ำมันปาล์ม(B100) ไปผสมกับน้ำมันดีเซลหมุนเร็ว ทำให้ราคาผลปาล์มดิบได้ราคาสูงขึ้น แต่เมื่อปุ๋ยเคมีประกาศขึ้นราคาและขาดแคลน เกษตรกรก็ทุกข์ใจ กำไรจากการขายปาล์มน้ำมันถูกแบ่งไปให้ผู้ค้าปุ๋ยเคมีทัน ซ้ำเติมด้วยรัฐบาลออกนโยบายลดสัดส่วนผสมน้ำมันไบโอดีเซล จาก B20 B10 ลงเหลือ B7 และมีแนวโน้มจะลดสัดส่วนลงมาอีก ในอนาคตอาจจะไม่ใช้น้ำมันปาล์มผสมในน้ำมันดีเซลแล้ว ซึ่งจะยิ่งกระทบเกษตรกรชาวสวนปาล์มน้ำมัน
รัฐบาลจึงควรต้องยืนยันความชัดเจน มั่นคง และยั่งยืน ของนโยบายพลังงานของชาติ ในการกำหนดให้ใช้ไบโอดีเซล ซึ่งจะช่วยสร้างความมั่นคงด้านพลังงานในระยะยาว เช่น เป็นน้ำมันทางเลือกในภาวะสงคราม ไม่มีน้ำมันดิบ หรือขาดแคลนน้ำมันเชื้อเพลิง สามารถใช้ไบโอดีเซลมาแก้ไขสถานการณ์ได้ในระดับหนึ่ง
ปัจจัยที่กระทบราคาปาล์มน้ำมันทำให้ผันผวนอีกประการ คือ การลงทุนเล่นตั๋ว หรือซื้อขายเก็งกำไรน้ำมันปาล์มล่วงหน้าของกลุ่มทุน ซึ่งราคาน้ำมันปาล์มที่ซื้อขายตั๋วในอนาคต จะสวนทางกับราคาน้ำมันปาล์มจริงในตลาด ขณะที่นโยบายพลังงานของรัฐโดยเฉพาะเรื่องไบโอดีเซลก็ไม่ชัดเจน สิ่งเหล่านี้ส่งผลกระทบทางลบกับเกษตรกรชาวสวนปาล์มน้ำมันอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้