รายงานข่าวจากกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ แจ้งวันนี้ ( 3 ก.ค.65) ว่า นายอลงกรณ์ พลบุตร ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ นายสมศักดิ์ วิวิธเกยูรวงศ์ อัครราชทูตที่ปรึกษา (ฝ่ายเกษตร) ประจำกรุงโตเกียว โชติ พึงเจริญพงศ์ คณะทำงานที่ปรึกษารัฐมนตรีเกษตรฯ นายณฐกร สุวรรณธาดา คณะที่ปรึกษารัฐมนตรีเกษตรฯ น.ส.นิณา รัตนจินดา ผู้บริหารโปรเฟสอินเตอร์เนชั่นแนล และคณะ
เข้าเยี่ยมชมระบบความเย็น(Cold Chain) และรับฟังข้อมูลระบบโลจิสติกส์ ระบบเครือข่ายตลาดค้าส่งค้าปลีก รวมถึงการบริหารจัดการคลังสินค้าในการนำเข้าสินค้าเกษตรของไทยมายังประเทศญี่ปุ่น ณ บริษัท P.K. SIAM เมืองโยโกฮามา จังหวัดคานากาวะ
โดยมีนายรุ่งสิทธิ์ สนธิอัชชรา ผู้จัดการฝ่ายการค้า(Trading Division Manager) ให้การต้อนรับ พาชมพร้อมบรรยายสรุป โดยบริษัท พี.เค.สยาม(P.K.SIAM ) เป็นบริษัทผู้นำเข้า ผักและผลไม้รายใหญ่ในกรุงโตเกียว อาทิ มะม่วงทุเรียน กล้วยหอม ส้มโอ มะพร้าว มังคุด ผักสด น้ำมะนาวคั้นสด รวมถึงสินค้าแปรรูป อาหาร ผลไม้กระป๋อง เป็นต้น
จากนั้น นายอลงกรณ์ และคณะ ได้เดินทางไปพบหารือกับคณะผู้บริหารของบริษัท ไนไกนิตโตะ ซึ่งเป็น บริษัทโลจิสติกส์รายใหญ่ มีการร่วมทุนกับไทยจัดตั้งบริษัทในประเทศไทยมากว่า 25 ปี พร้อมกับเยี่ยมชมระบบขนส่งทางเรือทางอากาศซึ่งมีบริการขนส่งยางพาราและเครื่องจักรกลการเกษตรด้วย
นายอลงกรณ์ เปิดเผยว่า การเดินทางเยือนญี่ปุ่นครั้งนี้ เป็นไปตามข้อสั่งการของ ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ที่มีนโยบายขยายความร่วมมือทางด้านการเกษตรกับประเทศญี่ปุ่นในมิติต่างๆภายหลังจาก นายเก็นจิโร คาเนโกะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตร ป่าไม้ และประมงญี่ปุ่น พร้อมคณะเข้าพบหารือกับ ดร.เฉลิมชัย ในโอกาสเดินทางเยือนประเทศไทยอย่างเป็นทางการเมื่อต้นเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา
“ญี่ปุ่นเป็นตลาดส่งออกสินค้าเกษตรและอาหารที่สำคัญอันดับ 2 ของไทย ในระหว่างปี 2562-2564 ไทยมีสัดส่วนการส่งออกไปญี่ปุ่นประมาณร้อยละ 11.35 ของมูลค่าการส่งออกสินค้าเกษตรไปตลาดโลก มีการส่งออก เฉลี่ยปีละ 144,820 ล้านบาท โดยสินค้าส่งออกที่สำคัญได้แก่ เนื้อไก่ปรุงแต่ง ชิ้นเนื้อไก่แช่แข็ง อาหารสัตว์เลี้ยง ปลาทูนา ปลาสคิปแจ็ค และ ปลาโบนิโต และ ยางแผ่นรมควัน ทั้งนี้ ที่ผ่านมา ไทยได้ดุลการค้าสินค้าเกษตรกับญี่ปุ่นมากกว่า 130,000 ล้านบาท
ญี่ปุ่นสามารถผลิตอาหารได้ไม่ถึง 40% ของความต้องการในประเทศมีนโยบายเพิ่มความมั่นคงทางอาหาร และด้วยจำนวนประชากรที่มีกว่า 125 ล้านคน มีกำลังซื้อสูงมีสัมพันธ์ที่ดีกับไทยตลอดมา จึงเป็นโอกาสและจังหวะที่ดีมากในการขยายการส่งออกสินค้าเกษตรและอาหารมายังตลาดญี่ปุ่นเพิ่มขึ้น
รวมทั้งการร่วมลงทุนด้านเกษตรอุตสาหกรรม เครื่องจักรกลและเทคโนโลยีเกษตรระหว่าง 2 ประเทศ ตลอดจนการพัฒนาระบบโลจิสติกส์ทางเรือและทางอากาศ ให้มีต้นทุนและเวลาที่ลดลงมา
ประการสำคัญคือ การรับฟังความเห็นเกี่ยวกับปัญหา อุปสรรค และข้อเสนอแนะโดยตรงจากผู้ประกอบการของไทยและญี่ปุ่นโดยตรง เพื่อนำไปสู่การแก้ไขปัญหาและกำหนดมาตรการส่งเสริมสนับสนุนของภาครัฐที่มีประสิทธิภาพต่อไป
รวมทั้ง แนวโน้มความต้องการของตลาดและรสนิยมของผู้บริโภคสำคัญมาก ต่อการเพิ่มไลน์การผลิตสินค้าเกษตรและอาหาร ให้สอดคล้องกับตลาดญี่ปุ่นตามยุทธศาสตร์ตลาดนำการผลิต