นายวิศิษฐ์ ลิ้มลือชา รองประธานกรรมการหอการค้าไทย และนายกกิตติมศักดิ์สมาคมผู้ผลิตอาหารสำเร็จรูป เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ”ถึงเงินบาทที่ปรับตัวอ่อนตัวลงทะลุ 36 บาท นั้นเป็นการไหลออกของสินทรัพย์เสี่ยงในตลาดทุนตลาดหุ้น เพราะสหรัฐปรับขึ้นดอกเบี้ยขึ้น0.75% ดังนั้นนักลงทุนดึงเงินกลับไปลงทุนในตลาดสหรัฐที่มีความมั่นคงกว่าส่งผลให้ค่าเงินบาทอ่อน ที่สหรัฐฯปรับดอกเบี้ยขึ้นเพราะต้องการสกัดภาวะเงินเฟ้อที่พุ่งสูงในประเทศการปรับอัตราดอกเบี้ยของสหรัฐซึ่งเป็นประเทศมหาอำนาจย่อมส่งผลกระทบต่อค่าเงินประเทศอื่นๆด้วย ไทยก็อยู่ในนั้น
แต่ประเทศไทยเองก็พยายามพยุงค่าเงินบาทไม่ให้ผันผวนมาก เพราะตอนนี้ค่าเงินของประเทศเพื่อนบ้านก็อ่อนค่ามากเช่นกัน ทั้งนี้คิดว่าการอ่อนค่าของค่าเงินน่าจะเป็นช่วงระยะสั้นๆแล้วจะมีจุดสมดุลที่ทำให้ทุกอย่างมีความเสถียร แต่ถามว่าเมื่อไหร่ เป็นสิ่งที่ตอบยากเช่นกันคงต้องติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิดต่อ
“การที่บาทไทยอ่อนค่าลง แน่นอนว่าส่งผลดีต่อการส่งออกไทย แต่การนำเข้าย่อมได้รับผลกระทบอย่างหนัก โดยเฉพาะกลุ่มพลังงาน วัตถุดิบที่นำมาใช้ในการผลิตสินค้าเพื่อการส่งออกก็จะมีต้นทุนที่สูงขึ้น ทั้งค่าขนส่ง ก๊าช ไฟฟ้า ซึ่งคงกระทบทุกกลุ่มสินค้าที่มีสัดส่วนการนำเข้าวัตถุดิบเข้ามาผลิต อย่างกลุ่มอาหารเกษตรก็มีนำเข้าวัตถุดิบ30%และใช้ในประเทศ70%ก็กระทบแต่ไม่มากเพียงแต่มีต้นทุนเพิ่มขึ้น พลังงานกระทบ100%เพราะนำเข้ามาทั้งหมด อย่างไรก็ตามผู้ประกอบการ ผู้นำเข้าคงต้องเร่งทำสัญญาประกันค่าเงินของแต่ละอัตราแลกเปลี่ยนเพราะประกันความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นในอนาคต”
อย่างไรก็ตามกรณีที่เฟดได้ย้ำว่าจะมีการดอกเบี้ยต่อไปอีก ยิ่งทำให้ตลาดโลกมีความกังวลเรื่องเศรษฐกิจถดถอย จึงมีภาพการถอนทุนจากสินทรัพย์เสี่ยงต่างๆรวมถึงดอกเบี้ยสหรัฐเองปรับขึ้นเร็วมีผลตอบแทนที่ดี เงินจึงไหลกลับไปที่สหรัฐ