"กอบศักดิ์"ชี้ เงินยูโร อ่อนค่ามากสุดรอบ 20 ปี สะท้อนความต่างนโยบายเฟด-ECB

07 ก.ค. 2565 | 02:15 น.
อัปเดตล่าสุด :07 ก.ค. 2565 | 11:53 น.

“กอบศักดิ์ ภูตระกูล” วิเคราะห์ ค่าเงินยูโรอ่อนค่าลงอย่างรวดเร็ว ทำสถิติอ่อนค่ามากสุดรอบ 20 ปี และพร้อมจะอ่อนแตะระดับ 1 ดอลลาร์/ยูโร สะท้อนจาก 2 ปัจจัยคือ ความแข็งแกร่งของเศรษฐกิจระหว่างสหรัฐกับยุโรป และนโยบายการเงินเฟด กับ ECB

นายกอบศักดิ์ ภูตระกูล ประธานสภาธุรกิจตลาดทุนไทย (FETCO) เปิดเผย ผ่านเฟซบุ๊ก Kobsak Pootrakool ว่า

 

อ่อนทำสถิติ กันถ้วนหน้า !!!

 

เมื่อวานนี้ ค่าเงินยูโรได้อ่อนค่าลงไปแตะระดับ 1.0162 ดอลลาร์/ยูโร

 

ซึ่งเป็นการอ่อนลงอย่างรวดเร็วประมาณ 2.3% ในช่วง 2 วันที่ผ่านมา

 

ส่งผลให้เงินยูโรทำสถิติอ่อนค่ามากสุดในรอบ 20 ปี !!! 

 

พร้อมลงไปแตะระดับ 1 ดอลลาร์ =  1 ยูโร

 

ซึ่งถ้าอ่อนค่าต่อเนื่องลงกว่านั้น ก็จะเป็นอีกรอบที่ "เงินดอลลาร์มีค่ามากกว่าเงินยูโร" หลังจากที่เคยเกิดขึ้นในช่วงปี 2000-2002

 

หากเป็นเช่นนี้ ก็จะมีความหมายมาก

 

ที่นอกจากจะมีนัยยะต่อ "คนที่เก็งกำไรค่าเงินในระยะสั้น" แล้ว

 

ค่าเงินยังสะท้อนถึงความแข็งแกร่งของเศรษฐกิจด้วย

 

\"กอบศักดิ์\"ชี้ เงินยูโร อ่อนค่ามากสุดรอบ 20 ปี สะท้อนความต่างนโยบายเฟด-ECB

 

การที่เงินยูโรลดค่าลงมาที่ 1 ดอลลาร์/ยูโร จากที่เคยสูงสุดประมาณ 1.6 ดอลลาร์/ยูโร เมื่อปี 2008 (ระหว่างที่เศรษฐกิจยุโรปเฟื่องฟูมาก จากการผสานเป็นเนื้อเดียวกับยุโรปตะวันออก ที่เปิดประเทศมากขึ้นเรื่อยๆ และขยายตัวได้ดีอย่างยิ่ง ในช่วงก่อนเกิดวิกฤต Subprime)

หมายความว่า คนอเมริกาสามารถซื้อสินทรัพย์และสินค้าต่างๆ จากยุโรปด้วยเงินที่ลดลงถึง 60%  

 

หากคิดจะซื้อโรงแรม ที่ดิน บริษัท จากที่เคยต้องจ่าย 1.6 พันล้านดอลลาร์ ก็จะลดลงเหลือเพียง 1 พันล้านดอลลาร์ เท่านั้น !!!

 

สะท้อนถึงความมั่งคั่งและฐานะของยุโรปที่ลดลงโดยเปรียบเทียบไปในตัว


สาเหตุที่เป็นเช่นนี้ ก็เพราะปัจจัยสำคัญ 2-3 ด้าน

 

(1) ความแตกต่างของเศรษฐกิจสหรัฐและยุโรป ซึ่งล่าสุด ดูเหมือนจะว่ายุโรปกำลังจะมีปัญหามาก และชะลอตัวลงกว่าคาด จากผลของสงครามที่เกิดขึ้นในช่วงที่ผ่านมา

 

ดัชนี EURO STOXX 50 ซึ่งเป็นดัชนีของบริษัทชั้นนำของยุโรป ที่ได้ลดลงไป 12.5%

 

ดัชนีตลาดหลักทรัพย์ของเยอรมัน ได้ลดต่ำลงไปกว่าช่วงก่อนเกิดโควิดไปแล้วประมาณ 10% เช่นกัน

 

นอกจากนี้ เยอรมันซึ่งเป็นหัวรถจักรสำคัญที่สุดของยุโรป กำลังเผชิญกับปัญหาการขาดดุลบัญชีการค้าเป็นครั้งแรกในรอบ 30 ปี ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากราคาพลังงานในยุโรปที่เพิ่มขึ้นมาก ทำให้ต้นทุนในการผลิตสินค้าของเยอรมันพุ่งสูงขึ้น การส่งออกจึงหดตัวลง 0.5% ขณะที่มูลค่าการนำเข้าเพิ่มขึ้นตามราคาพลังงานโลก

 

และยิ่งรัสเซียตอบโต้กลับ โดยลดการส่งก๊าซให้กับยุโรป และอาจจะตัดเลยในอนาคต เศรษฐกิจยุโรปก็อาจจะเข้าสู่ภาวะ Recession ต่อไปได้

(2) ความแตกต่างของนโยบายเฟดและ ECB ซึ่งเฟดมีความชัดเจนมากเรื่องการสู้กับเงินเฟ้อ ขณะที่ ECB ยังรีรอ อ่านสถานการณ์

 

ยิ่งตลาดแรงงานของสหรัฐยังไปได้ แต่เศรษฐกิจยุโรปอาจจะเกิดปัญหา ความแตกต่างของนโยบายก็จะยิ่งชัดเจนขึ้น

 

เรื่องนี้ ทำให้เงินไหลจากยุโรปไปสหรัฐ และส่งผลต่อค่าเงินทั้งหมด จึงทำให้เงินยูโรที่ปกติแล้วจะอยู่ระหว่าง 1.1-1.2 ดอลลาร์/ยูโร ด้อยค่าลง

 

กลายเป็นอีกสกุลเงินที่อ่อนทำสถิติใหม่

 

ที่มา : เฟซบุ๊ก  Kobsak Pootrakool