นายชนินทร ท้าวธงชัย เจ้าของสวนบุญส่งทุเรียนภูเขาไฟศรีสะเกษ เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ปีนี้ราคาทุเรียนภูเขาไฟศรีสะเกษ ราคาต่ำสุดในรอบ 20 ปี ปีนี้เป็นปัจจัยที่เราควบคุมไม่ได้ ฝนมาตกต่อเนื่อง ซึ่งมาใกล้ตอนฤดุเก็บเกี่ยวผลผลิตจึงไม่ได้คุณภาพ แต่ผลผลิตที่ได้คุณภาพราคาก็สวนทางอีก ซึ่งเป็นราคาที่ให้ผู้บริโภคได้เฮ ซึ่งข้อเสีย ก็คือ จังหวัดศรีสะเกษ เป็นช่วงรอยต่อระหว่างภาคตะวันออกกับภาคใต้
“ศรีสะเกษ” จะเป็นแค่รอยต่อนิดเดียว พอมาปีนี้ช่วงรอยต่อสั้นมากก็เลยทำให้ทุเรียนในตลาดยังมีเยอะผู้บริโภคมีทางเลือก ที่จะเลือกรับประทาน ทำให้คนเบื่อ เพราะทานทุเรียนเยอะมาก คนที่เป็นแฟนคลับของศรีสะเกษ พอมารอแล้วเจอทุเรียนคุณภาพที่ไม่เหมือนเดิมก็เสียความรู้สึกอุตส่าห์รอมาทั้งปีต้องมาเจอแบบนี้ ส่วนปลายเดือนนี้ผลผลิตของทุเรียนภูเขาไฟศรีสะเกษ จะออกมาอีกรอบส่งท้ายแล้ว ผลผลิตไม่มากแล้ว
ด้านนางรัชดา ศรีวงศ์ กล่าวว่า ล้งปีนี้มาหลายล้งเยอะมา ทุกปีก็เคยมาแต่มาน้อยเจ้า เป็นความโชคดีของเกษตรกร ไม่เช่นนั้นราคาอาจจะแย่กว่านี้ เป็นล้งจังหวัดจันทรบุรี ราคาขายตลาดกลางจันทร์บุรี ราคา 120 บาทต่อกิโลกรัม มาให้ทางทุเรียนภูเขาไฟศรีสะเกษ 90-100 บาท/กิโลกรัม หักค่าขนส่ง มาซื้อแล้วขนกลับไป เพราะทุเรียนสุกพร้อมกัน ปีหน้าคุยกลับล้งแล้วว่าจะมาตั้งโรงคัดบรรจุรับซื้อที่นี่ แล้วขนส่งผ่านจังหวัดนครพนม ไม่ต้องไปลงท่าเรือ เป็นแนวคิดใหม่ ก็เห็นดีด้วย
นายเวียง สุภาพ เจ้าของสวนลุงเวียง ประธานกลุ่มเครือข่ายวิสาหกิจชุมชนกลุ่มพัฒนาการผลิตทุเรียน ในพื้นที่อำเภอขุนหาญ มีพื้นที่ปลูกทุเรียน 12 ไร่ กล่าวว่า จากปัญหาราคาตกต่ำในปีนี้ จะเป็นบทเรียนในปีหน้าจะทำประชาสัมพันธ์ล่วงหน้า เพื่อต้อนรับนักท่องเที่ยว จัดบุฟเฟต์ เพื่อต้อนรับนักท่องเที่ยวอย่างเต็มรูปแบบ อีกด้านหนึ่งก็ทำทุเรียน GI โดยแบ่งพื้นที่ทุเรียน ออกเป็น 2 ส่วน เพื่อรับความเสี่ยงด้านราคา
นางเกศินี พวงประดิษฐ์ พาณิชย์จังหวัดสกลนคร ในนามสำนักงานพาณิชย์กลุ่มจังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ผู้ดำเนินแผนงานประชาสัมพันธ์หนึ่งในโครงการส่งเสริมและพัฒนาตลาดสินค้าสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (GI) อีสานสู่สากล เปิดเผยว่า กระทรวงพาณิชย์ได้เล็งเห็นว่า สินค้า GI ของภาคอีสานมีจำนวนเพิ่มมากขึ้น ซึ่งสินค้า GI เป็นสินค้าที่ได้รับการขึ้นทะเบียนจากกรมทรัพย์สินทางปัญญาว่าเป็นสินค้าที่มีอัตลักษณ์ และมีคุณภาพสูงตามเกณฑ์ประเมินการยื่นคำขอขึ้นทะเบียนสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์
รวมทั้งสินค้า GI เหล่านี้มีความพร้อมเข้าสู่ตลาดทั้งในระดับประเทศ และต่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์จึงมอบหมายให้สำนักงานพาณิชย์จังหวัดสกลนครและกลุ่มสำนักงานพาณิชย์จังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือ คัดสรรสินค้าที่ขึ้นทะเบียน GI และมีศักยภาพทางการตลาด เผยแพร่ให้เป็นที่รู้จักมากขึ้น และประชาสัมพันธ์สร้างโอกาสทางการค้า ผ่านสื่อทั้งออฟไลน์ และออนไลน์ โดยเฉพาะสื่อโซเชียล ที่สามารถเข้าถึงกลุ่มลูกค้าปัจจุบันได้อย่างมีประสิทธิภาพ ให้สินค้า GI อีสานได้มีโอกาสเติบโตทั้งในประเทศและสู่สากล
ทุเรียนภูเขาไฟศรีสะเกษ มีการเพาะปลูกกันมานานแล้ว และได้รับความนิยมจากชาวต่างชาติมาก จึงได้ส่งเสริมให้เกษตรกรปลูกทุเรียนกันมากขึ้น ปัจจุบันจังหวัดศรีสะเกษมีการเพาะปลูกทุเรียนภูเขาไฟใน 3 อำเภอ ได้แก่ อำเภอกันทรลักษ์ อำเภอขุนหาญ และอำเภอศรีรัตนะ สำหรับปี 2565 มีพื้นที่ปลูกทุเรียนภูเขาไฟรวม 15,111 ไร่ ให้ผลิตรวม 8,353 ตัน
"ทุเรียนภูเขาไฟศรีสะเกษ" เป็นทุเรียนพันธุ์หมอนทอง พันธุ์ชะนี พันธุ์ก้านยาว มีอัตลักษณ์เฉพาะตัวจากการปลูกในสภาพดินภูเขาไฟที่มีแร่ธาตุหลายชนิด ทำให้ผลผลิตมีความพิเศษ คุณภาพสูง รสชาติหวานมัน กลิ่นหอมปานกลาง เนื้อละเอียด เนียนนุ่ม แห้ง เนื้อเหลืองสม่ำเสมอทั้งผล เปลือกบางสีเขียวอมเหลือง หนามค่อนข้างถี่ เมล็ดเล็ก
นอกจากนี้สำนักงานพาณิชย์จังหวัดศรีสะเกษ ยังได้ส่งเสริมพัฒนาเกษตรกรในด้านการตลาด เพิ่มช่องทางการขายด้วยการจัดงานตามฤดูกาลให้ประชาชนได้เข้าถึงการซื้อทุเรียนภูเขาไฟได้ง่ายขึ้น ในปีนี้ผลผลิตที่ขายได้ในช่องทางหลายๆ ช่องทาง ได้แก่ ขายให้ล้ง 64 % ขายผ่าน Online 4 % ชาวสวนจำหน่ายเอง 32 % รวมทั้งการส่งเสริมการขายโดยการจัดงาน “เทศกาลผลไม้สดจากสวน ทุเรียนภูเขาไฟ เกษตรปลอดภัยและ GI อีสาน” ในห้างสรรพสินค้าที่จังหวัดอุบลราชธานีเมื่อเดือนที่ผ่านมา เป็นต้น
นางทวีพร ธรรมธร นักวิชาการพานิชย์ชำนาญการพิเศษสำนักงานพาณิชย์จังหวัดศรีสะเกษ เผยผลดำเนินงานทุเรียนภูเขาศรีสะเกษ GI ปี 2562 ปีแรก มีทั้งหมด 192 ราย พื้นที่ 900 ไร่ จากพื้นที่จังหวัดทั้งหมด 8,000 ไร่ (GI มีอายุ 2 ปี) ปี 2564 มี 77 ราย ไม่มาต่ออายุ ส่วนปี 2565 มาสมัคร 388 ราย กำลังอยู่ในระหว่างการพิจารณา
อนึ่ง การขึ้นทะเบียนสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ไทย (สินค้า GI) จำนวน 77 จังหวัด 158 สินค้า