วันที่ 12 ก.ค.65 น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีกล่าวว่า คณะรัฐมนตรี(ครม.) อนุมัติตามผลการพิจารณาของคณะกรรมการกลั่นกรองการใช้จ่ายเงินกู้ ภายใต้พระราชกำหนดให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจและสังคม จากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 เพิ่มเติม พ.ศ. 2564
โดยได้อนุมัติโครงการพัฒนาและเสริมสร้างความเข้มแข็งของเศรษฐกิจฐานราก ปี 2565 ครั้งที่ 3 รวม 29 จังหวัด จำนวน 1,138 โครงการ กรอบวงเงินรวม 1,973 ล้านบาท
มีกลุ่มเป้าหมายเป็นเกษตรกร กลุ่มวิสาหกิจ กลุ่มอาชีพ นักท่องเที่ยว ผู้ประกอบการ กลุ่มผู้ด้อยโอกาส กลุ่มเปราะบาง ผู้สูงอายุ ผู้ว่างงาน และประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากโควิด 19
ทั้งนี้คาดว่าจะมีผู้ได้รับประโยชน์ ประกอบด้วย กลุ่มประชาชน 1,510,685 คน, เกษตรกร 478,926 คน, กลุ่มผู้ประกอบการไม่น้อยกว่า 9,789 ราย และกลุ่มวิสาหกิจชุมชนไม่น้อยกว่า 2 กลุ่ม, กลุ่มด้านการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน เช่น การก่อสร้างและปรับปรุงถนน 406 เส้น และการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานอื่นๆ ได้แก่ อ่างเก็บน้ำ ฝาย ท่อระบายน้ำ ผนังป้องกันตลิ่ง ไม่น้อยกว่า 791 แห่ง
น.ส.ไตรศุลี กล่าวว่า ครม. ยังได้มอบหมายหน่วยงานรับผิดชอบโครงการพัฒนาและส่งเสริมความเข้มแข็งของเศรษฐกิจฐานราก จำนวน 29 จังหวัด เป็นหน่วยรับผิดชอบโครงการและดำเนินการจัดทำแผนความต้องการใช้จ่ายเป็นรายเดือนเพื่อให้ สบน. สามารถจัดหาเงินกู้เพื่อใช้จ่ายโครงการตามแผนการใช้จ่ายที่เกิดขึ้นจริงต่อไป และให้หน่วยงานรับผิดชอบโครงการดำเนินการข้อสังเกตเพิ่มเติม ดังนี้
น.ส.ไตรศุลี กล่าวว่า ครม.ยังได้อนุมัติให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติขยายเวลาโครงการปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานหอผู้ป่วยและห้องผ่าตัด รองรับและบรรเทาภัยจากโรคติดเชื้อโควิด-19 จากเดิมสิ้นสุดโครงการเดือนพฤษภาคม 2565 เป็นเดือนสิงหาคม 2565 และปรับลดกรอบวงเงินโครงการ จากเดิม 31.90 ล้านบาท เป็น 28.45 ล้านบาท
พร้อมทั้งอนุมัติให้กรมทรัพยากรน้ำขยายเวลาโครงการปรับปรุง พัฒนาแหล่งน้ำเพื่ออุปโภค บริโภค และการเกษตร จากสิ้นสุดโครงการเดือนพฤษภาคม 2565 เป็นเดือนพฤศจิกายน 2565 รวมทั้งขยายเวลาโครงการปรับโครงสร้างการผลิต การรวบรวม และการแปรรูปของสถาบันเกษตรกร รองรับผลผลิตทางการเกษตร ของกรมส่งเสริมสหกรณ์ จากสิ้นสุดโครงการเดือนกันยายน 2564 เป็นเดือนกันยายน 2565
นอกจากนี้ ยังอนุมัติให้สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย กระทรวงอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม เปลี่ยนแปลงรายละเอียดที่เป็นสาระสำคัญของโครงการโดยเปลี่ยนแปลงการจัดหาครุภัณฑ์สำหรับสกัดสมุนไพรของโครงการยกระดับเศรษฐกิจฐานรากระดับจงหวัดด้วยวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม สกลนคร จากการใช้ “กระบวนการสกัดน้ำมันจากสมุนไพร” เป็น “การทำแห้งแบบแช่เยือกแข็ง” ทั้งนี้ตามที่ รมว.การอุดมศึกษาฯ ได้ให้ความเห็นชอบตามขั้นตอนแล้ว