นายธสรณ์อัฑฒ์ ธนิทธิพันธ์ เลขาธิการคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) เปิดเผยถึงการจัดทำ (ร่าง) พ.ร.บ.ความรับผิดต่อความชำรุดบกพร่องของสินค้า พ.ศ. … หรือ เลมอน ลอว์ (Lemon Law) ว่า ล่าสุดกฎหมายฉบับนี้ ยังอยู่ระหว่างการพิจารณา หลังจากสคบ.ได้เปิดรับฟังความคิดเห็นไปก่อนหน้านี้
ทั้งนี้ในการผลักดันกฎหมายฉบับดังกล่าว ที่ผ่านมา สคบ. ได้ยกร่างและได้ส่งไปยังสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา เพื่อตรวจพิจารณา ก่อนส่งกลับมายังสคบ. เพื่อนำมาปรับปรุงแก้ไข จากนั้นจึงได้เปิดรับฟังความคิดเห็นไปเมื่อเดือนพฤษภาคม 2565 ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณารายละเอียดจากการรับฟังความคิดเห็น
อย่างไรก็ตามในการรับฟังความคิดเห็นครั้งนี้ เบื้องต้นพบว่า มีข้อมูลบางส่วนที่อาจต้องปรับปรุงให้สอดคล้องกับสภาพแวดล้อมในปัจจุบัน และให้ผู้บริโภคได้ประโยชน์ เมื่อได้ข้อสรุปแล้ว จะเสนอไปยังที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่อพิจารณาตามขั้นตอนต่อไป
ก่อนหน้านี้ สคบ. ระบุเหตุผลของการออกกฎหมายฉบับนี้ว่า เนื่องจากบทบัญญัติของกฎหมายเกี่ยวกับความรับผิดเพื่อชำรุดบกพร่องของทรัพย์สิน ซึ่งขายตามสัญญาซื้อขายแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์เป็นบทบัญญัติที่ใช้บังคับแก่การซื้อขายสินค้าตามปกติทั่วไปและเหมาะสมกับการซื้อขายสินค้าที่ไม่มีความซับซ้อน
แต่ปัจจุบันมีการใช้เทคโนโลยีขั้นสูงในกระบวนการผลิตสินค้า และมีขั้นตอนการผลิตที่สลับซับซ้อน ทำให้ผู้บริโภคไม่อาจพบเห็นความชำรุดบกพร่องของสินค้าได้ในเวลาส่งมอบสินค้า จึงสมควรกำหนดลักษณะของความชำรุดบกพร่องของสินค้า
รวมทั้งสิทธิของผู้ซื้อสินค้าเมื่อเกิดความชำรุดบกพร่อง และความรับผิดของผู้ขายสินค้าในกรณีที่สินค้าเกิดความชำรุดบกพร่องให้ชัดเจนยิ่งขึ้น เพื่อประโยชน์ในการคุ้มครองสิทธิของประชาชนซึ่งเป็นผู้บริโภค จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้ขึ้นเพื่อควบคุมและดูแลกรณีดังกล่าว