เศรษฐกิจโลกกำลังเข้าสู่ภาวะถดถอยอย่างชัดเจน เห็นได้จากการขยายตัวทางเศรษฐกิจของสหรัฐอเมริกามหาอำนาจเศรษฐกิจเบอร์ 1 ของโลก (สัดส่วน 25 % ของจีดีพีโลก) ไตรมาสแรกของปีนี้ติดลบ 1.6% และเตรียมปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายครั้งใหญ่ เพื่อสกัดเงินเฟ้อ ที่ล่าสุดตัวเลขเดือนมิถุนายน ขยายตัว 9.1% สูงสุดรอบ 40 ปี
เช่นเดียวกับสหภาพยุโรป (อียู) ที่คณะกรรมาธิการยุโรปได้ปรับลดคาดการณ์ขยายตัวเศรษฐกิจยูโรโซนทั้งปีนี้ลงเหลือ 2.7% (เดิมคาดขยายตัว 4%) ปัจจัยหลักจากวิกฤติยูเครน ที่สหรัฐฯและชาติตะวันตกคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจรัสเซีย ส่งผลซัพพลายเชนโลกสะดุด ดันราคาพลังงาน อาหาร และค่าครองชีพพุ่งขึ้นทั่วโลก รวมถึงประเทศไทยที่ต้องรับมือ และเพื่อพลิกวิกฤติให้เป็นโอกาส
เศรษฐกิจมะกันส่อถดถอยชัด
รศ.ดร.อัทธ์ พิศาลวานิช ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาการค้าระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า เศรษฐกิจสหรัฐฯในไตรมาสที่ 1 /2565 ติดลบ 1.6% ผลจากการลดการผลิตและการบริการของภาคธุรกิจที่เกิดจากการลดลงของผู้บริโภค ได้แก่ ค้าส่ง ค้าปลีก การขนส่ง อาหารและเครื่องดื่ม เกษตรกรรม และที่อยู่อาศัย
ทั้งนี้เศรษฐกิจสหรัฐฯ มีโอกาสเข้าสู่ภาวะถดถอย และมีโอกาสติดลบในไตรมาสที่ 2 โดยจากตัวเลขเงินเฟ้อทั่วไปของสหรัฐฯในเดือนมิถุนายนล่าสุด ขยายตัว 9.1% สูงสุดในรอบ 40 ปี จะยิ่งทำให้เศรษฐกิจสหรัฐฯมีโอกาสเข้าสู่ภาวะถดถอย (Recession) สูงขึ้นเร็วกว่าปกติ จากเดิมคาดในอีก 12-18 เดือนข้างหน้า โดย S&P Global Rating คาดการณ์ปี 2565 เศรษฐกิจสหรัฐฯจะลดลงจากปี 2564 เหลือ 2.4%
ส่วนเศรษฐกิจยุโรปตามรายงานของ the Conference Board Economic Outlook, June 2022 ปีนี้จะลดลงเหลือ 2.7% (ปรับลดจากเดิม 4%) จาก 5.1% (2021) โดยเศรษฐกิจยุโรปในไตรมาสที่ 1 ของปีนี้ขยายตัวเพียง 0.6% ซึ่งการวิเคราะห์ว่าจะเข้าสู่ภาวะถดถอยนั้นต้องดูจีดีพีไตรมาส 2 และ 3 ว่าจะติดลบสองไตรมาสติดต่อกันหรือไม่ ซึ่งขึ้นกับเงินเฟ้อในไตรมาส 2-3 ว่าจะสูงขึ้นต่อเนื่องหรือไม่ อย่างไรก็ดีมองว่าเศรษฐกิจยุโรปมีโอกาสเข้าสู่ภาวะถดถอยสูง ต้องรอดูในอีก 6-12 เดือนข้างหน้าต่อไป
บาทอ่อนโอกาสแตะ 37 ต่อดอลลาร์
“หากสหรัฐฯ ที่เป็นตลาดส่งออกสำคัญของไทยสัดส่วน 15% ตลาดยุโรปและอังกฤษสัดส่วน 15% เศรษฐกิจชะลอตัว การส่งออกของไทยในไตรมาส 3 และ 4 ของปีนี้น่าจะปรับตัวลดลง ขณะที่เงินบาทของไทยมีโอกาสอ่อนค่าไปที่ 37 บาทต่อดอลลาร์ ขึ้นกับนโยบายดอกเบี้ยไทยว่าจะปรับขึ้นหรือไม่ ถ้าไม่ปรับขึ้นมีโอกาสบาทอ่อนถึง 37 บาทสูง เพราะธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด)ส่งสัญญาณจะปรับขึ้นดอกเบี้ยอีก 0.5 ถึง 0.75% ในเดือนนี้”
สำหรับภาคเอกชนในช่วงที่สถานการณ์เศรฐกิจถดถอย ค่าบาทผันผวน มีข้อแนะนำให้วางแผนธุรกิจโดยเพิ่มการทำการค้ากับประเทศที่เริ่มไม่ผูกค่าเงินเป็นดอลลาร์สหรัฐฯ และควรสมัครสมาชิกระบบการชำระเงินที่มากกว่าระบบ SWIFT
ส่งออก-นำเข้าโอดบริหารจัดการยาก
ด้าน นายชัยชาญ เจริญสุข ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) กล่าวว่า แม้บาทอ่อนค่าที่ระดับ 36 บาทต่อดอลลาร์ในเวลานี้จะส่งผลดีต่อความสามารถในการแข่งขันส่งออก แต่อีกด้านกระทบการนำเข้าน้ำมันเชื้อเพลิง และวัตถุดิบที่จำเป็นต้องนำเข้าในราคาสูงขึ้น ส่งผลต้นทุนการผลิต ราคาสินค้า และค่าขนส่งมีต้นทุนสูงขึ้น ซึ่งจะกระทบผู้บริโภคหากมีการปรับราคาสินค้า
“เงินบาทที่อ่อนค่าเร็วกว่าปกติมีผลต่อการบริหารจัดการ การคำนวณต้นทุน และราคาขาย ขณะที่การจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายของสหรัฐฯอีกหลายรอบ เป็นปัจจัยหนึ่งที่นักลงทุนนำเงินกลับอเมริกา ดังนั้นมีโอกาสที่เงินบาทจะอ่อนค่าไปที่ 37-38 บาทต่อดอลลาร์ ซึ่งเป็นไปได้ที่จะมีความผันผวนในระยะสั้นๆ เนื่องจากพื้นฐานทางเศรษฐกิจ ทั้งภาคการผลิต การส่งออก และการท่องเที่ยวยังสามารถขับเคลื่อนได้”
อย่างไรก็ดีจากเงินบาทที่ผันผวน ผู้ส่งออกต้องระมัดระวังอย่างมากในการคำนวณราคาขาย เพราะไม่สามารถคาดเดาได้ว่าในอีก 2-3 เดือนข้างหน้าที่จะได้รับการชำระเงินค่าเงินบาทจะเป็นอย่างไร ดังนั้นในส่วนของภาครัฐโดยธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ควรบริหารค่าเงินบาทให้มีเสถียรภาพไม่ให้ผันผวนขึ้น-ลงเร็ว ส่วนตลาดสหรัฐฯและยุโรปที่การส่งออกมีแนวโน้มชะลอตัวลง ภาคเอกชนต้องเร่งรุกตลาดอื่นที่มีศักยภาพทดแทน เช่น จีน ตะวันอออกกลาง อินเดีย และอาเซียน โดยสรท.ยังมั่นใจว่าการส่งออกไทยปีนี้จะยังขยายตัวได้ที่ 5-8%
สภาอุตฯจี้เร่งหาตลาดใหม่
เช่นเดียวกับ นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ที่กล่าวว่า มีโอกาสที่เงินบาทจะอ่อนค่าถึง 37-38 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ จากนโยบายของสหรัฐฯที่รบกับภาวะเงินเฟ้อโดยการใช้ยาแรงคือการขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายจนถึงสิ้นปีนี้อีกหลายครั้ง เป้าหมายที่ 3.40% ถือเป็นช่วงดอกเบี้ยขาขึ้น ส่งผลให้เงินดอลลาร์สหรัฐฯแข็งค่าขึ้น สวนทางบาทอ่อนค่า
“ผู้ได้รับอานิสงส์โดยตรงจากบาทอ่อนค่าคือ ผู้ส่งออก และภาคอุตสาหกรรมท่องเที่ยว แต่ขณะเดียวกัน บาทอ่อนค่ามากยิ่งส่งผลซ้ำเติมภาวะเงินเฟ้อของไทยที่ขณะนี้สูงมากถึง 7.66% (มิ.ย.65) โดยเกิดจากลักษณะ Cost Push ต้นทุนสูง สาเหตุหลักจากหมวดค่านำเข้าพลังงาน เช่น น้ำมัน ก๊าซ และราคาสินค้าหมวดอาหารสด และอาหารสำเร็จรูป รวมถึงสินค้าวัตถุดิบและสินค้าทุน ยิ่งเงินบาทอ่อนค่าลงเท่าไร จะส่งผลต่อต้นทุนนำเข้ามากขึ้นเท่านั้น”
ขณะสงครามระหว่างรัสเซีย-ยูเครน ที่ยังคงยืดเยื้อ ส่งผลราคาพลังงานของโลกยังอยู่ในทิศทางขาขึ้น รวมทั้งสภาวะการขาดแคลนอาหารยิ่งทวีความรุนแรงขึ้นในหลายประเทศ ส่งผลให้เกิดภาวะเงินเฟ้อหนักในเกือบทุกประเทศ โดยเฉพาะสหรัฐฯ และยุโรป ย่อมส่งผลกระทบต่อกำลังซื้อทั่วโลก คาดจะเริ่มออกอาการแผ่วลงในช่วงครึ่งหลังของปีนี้ ดังนั้นภาคเอกชนต้องเตรียมพร้อมในการรับมือ และรีบเร่งหาตลาดใหม่ ๆ อื่น ๆ ชดเชย
จับตา กนง. ขึ้นดอกเบี้ยฉุกเฉิน
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ตลาดกำลังจับตาท่าทีของ ธปท. ว่า จะมีการประชุมฉุกเฉินคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ก่อนถึงวันประชุมจริงในวันที่ 10 สิงหาคมนี้หรือไม่ หลังสหรัฐฯประกาศอัตราเงินเฟ้อ เดือนมิถุนายนพบว่า ขยายตัวสูงถึง 9.1% สูงสุดในรอบ 40 ปี ทำให้มีความเป็นไปได้ที่จะเห็น ธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายถึง 1.00% ในการประชุมคณะกรรมการกำหนดนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐฯ (FOMC) เดือนนี้ ซึ่งจะทำให้ส่วนต่างดอกเบี้ยไทยกับสหรัฐฯห่างกันมากขึ้น
ทั้งนี้การคงดอกเบี้ยนโยบายของไทยที่ 0.50% มาตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2563 ในขณะที่สหรัฐฯเร่งขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย เพื่อสกัดเงินเฟ้อ ทำให้ค่าเงินดอลลาร์แข็งค่าขึ้นอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้ค่าเงินสกุลอื่น ๆ ทั่วโลกอ่อนค่าลง รวมถึงค่าเงินบาทด้วย โดยตั้งแต่ต้นปีเงินบาทอ่อนค่าลงแล้วกว่า 7%
ล่าสุดของการแลกเงินบาทในตลาดสปอตสูงกว่าตลาดฟิวเจอร์ถึง 15 สตางค์ต่อ 3 เดือน อย่างเช่นตลาดสปอตอยู่ที่ 36.3 บาทต่อดอลลาร์ แต่แลกตลาดฟิวเจอร์จะอยู่ที่ 36.1 บาทต่อดอลลาร์ ซึ่งหากเฟดขึ้นดอกเบี้ย 1% ส่วนต่างดอกเบี้ยจะห่างกันมาก จะทำให้อัตราดอกเบี้ยแท้จริงไทยติดลบมหาศาล
อย่างไรก็ตาม ธปท.ไม่ต้องการขึ้นดอกเบี้ย เพราะเห็นว่า เศรษฐกิจไทยเพิ่งฟื้นตัวจากโควิด-19 ซึ่งช้ากว่าประเทศอื่น ๆ ทั่วโลก เพราะมีขนาดเศรษฐกิจเล็ก จึงต้องการให้เศรษฐกิจไทย smooth take off โดยยอมใช้เงินสำรองส่วนเกินมาแทรกแซงไม่ให้เงินบาทอ่อนค่าแรง เพื่อไม่ให้ค่าเงินส่งผลต่อเงินเฟ้อ โดยที่ผ่านมาใช้ไปแล้ว 3 หมื่นล้านดอลลาร์หรือ 1 ล้านล้านบาท แต่ในที่สุดเชื่อว่า กนง. จะขึ้นดอกเบี้ยฉุกเฉิน 0.25% ครั้งหนึ่งก่อนจะขึ้นอีก 0.25% ในการประชุมจริงเพื่อรักษาส่วนต่างนี้ไว้
หน้า 1 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3801 วันที่ 17 -20 กรกฎาคม 2565