อีกด้านหนึ่งผู้ประกอบการก็แบกรับภาระต้นทุนที่พุ่งแบบไม่ยั้ง ขณะเดียวกันยังต้องรอลุ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทยในเดือนสิงหาคมนี้ว่าจะเป็นอย่างไร แต่ไม่ว่าจะออกมาในทิศทางใดก็จะเกิดทั้งผลบวกและลบได้กับบางกลุ่มบางธุรกิจ
ล่าสุด “ฐานเศรษฐกิจ” ประมวลความเห็นนักวิชาการ และตัวแทนภาคเอกชนมองสถานการณ์เศรษฐกิจไทยในขณะนี้ ส่วนใหญ่มีมุมมองที่สะท้อนถึงความกังวลและเห็นว่าจำเป็นต้องเร่งฟื้นเศรษฐกิจโดยด่วน
หวั่นเงินเฟ้อพุ่ง 2 หลัก
รศ.ดร.อัทธ์ พิศาลวานิช ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาการค้าระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวว่า เศรษฐกิจไทยน่าห่วง มองว่าปี 2565 จะฟื้นตัวต่ำกว่าที่คาดการณ์ไว้ ประเมินทั้งปีนี้จะขยายตัวได้ 2.5-3% โดยเศรษฐกิจในครึ่งปีหลังคาดจะชะลอตัว จากตลาดส่งออกหลักๆ ทั้งสหรัฐฯ และยุโรป กำลังซื้อหดตัวจากเงินเฟ้อสูงสุดในรอบ 40 ปี ส่งผลให้กำลังซื้อลดลง สำหรับประเทศไทยปี 2564 หนี้ครัวเรือนอยู่ที่ 90% ของ จีดีพี ปี 2565 มีโอกาสถึง 100% ของจีดีพี หากเงิน เฟ้อรุนแรงขึ้น มีโอกาสได้เห็นเงิน เฟ้อในครึ่งปีหลังเป็นตัวเลข 2 หลัก
สิ่งที่คนไทยกำลังเจอขณะนี้คือ กำลังซื้อลดลงจากราคาสินค้าที่ปรับตัวสูงขึ้นมาก ทั้งจากราคาน้ำมันและราคาสินค้าโดยรวม ทำให้อยู่ในภาวะลำบาก “รายได้ไม่เพิ่ม แต่ต้องจ่ายเพิ่ม เงินเหลือในกระเป๋าลดลง หรือไม่เหลือ” โดยเงินเฟ้อครึ่งปีหลังที่อาจปรับตัวสูงมาจาก 1.ราคาน้ำมันในตลาดโลกที่ปรับตัวสูงขึ้น มีการคาดการณ์จากสำนักต่างประเทศอยู่ระหว่าง 140-200 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อบาร์เรล 2.ราคาสินค้าจากกลุ่มอาหารคนและสัตว์ และพืชพลังงานปรับตัวสูง ทำให้ต้นทุนในการผลิตสูงขึ้น 3.ราคาปุ๋ยที่ปรับตัวสูงขึ้น 200-300% 4.เงินบาทที่อ่อนทำให้น้ำมันและวัตถุดิบนำเข้าสูง
“ดังนั้นรัฐบาลควรเร่งดำเนินการกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างเร่งด่วนก่อน เช่น ตรึงราคาน้ำมันไม่ให้สูงกว่าที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน เพื่อช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายของคนไทย การทำโครงการ Food for Oil หรือ Food for Fertilizers เพื่อตกลงหรือซื้อน้ำมันและปุ๋ยในราคาถูกจากประเทศผู้ส่งออกน้ำมันแลกกับอาหารไทย การชะลอขึ้นดอกเบี้ย เพราะจะเป็นการซ้ำเติมทำให้ประชาชนมีภาระค่าใช้จ่าย และหนี้เพิ่ม และประเมินว่าถ้าไม่รีบทำอะไร สิ่งที่จะตามมาในระยะอันใกล้นี้ คือ ปัญหาคนว่างงานจะเพิ่มขึ้น ปัญหาสังคม หนี้ครัวเรือนสูงขึ้น NPL เพิ่ม ธุรกิจปิดตัวเพิ่ม”
ห่วงขึ้นดอกเบี้ยนโยบายซ้ำเติม SME
สอดคล้องกับ ดร.ณพพงศ์ ธีระวร ประธานกิตติมศักดิ์ และประธานยุทธศาสตร์ สมาพันธ์เอสเอ็มอีไทย ที่ระบุว่า มีความกังวลการขึ้นดอกเบี้ยนโยบายจะเป็นการซ้ำเติม และสร้างผลกระทบต่อผู้ประกอบการ SME ไม่ว่าจะเป็นภาระหนี้เดิมที่มีดอกเบี้ยเพิ่มสูงขึ้น ภาระต้นทุนของสินค้าและบริการที่สูงขึ้น สร้างปัญหาสภาพคล่องให้กับ SME มากขึ้น
นอกจากนี้ความไม่มั่นใจในเรื่องการปรับขึ้นดอกเบี้ยส่งผลให้ผู้ประกอบการ SME ไม่กล้าลงทุนใหม่ จากเดิมเวลานี้ก็ไม่ค่อยกล้าลงทุนอยู่แล้ว และถ้ามีการขึ้นดอกเบี้ยจริงๆ หลายรายต้องประสบกับการขาดทุน และหลายรายต้องปิดกิจการไปในที่สุด ซึ่งจะส่งผลให้เศรษฐกิจไทยโดยภาพรวมมีความเสี่ยงที่จะเผชิญกับภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว แต่เงินเฟ้อกลับพุ่ง (Stagflation) และมีความเสี่ยงจะทำให้เศรษฐกิจเข้าสู่ภาวะถดถอย หรือ Recession หากแรงกดดันของภาวะเศรษฐกิจชะงักงันยังมีสูงเช่นนี้ต่อไป
“การเพิ่มดอกเบี้ยนโยบายอาจช่วยสกัดเงินเฟ้อได้ในระดับหนึ่ง แต่ต้องแลกมาด้วยภาระของ SME และหนี้ครัวเรือนในระบบที่สูงขึ้น รวมถึงส่งผลหนี้เสีย หรือ NPL ที่จะมากขึ้นอีกด้วย ตอนนี้มีสินเชื่อเช่าซื้อรถเกือบ 4 แสนคัน และสินเชื่อบ้านอีกเกือบ 1 แสนหลัง กำลังประสบปัญหาการผ่อนชำระอาจถูกยึดได้ในอนาคตอันสั้น นี่เป็นอีกหนึ่งผลกระทบที่รอเวลาระเบิดใส่ระบบเศรษฐกิจไทย หลังมีการขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย”
ทั้งนี้การตั้งกองทุนขึ้นมาเพื่อสร้างทางเลือกให้ SME ในการเข้าถึงแหล่งทุนที่มีอัตราดอกเบี้ยถูกกว่าท้องตลาดก็เป็นอีกทางเลือกนึง แต่ต้องมาพร้อมกับตัวช่วยอื่น ๆ เช่นต้องให้ความรู้ในการบริหารความเสี่ยง ในการลดต้นทุน ช่วยหาทางเลือกในการเข้าถึงเทคโนโลยีหรือนวัตกรรมใหม่ ๆ หรือแม้แต่โอกาสทางการตลาดใหม่ ๆควบคู่กัน
การออกกฎหมายใหม่ ๆ เพื่อสร้างทางเลือกในการเข้าถึงแหล่งเงินกู้ที่มีความหลากหลายกว่าการมีแค่ระบบธนาคาร ส่งเสริมให้ภาคเอกชนที่แข็งแรงสามารถขอ License ในการปล่อยกู้ หรือเปิดโอกาสให้ภาคเอกชนที่มี License ในการปล่อยกู้ สามารถเข้าถึง Soft Loan ของแบงก์ชาติได้ เพื่อสร้างทางเลือก และทำให้เกิดการแข่งขันกัน โดยมีการควบคุมอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ให้อยู่ในระดับที่เหมาะสมที่พ่อค้า แม่ค้า และ SME อยู่ได้ เป็นต้น จริง ๆ น่าจะถึงเวลาปฏิรูปกฏหมายที่เป็นอุปสรรคทางการค้าต่าง ๆ รวมไปถึงการปฏิรูปกลไกการปกป้องระบบการเงินที่ธนาคารได้เปรียบคนส่วนใหญ่ของประเทศ ไม่ว่าดอกเบี้ยจะขึ้นหรือจะลง "ธนาคารกำไรเสมอ" แต่คนที่รับกรรมเป็นลำดับแรกๆคือ SME และประชาชนทั่วไปซึ่งเป็นคนตัวเล็กของประเทศ นั่นหมายความว่า "ยิ่งจน ยิ่งเจ็บ"
ซีอีโอ WHA หนุนขึ้นดอกเบี้ย
ขณะที่มุมมองของ นางสาวจรีพร จารุกรสกุล ประธานคณะกรรมการบริษัท และ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่ม บริษัท ดับบลิวเอชเอ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ WHA มองว่า ปลายปีนี้เงินบาทน่าจะแข็งค่าขึ้น และคิดว่า นโยบายขึ้นดอกเบี้ยควรปรับขึ้นเพื่อควบคุมเงินเฟ้อให้ได้ ทั้งที่โดยส่วนตัวเป็นนักธุรกิจก็ไม่อยากให้ปรับขึ้นดอกเบี้ย แต่เวลานี้ต้องมองในภาพรวมที่ต้องดำเนินการก่อน
อย่างไรก็ตาม ภาพรวมเศรษฐกิจปีนี้ ถ้ามองในแง่บวกจะดีกว่าปีที่แล้ว เพียงแต่ช่วงนี้ต้องมาเจอเรื่องสงครามรัสเซีย-ยูเครน ดอกเบี้ยขาขึ้น และปัญหาเงินเฟ้อ อีกทั้งต้นทุนพลังงานสูงขึ้น ส่วนสถานะเศรษฐกิจตอนนี้ มีบางอย่างดีขึ้น เช่น ท่องเที่ยวดีขึ้น ดีกว่าปิดเมืองแบบปีก่อน เงินบาทอ่อนค่าทำให้การมาท่องเที่ยวไทยถูกลง และถ้ามองในแง่ภาคธุรกิจ กลุ่มนิคมอุตสาหกรรม WHA มองว่ายอดขายทะลุเป้าแน่นอน
โดยตอนนี้ในไทยตั้งเป้ายอดขายที่ 950 ไร่ ล่าสุดขายได้ทะลุ 1,000 ไร่แล้ว ส่วนนิคมอุตสาหกรรมที่เวียดนามตั้งเป้ายอดขายไว้ที่ 300 ไร่ จะเห็นว่าปี 2565 นิคมฯในกลุ่ม WHA ดีเกินเป้า โดยตั้งเป้าเติบโตสูงกว่าปีที่แล้ว 40% ซึ่งหมายความว่าการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ หรือ FDI บวกกับกระแสการเคลื่อนย้ายทุนเกิดขึ้นแล้วตอนนี้
“รัฐบาลจะต้องดูว่าตรงไหนทำได้เร็วที่สุด และไม่ต้องใช้งบมาก ต้องรีบทำก่อน ตอนนี้ทุนทั่วโลกยังเคลื่อนย้ายมาไทย อินโดนีเซีย และเวียดนาม รัฐบาลไทยต้องเร่งเดินสายโรดโชว์ เจาะเป็นคลัสเตอร์เข้ามา หรือทำความร่วมมือด้านต่าง ๆ ตรงนี้จะเป็นโอกาสทำให้เกิดการสร้างคน สร้างงาน และจีดีพีเติบโต”
จี้เร่งคุมเงินเฟ้อ
ส่วน นายสมศักดิ์ จิตติพลังศรี กรรมการผู้จัดการ บริษัท ซัยโจ เดนกิ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด ผู้ผลิตและจำหน่ายเครื่องปรับอากาศ “ซัยโจ เดนกิ” มองว่าสิ่งที่กระทบมากที่สุดตอนนี้คือค่าเงินบาท เราไม่ได้เป็นผู้ส่งออกหลักแล้ว แต่เรากลายเป็นผู้นำเข้ามากขึ้น เวลานี้ค่าเงินบาทอ่อนเราเสียเปรียบ เพราะไม่มีใครซื้อของจากเรา เราอยู่ในสภาพตลาดวายแต่ค่าเงินเราอ่อนมาก ทำให้มีต้นทุนสูง ค่าครองชีพสูง
“สิ่งที่รัฐบาลต้องเร่งทำคือ สร้างความเชื่อมั่นในเรื่องค่าเงินบาทก่อน การประชุมของ กนง.ก็ควรไปในทิศทางเดียวกันอย่างเป็นเอกภาพ ไม่ใช่เสียงแตก อย่างน้อยควรมีการปรับขึ้นดอกเบี้ย แสดงให้เห็นว่าประเทศไทยไม่ได้ปล่อยปละละเลยค่าเงินบาท และควบคุมเงินเฟ้อให้ได้”
นายสมศักดิ์ ย้ำอีกว่า น่าเป็นห่วงในแง่กำลังซื้อหายไปมาก และเราก็ไม่ได้ดูแลปัญหาโครงสร้างพื้นฐาน จะเห็นว่าต้นทุนด้านโลจิส ติกส์ไทยสูงมาก ไทยยังขาดจุดแข็งด้านความสามารถในการพัฒนาตัวเอง ขาดการสร้างสินค้าของเราให้เป็นพระเอก ทุกวันนี้ยังขนส่งน้ำมันโดยรถขนส่งเป็นหลัก แทนที่จะไปเน้นขนส่งน้ำมันทางท่อทำให้ประเทศไทยเรายังซึมซับต้นทุนแฝงไว้สูงมาก สูญเสียศักยภาพการแข่งขันไปโดยไม่รู้ตัว
หน้า 9 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3801 วันที่ 17 -20 กรกฎาคม 2565