“สนธิรัตน์”จี้รัฐรับมือ“ค่าไฟแพง-บาทอ่อน”ระเบิดเวลากระทบประชาชน

17 ก.ค. 2565 | 04:12 น.
อัปเดตล่าสุด :17 ก.ค. 2565 | 11:21 น.

“สนธิรัตน์”เลขาธิการพรรคสร้างอนาคตไทย จี้รัฐบาลออกมาตรการรับมือ ”ค่าไฟแพง” ที่ปรับขึ้น และการอ่อนตัวของค่าเงินบาท ที่จะเป็นระเบิดเวลากระทบปัญหาปากท้องประชาชน

วันนี้(17 ก.ค.65) นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ เลขาธิการพรรคสร้างอนาคตไทย และอดีตรมว.พลังงาน โพสต์เฟซบุ๊ก ระบุว่า ค่าไฟ ค่าเงินบาท / 2 เรื่องกระทบปากท้องที่ต้องจับตาครับ


สัปดาห์ก่อนผมเก็บเอาเรื่องสถานการณ์ค่าครองชีพที่เพิ่มสูงขึ้นส่งผลกระทบต่อพวกเราเต็มๆ 


สัปดาห์นี้มีอีก 2 เรื่องที่ขอพูดถึงเพราะถือเป็น “ระเบิดเวลาปัญหาปากท้อง” ลูกต่อไปครับ

เรื่องแรก ค่าไฟฟ้า (ค่าเอฟที FT) ที่กำลังเตรียมจะเพิ่มขึ้นอีกประมาณหน่วยละ 5 บาท ในงวดเดือนกันยายน – ธันวาคมที่จะถึงนี้ พวกเราต้องเตรียมรับมือกับค่าไฟที่เพิ่มขึ้นกันนะครับ 

 

ล่าสุดมีข้อมูลขีดสามารถในการส่งก๊าซของแหล่งบงกชเหนือหรือ GBN  ว่าลดลงจากเดิม 500 เหลือ 385 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน (ช่วง29 มิ.ย. - 16 ก.ค. 65)
ความสามารถที่ลดลงนี้อาจจะมีผลอต่อการผลิตไฟฟ้าครับ

ต้องบอกอย่างนี้ครับว่า ก๊าซธรรมชาตินั้นถูกนำไปใช้ในการผลิตไฟฟ้าเป็นหลัก โดยมีสัดส่วนการใช้ถึง 60% และที่เหลือเป็นการใช้ในภาคอุตสาหกรรม โรงแยกก๊าซ NGV และอื่นๆ


ปัจจุบันความสามารถในการผลิตเราเทียบกับช่วงปีก่อนเหลือเพียงแค่ 65 % ลดลงกว่า 20.6 % ในการผลิตก๊าซธรรมชาติเพื่อใช้เอง 


ขณะที่สัดส่วนการนำเข้าเพิ่มขึ้น 3.8 % โดยมีสัดส่วนอยู่ที่35 %  ด้วยค่าก๊าซที่ตลาดโลกมีราคาแพงเราต้องนำเข้าปัจจุบันแบ่งเป็นการนำเข้าจากเมียนมาร์ 17 % จากแหล่งยาดานา ซอติกา และ เยตากุน และอีก 18 % คือนำเข้า LNG จากประเทศผู้ผลิตอื่นๆ  ซึ่งในอนาคตการนำเข้าในสัดส่วนนี้จะเพิ่มมากขึ้น

                          “สนธิรัตน์”จี้รัฐรับมือ“ค่าไฟแพง-บาทอ่อน”ระเบิดเวลากระทบประชาชน
และแน่นอนครับว่ายิ่งความสามารถการผลิตเรามีแนวโน้มลดลงเรื่อย  เราก็จำเป็นที่จะต้องพึ่งการนำเข้าที่มากขึ้น และแน่นอนครับต้องแลกมาด้วยต้นทุนด้านการแปรสภาพ LNG ให้เป็นก๊าซธรรมชาติและค่าใช้จ่ายอื่นๆ เช่น ค่าขนส่ง


ในส่วนของการนำเข้าทั้งจากเมียนมาร์ และLNG จากผู้ผลิตเป็นการจัดซื้อโดยจ่ายเป็นเงินสกุล USD (ดอลลาร์สหรัฐ) และยิ่งค่าเงินบาทยิ่งอ่อนมากเท่าไหร่ นั่นหมายความว่าราคาก๊าซจะเพิ่มสูงขึ้นตามไปด้วย 


นี่จึงเป็นอีกเรื่องที่ต้องให้ความสนใจครับ เรื่อง ค่าเงินบาท


ล่าสุด (16 ก.ค.) เงินบาทอ่อนค่าไปที่ 36.73 บาทต่อ 1 USD อ่อนค่าสูงสุดในรอบ 15 ปี และมีแนวโน้มผันผวนและมีความเสี่ยงที่จะอ่อนค่าลงอีก จากการขึ้นดอกเบี้ยของ FED และมีผลต่อการแข็งค่าของ USD และความกังวลสถานการณ์COVID-19 ในประเทศจีน 

 

ความกังวลเรื่องค่าเงินและสถานการณ์เหล่านี้ยังไม่จบง่ายๆครับ เราคงจะได้เห็นสถานการณ์ที่ยาวต่อจากนี้ ทั้งความขัดแย้งรัสเซีย ยูเครนที่ทอดระยะเวลาออกไป ปัญหาเงินเฟ้อและการเพิ่มดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐ (FED) ซึ่งมีแนวโน้มปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเป็น 1 % ในการประชุมช่วงปลายเดือนนี้

 

สำหรับค่าเงินที่อ่อนลงแม้จะความโชคดีและเอื้อต่อการส่งออกในบ้านเราที่มากขึ้น 

 

แต่ถึงอย่างไร ก็เป็นผลกระทบในเชิงลบสำหรับธุรกิจภาคเอสเอ็มอี (SME) ที่นำเข้าสินค้า ที่จะได้รับทั้งผลกระทบจากต้นทุนสินค้าที่เพิ่มสูงขึ้นและไม่มีกำลังพอที่จะพัฒนาขีดความสามารถต่อภายใต้เงื่อนไขที่เป็นอยู่ 

 

รัฐจะต้องหาแนวทางในการช่วยเหลือพวกเขาต่อไป ไม่ว่าจะผ่านการจ้างงาน หรือพัฒนาความสามารถในการแข่งขันต่อไป

 

สุดท้ายนี้ ผมคงต้องขอบอกว่า สำหรับสถานการณ์ที่เกิดขึ้นไม่เป็นผลดีต่อเศรษฐกิจในระยะยาวแน่นอนครับ “ความเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นได้ทุกเมื่อ” และหากรัฐไม่เตรียมการรับมือดีๆ ก็อาจติดกับดักระเบิดระลอกใหม่ต่อไปได้ เป็นกำลังใจให้ทุกท่านครับ