นายสนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กล่าวว่า หอการค้าไทย มองว่าเศรษฐกิจจีนมีความสำคัญต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจไทยเป็นอย่างมาก และประเทศจีนก็ยังเป็นคู่ค้าอันดับ 1 ของไทย ซึ่งการค้าระหว่างไทยและจีนในช่วง 5 เดือนแรกของปีนี้ มีมูลค่ากว่า 44,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัว 9.2% โดยการส่งออกขยายตัว 1.57% ส่วนการนำเข้าขยายตัว 13.59 %
สำหรับด้านการลงทุนของจีนในไทย เมื่อปี 2564 มีมูลค่าการลงทุนอยู่ที่ 1,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ คาดว่าในปี 2565 เมื่อสถานการณ์โควิด-19 เริ่มคลี่คลายก็จะทำให้การลงทุนของจีนในไทยดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง ถึงแม้ว่าเศรษฐกิจของจีนในไตรมาสที่ 2 จะเติบโตได้น้อยกว่าที่หลายฝ่ายคาดการณ์
เนื่องจากมีการล็อกดาวน์ในช่วงที่ผ่านมา แต่เศรษฐกิจภายในของจีนยังมีความแข็งแกร่งอยู่มาก ตัวเลขหลายอย่างของจีน เช่น การค้าปลีก และการส่งออก ยังคงเติบโตได้ดี ดังนั้น การสร้างความสัมพันธ์ทางการค้ากับจีนจึงเป็นสิ่งสำคัญที่จะทำให้ประเทศไทยเติบโตได้อีกมากในอนาคต
ทั้งนี้หอการค้าไทย จึงได้ร่วมกับใหาวิทยาลัยหอการค้าไทย และมหาวิทยาลัยภาษาและวัฒนธรรมปักกิ่ง (BLCU) เปิดตัวหลักสูตร TEPCIAN (Top Executive Program on China Business Insights and Network) รุ่นที่ 2 หรือ หลักสูตรผู้บริหารระดับสูงด้านองค์ความรู้และความร่วมมือทางธุรกิจจีน โดยการนำเอาความสุดยอดขั้นเซียนของแต่ละองค์กร มาบูรณาการร่วมกันจนกลายเป็นหลักสูตรที่จะเชื่อมเครือข่ายธุรกิจ สานสัมพันธ์ไทย-จีน ให้เกิดความเข้าใจ และมีการต่อยอดทางธุรกิจระหว่างกันให้เกิดผลเป็นรูปธรรม
ด้านนายธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวว่า หลักสูตร TEPCIAN จะเน้นกระบวนการแลกเปลี่ยนความรู้และวิสัยทัศน์ เรียนรู้จากประสบการณ์จริงของผู้บริหารและผู้ประกอบการที่เป็นที่ยอมรับอย่างกว้างขวางในไทยและจีน
ทั้งด้านเศรษฐกิจ การค้า และการลงทุน สามารถเสริมสร้างเครือข่ายความสัมพันธ์ด้านการค้า และการพาณิชย์ระหว่างผู้บริหารระดับสูง ในภาคส่วนต่าง ๆ ทั้งไทยและจีน
โดยเริ่มเรียนรู้จากประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมของจีน เรื่อยมาจนถึงนโยบายการสร้างชาติจีนใหม่ โครงสร้างการบริหารประเทศ ตลอดจนการเติบโตทางธุรกิจและเทคโนโลยี นอกจากนั้น ยังเป็นหลักสูตรที่เน้นพัฒนาผู้เรียนให้สามารถสื่อสารภาษาจีนได้ในชีวิตประจำวัน เข้าใจวัฒนธรรมจีน ตลอดจนสร้างความประทับใจในการร่วมมือทางธุรกิจกับจีนได้