ศูนย์วิจัยกสิกรไทยระบุว่า มาตรการโควิดเป็นศูนย์หรือ Zero Covid กดดันเศรษฐกิจจีนไตรมาส 2/2565 ขยายตัวเพียง 0.4%YoY ต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ 1.5%YoY ส่งผลให้ครึ่งปีแรกเติบโตเพียง 2.5% เนื่องจากในช่วงเดือนมี.ค.-เม.ย. 65 จำนวนผู้ติดเชื้อในจีนเร่งตัวสูงขึ้น ทำให้จีนมีการล็อกดาวน์เมืองสำคัญ เช่น เซี่ยงไฮ้ และปักกิ่ง โดย GDP ของเซี่ยงไฮ้ และปักกิ่งในไตรมาสที่ 2 หดตัวลงอยู่ที่ -13.7% และ 2.9% YoY
การล็อกดาวน์ส่งผลให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจต่างๆ ชะลอตัวลง ทั้งในส่วนของการผลิตสินค้า การขนส่งต่าง ๆ เมื่อพิจารณาองค์ประกอบสำคัญของตัวเลข GDP ตัวเลขยอดค้าปลีกในช่วงครึ่งแรกของปีหดตัวลง -0.7% YoY ซึ่งหดตัวทั้งในเขตชนบทและเขตเมืองสะท้อนถึงความเชื่อมั่นและกำลังซื้อที่เปราะบางจากกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่ชะลอลงจากการปิดเมือง
นอกจากนี้ การส่งออกและการนำเข้าได้รับปัจจัยกดดันจากสถานการณ์ปิดเมืองเช่นเดียวกัน โดยเดือนเม.ย.65 การส่งออกเติบโตเพียง 3.9% จาก 14.7% ในเดือนมี.ค.65 ขณะที่ภาคการนำเข้าชะลอตัวลงไปในทิศทางเดียวกับตัวเลข PMI ภาคการผลิตที่อยู่ต่ำกว่าระดับขยายตัว (เดือนเม.ย. 65 อยู่ที่ 47.4)
อย่างไรก็ดี หลังจีนเริ่มเปิดเมืองเมื่อเดือนมิ.ย.65 ตัวเลขเศรษฐกิจต่าง ๆ เริ่มส่งสัญญาณฟื้นตัวขึ้น สะท้อนจากตัวเลขเศรษฐกิจต่าง ๆ ที่ปรับตัวดีขึ้นทั้งดัชนี PMI ภาคการผลิตและบริการในเดือนมิ.ย.65 ที่เริ่มกลับมาอยู่ในระดับขยายตัวที่ 51.7 และ 54.5 ขณะที่ปัจจัยขับเคลื่อนหลักของเศรษฐกิจจีนในปีนี้คาดว่าจะมาจากการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน (Investment in Fixed Asset) ที่ครึ่งปีแรกเติบโตสูงถึง 6.1%YoY
ในระยะข้างหน้าเศรษฐกิจจีนมีแนวโน้มขยายตัวดีขึ้นกว่าในช่วงครึ่งแรกของปี แต่ยังเผชิญความเสี่ยงสำคัญอีกหลายด้าน มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจทั้งภาคการเงินและการคลังจะเป็นปัจจัยหลักในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจจีนในช่วงที่เหลือของปี 2565
หลังเผชิญการปิดเมืองจากการระบาดของโควิด-19 ระลอกล่าสุด จีนได้มีการออก 33 มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่เสียหายจากการปิดเมืองเมื่อวันที่ 31 พ.ค.65 ทั้งในส่วนการคลัง เช่น การขยายเวลาขอคืนภาษีมูลค่าเพิ่ม และการเลื่อนจ่ายประกันสังคมของธุรกิจขนาดเล็ก รวมถึงในด้านการลงทุนผ่านการออกพันธบัตรรัฐวิสาหกิจจำนวนประมาณ 3.45 ล้านล้านหยวนเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจจีนในช่วงครึ่งหลังของปี 2565
ขณะที่ในส่วนนโยบายการเงินจีนยังมีช่องว่างในการผ่อนคลายนโยบาย เนื่องจากระดับเงินเฟ้อยังอยู่ต่ำกว่าเป้าหมายที่ 3% (ล่าสุดอยู่ที่ 2.5% ในเดือนมิ.ย.65) โดยคาดว่าอาจมีการปรับลดดอกเบี้ยเพิ่มเติมเพื่อเพิ่มสภาพคล่องและช่วยเหลือภาคอสังหาริมทรัพย์
อย่างไรก็ตาม เศรษฐกิจจีนยังเผชิญความเสี่ยงอีกหลายด้าน ทั้งเรื่องที่จีนยังคงยืนยันที่จะใช้นโยบายโควิดเป็นศูนย์ เมื่อมีจำนวนผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นก็อาจทำให้การล็อกดาวน์เกิดขึ้นได้อีก ล่าสุดจีนได้มีประกาศล็อกดาวน์เมืองซีอาน 7 วัน หลังพบผู้ติดเชื้อสายพันธุ์โอมิครอนจำนวน 18 คน
แม้จะไม่ใช่เมืองที่เป็นศูนย์กลางทางเศรษฐกิจอย่างเซี่ยงไฮ้และปักกิ่ง แต่การที่จีนยังคงใช้นโยบายโควิดเป็นศูนย์จะกระทบความเชื่อมั่นของภาคธุรกิจ และครัวเรือนต่อเนื่อง ซึ่งปัจจัยดังกล่าวจะยิ่งส่งผลกระทบต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจต่าง ๆ ให้ยังไม่สามารถกลับมาฟื้นตัวได้เต็มที่ โดยเฉพาะภาคการท่องเที่ยวของจีนที่แม้ว่าจีนจะมีการผ่อนคลายมาตรการการเดินทางเข้าประเทศโดยลดวันกักตัวลง แต่ก็ยังถือว่าเข้มงวดกว่าประเทศอื่น ๆ ทั่วโลก
ในส่วนของภาคอสังหาริมทรัพย์ที่มีสัดส่วนใน GDP จีนค่อนข้างสูง (การลงทุนในภาคอสังหาริมทรัพย์อยู่ที่ 12.9% ต่อ GDP ในปี 2564) ยังเผชิญความเปราะบางต่อเนื่อง ตั้งแต่ช่วงครึ่งหลังของปี 2564 ที่จีนเผชิญกับการผิดชำระหนี้ของบริษัทอสังหาริมทรัพย์ขนาดใหญ่
สถานการณ์ดังกล่าวยังคงสืบเนื่องมาจนปัจจุบันและยังไม่มีแนวโน้มคลี่คลายลง โดย อัตราส่วนการผิดนัดชำระหนี้ (Default Rate) ของหุ้นกู้สกุลเงินดอลลาร์สหรัฐฯ อยู่ที่ 40%2/ ล่าสุด รายงานของ Moody’s ระบุว่า ได้มีการปรับอันดับเครดิตหุ้นกู้บริษัทอสังหาริมทรัพย์ในจีนลงถึง 91 แห่งในช่วง 9 เดือนที่ผ่านมา (ในอดีต Moody’s มีปรับอันดับเครดิตหุ้นกู้เอกชนที่มีเพียง 56 แห่งตลอด 10 ปีที่ผ่านมา) ซึ่งถือว่าเป็นจำนวนค่อนข้างมาก
นอกจากนี้ล่าสุดสถานการณ์การก่อสร้างบ้านที่เป็นไปอย่างล่าช้าได้ส่งผลให้ทางผู้ลงทุน/ผู้ซื้อบ้านเริ่มปฎิเสธที่จะจ่ายเงินผ่อนชำระต่อ ซึ่งหากสถานการณ์ลุกลามจะส่งผลกระทบไปยังความเชื่อมั่นในภาพอสังหาริมทรัพย์และภาคธนาคาร
ขณะที่สถานการณ์การระดมทุนหรือขอกู้ใหม่ของภาคอสังหาริมทรัพย์ยังเป็นไปได้อย่างยากลำบาก โดยยังมีกฎ Three Red Lines3/ ที่จำกัดการกู้เงินของภาคอสังหาริมทรัพย์ รวมถึงการกำหนดเพดานในการปล่อยกู้ของภาคธนาคาร
แม้ทางการจีนจะมีเข้ามากระตุ้นภาคอสังหาริมทรัพย์บางส่วนผ่านการปรับลดอัตราดอกเบี้ย LPR 5 ปีและผ่อนคลายกฎต่าง ๆ แต่สถานการณ์ปัจจุบันและความเชื่อมั่นที่ยังไม่กลับมาจะทำให้ภาคอสังหาริมทรัพย์ของจีนยังเป็นปัจจัยฉุดรั้งการเติบโตของภาคเศรษฐกิจในระยะต่อไป