ผมต้องขอโทษด้วยที่หายหน้าไป พอดีช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา ผมติดภารกิจไปบรรยายและกระชับความสัมพันธ์กับเครือข่ายในต่างจังหวัด เลยไม่ได้เขียนบทความตอนต่อ และขอขอบคุณท่านผู้อ่านที่สอบถามและรออ่าน “บทสรุป” ของบทความในส่วนของผลกระทบจากวิกฤติยูเครนว่า จะเป็นวิกฤติและโอกาสของจีน อาเซียน และไทย ...
ในยุคก่อนวิกฤติ รัสเซีย และ ยูเครน เป็นประเทศผู้ผลิตและส่งออกหลายสินค้าสำคัญของโลก ในกลุ่มสินค้าอาหาร โดยรัสเซียและยูเครนเป็นแหล่งซัพพลายชั้นนำที่ส่งผลกระทบทั้งทางตรงและทางอ้อม อาทิ สินค้าน้ำมันพืชมีสัดส่วนถึง 60% ของโลก
ข้าวสาลีก็เป็นอีกสินค้าหนึ่งที่ผู้คนได้รับผลกระทบกันในวงกว้าง โดยทั้งสองประเทศมีสัดส่วนถึง 30% ของทั้งหมด รัสเซียถือเป็นแชมป์ผู้ผลิตข้าวสาลีอันดับ 1 ของโลก โดยมีสัดส่วนราว 20% ของโลก ขณะที่ยูเครนเป็นผู้ผลิตข้าวสาลีอันดับ 6 ของโลก คิดเป็นเกือบ 10% ของปริมาณโดยรวมของโลก รวมทั้งยังเป็นแหล่งผลิตข้าวโพดและธัญพืชอื่นราว 20% ของโลก
และด้วยความใกล้ชิดในเชิงภูมิศาสตร์กับประเทศในยุโรป ทำให้รัสเซียและยูเครนเป็นแหล่งซัพพลายสินค้าสำคัญแก่ผู้บริโภคยุโรป จนมีคำกล่าวเชิงเปรียบเทียบว่า ทั้งสองประเทศถือได้ว่าเป็น “ตะกร้าอาหาร” ที่สำคัญของชาวยุโรป
และด้วยขนาดในเชิงภูมิศาสตร์ที่ใหญ่โตของทั้งสองประเทศ ทำให้ดินแดนของคู่พิพาทในครั้งนี้เป็นแหล่งแร่โลหะ น้ำมันดิบและก๊าซธรรมชาติที่สำคัญของโลก โดยมีสัดส่วนถึงราว 1 ใน 5 ของปริมาณโดยรวม โดยรัสเซียถือเป็นผู้ผลิตก๊าซธรรมชาติอันดับต้นๆ ของโลก และซัพพลายน้ำมันดิบถึงราว 15% ของโลก
นอกจากนี้ รัสเซียยังเป็นแหล่งผลิตปุ๋ยยูเรียที่สำคัญ โดยมีสัดส่วนถึง 15% ของโลก แต่ด้วยความต้องการใช้สินค้าดังกล่าวภายในประเทศที่จำกัด ทำให้รัสเซียเป็นผู้ส่งออกสำคัญในตลาดสินค้าดังกล่าวของโลก ส่งผลให้มีอิทธิพลโดยตรงและโดยอ้อมในวงกว้าง โดยยุโรปนำเข้าน้ำมันดิบ 30% และก๊าซธรรมชาติ 40% ของการนำเข้าโดยรวม
การขาดหายไปหรือกระตุกตัวของอุปทานสินค้าดังกล่าวจึงส่งผลกระทบต่อราคาในตลาดโลก และกระทบชิ่งต่อไปถึงวิกฤติอาหาร พลังงาน และโลจิสติกส์ที่คุกรุ่นจากปีก่อนจนกลายเป็น “วิกฤติซ้อนวิกฤติ” ลุกลามรุนแรงมากขึ้นจนถึงปัจจุบัน
เศรษฐกิจของนานาประเทศชะลอตัวลงอย่างมาก องค์การระหว่างประเทศต่างปรับลดเป้าหมายอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจจาก 4.5% ลงมาเหลือต่ำกว่า 3% เมื่อเทียบกับของปีก่อน เป้าหมายดังกล่าวอาจปรับลดลงไปอีก หากสถานการณ์วิกฤติยูเครนขยายวง หรือโลกเกิดวิกฤติใหม่เพิ่มเติมในช่วงครึ่งหลังของปี
ในด้านสินค้าอาหาร ผมประเมินว่า จนถึงกลางปีนี้ ราว 50% ของพื้นที่และผลผลิตทางการเกษตรของยูเครนยังไม่ได้เพาะปลูกหรือเก็บเกี่ยว ขณะที่ผลผลิตที่เก็บเกี่ยวแล้วก็ไม่สามารถส่งออกได้ เนื่องจากเมืองท่าทั้งหมดที่ออกสู่ทะเลดำถูกควบคุมโดยกองทัพรัสเซีย สิ่งเหล่านี้ทำให้เศรษฐกิจของยูเครนได้รับผลกระทบอย่างมาก
หลายประเทศในโลกต่างประสบวิกฤติอาหารและพลังงาน ส่งผลให้ต้องเผชิญกับปัญหาเงินเฟ้อที่สูงที่สุดในรอบหลายทศวรรษ การชุมนุมประท้วงที่เริ่มต้นจากการเรียกร้องการยุติสงคราม แปรเปลี่ยนเป็นการแทรกแซงราคาอาหารและพลังงานเมื่อภาระค่าใช้จ่ายเหล่านั้นลากยาวจนกระทบถึงรากหญ้า
นอกจากนี้ เรายังสังเกตเห็นการชุมนุมประท้วงที่ขยายวงเป็นวิกฤติการเมืองและสังคม ผมยังประเมินว่า หากนานาประเทศไม่หันหน้ามาร่วมมือกันและยุติสงครามภายในสิ้นปีนี้ โลกจะต้องเผชิญกับวิกฤติเศรษฐกิจครั้งใหญ่สุดของมวลมนุษยชาติ ที่ต้องใช้เวลาหลายปีกว่าจะพลิกฟื้นกลับคืนมาเป็นปกติ
แม้ว่ายุโรปคงไม่ “อดตาย” แต่ก็อาจต้อง “หนาวตาย” แม้ว่าหลายบริษัทข้ามชาติด้านพลังงาน อาทิ Shell, BP และ Exxon ต่างประกาศถอนการลงทุนจากรัสเซียหลังสงครามประทุขึ้น แต่สิ่งนี้ก็มิได้ส่งผลกระทบแต่อย่างใด เพราะรัสเซียเป็นประเทศที่มีเทคโนโลยีระดับสูงและความพร้อมในด้านอื่นอยู่เป็นทุนเดิม
แต่เมื่อความเสี่ยงจากสงครามดังกล่าวส่อเค้าขยายวง ประเทศในยุโรปจึงต่างประกาศนโยบายเร่งลดการพึ่งพาพลังงานจากรัสเซีย โดยกำหนดเป้าหมายให้ลดลงให้มากที่สุดภายในสิ้นปี 2024
อย่างไรก็ดี ในความพยายามที่จะลดการพึ่งพาแหล่งพลังงานจากรัสเซีย ยุโรปต้องแบกรับความเสี่ยงต่อการขาดแคลนพลังงานในช่วง 1 ปีครึ่งเป็นอย่างน้อย และ “ความเย็นยะเยือก” ใน 2 ฤดูหนาวที่รออยู่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากรัสเซียหยุด หรือลดการส่งออกให้ตลาดยุโรป
ในอีกด้านหนึ่ง ยุโรปก็จำเป็นต้องหันไปพึ่งพาแหล่งพลังงานอื่น ซึ่งดูเหมือนสหรัฐฯ จะเป็นคำตอบที่ดีที่สุด และอาจกล่าวในอีกนัยหนึ่งว่า สหรัฐฯ ประสบความสำเร็จในการทำให้ชาติในยุโรป เพิ่มระดับการพึ่งพาทางเศรษฐกิจและการทหารมากที่สุดครั้งหนึ่งในยุคหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 เลยทีเดียว
ขณะเดียวกัน รัสเซียได้ประกาศปรับนโยบายไป “มองตะวันออก” (Look East) เพื่อชดเชยการขาดหายไปของตลาดยุโรป ความสัมพันธ์ระหว่างรัสเซีย-จีนที่แนบแน่นอยู่เดิม ยิ่งแข็งแกร่งมากที่สุดช่วงหนึ่งในหน้าประวัติศาสตร์ของทั้งสองประเทศ ใกล้ชิดกันประดุจ “คอหอยกับลูกกระเดือก”
ขณะที่การกำหนดแนวทางนโยบายและมาตรการความร่วมมือระหว่างกันก็ขยายวงรอบด้าน และเข้าขากันราวกับคู่เต้นรำที่ซักซ้อมกันมาหลายทศวรรษ และพร้อมที่จะแสดงโชว์ในทุกเพลงทุกจังหวะในอนาคต จนหลายฝ่ายมองว่า สหรัฐฯ และชาติพันธมิตรมีคู่ต่อกรที่สมน้ำสมเนื้อในทุกมิติมากที่สุดอย่างไม่เคยเป็นมาก่อน
แถมก่อนหน้านี้ไม่นาน จีนยังได้ออกข่าวการเปิดสะพานเชื่อมรัสเซีย-จีนแห่งแรก สะพานเชิงสัญลักษณ์แห่งนี้มีความยาว 1 กิโลเมตรเชื่อมเมืองบลาโกเวชเชนสก์ (ด้านซีกตะวันออกของรัสเซีย) กับเมืองเฮยเหอ ซึ่งอยู่ราว 570 กิโลเมตรทางตอนเหนือของนครฮาร์บิน มณฑลเฮยหลงเจียง และคาดว่าจะมีอีกหลายเส้นทางเปิดขึ้นในอนาคต
เมื่อเร็วๆ นี้ จีนยังได้ลงนามอนุมัติเงินกู้อัตราดอกเบี้ยต่ำจำนวนถึง 50,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ แก่รัสเซียในโครงการก่อสร้างท่อน้ำมันและก๊าซธรรมชาติใหม่ เพื่อขยายเส้นทางพลังงานจากไซบีเรีย-แปซิฟิก สะพานและเส้นทางเหล่านี้จะช่วยเชื่อมให้ผู้คนและสินค้าของจีนและรัสเซียเคลื่อนย้ายระหว่างกันมากขึ้น และก่อประโยชน์ในมิติอื่น
ในมิติด้านเศรษฐกิจ ผมมองว่า จีนก็ได้รับประโยชน์ “แบบสุดๆ” จากการแนบแน่นกับรัสเซียในหลายส่วน อาทิ สินค้าเกษตรและอาหาร พลังงาน การเงิน และ BRI แน่นอนว่า จีนมีความมั่นคงด้านอาหารและพลังงานในระดับที่สูงขึ้น กล่าวคือ จีนมีแหล่งซัพพลายข้าวสาลี ข้าวโพด และ ธัญพืชอื่น รวมทั้งน้ำมันพืชที่ดีใกล้บ้าน
และในช่วงครึ่งแรกของปี 2022 จีนนำเข้าน้ำมันดิบและก๊าซธรรมชาติจากรัสเซียเพิ่มขึ้นจนแซงหน้าจากซาอุดิอาระเบียไปแล้ว โดย ณ กลางปี 2022 จีนนำเข้าน้ำมันดิบจากรัสเซียทั้งทางท่อและทางเรือรวม 2 ล้านบาร์เรลต่อวัน คิดเป็นราว 15% ของการนำเข้าโดยรวม
ทำนองเดียวกันเกิดขึ้นกับก๊าซธรรมชาติ ส่งผลให้รัสเซียกลายเป็นแหล่งพลังงานฟอสซิลหลักของจีน หลายฝ่ายต่างคาดการณ์ว่า รัสเซียจะมีบทบาทมากยิ่งขึ้นในอนาคต โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อโครงการใหญ่ที่เกี่ยวข้องเสร็จสมบูรณ์ และเปิดใช้งาน
อีกประเทศหนึ่งที่คาดว่าจะได้รับประโยชน์จากวิกฤติพลังงานในครั้งนี้ก็คือ อินเดีย ด้วยความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างรัสเซีย-อินเดีย และความพริ้วไหวของอินเดีย ทำให้อินเดียสามารถซื้อสินค้ารัสเซียได้ในราคาพิเศษ โดยเฉพาะอย่างยิ่งข้าวสาลีและน้ำมันดิบ ซึ่งลดแรงกดดันในเรื่องค่าครองชีพกับชาวอินเดียกว่า 1,300 ล้านคน และรักษาความสามารถในการแข่งขันระหว่างประเทศของสินค้าอินเดียได้เป็นอันมาก
ในเชิงปริมาณ อินเดียเพิ่มการนำเข้าจากรัสเซียอย่างก้าวกระโดด ส่งผลให้การนำเข้าจากรัสเซียดีดจากอันดับ 9 เมื่อต้นปี 2022 เป็นอันดับ 2 ในช่วงกลางปี และมีปริมาณการนำเข้ารวมถึงวันละ 800,000 บาร์เรล มากกว่าของเยอรมนีไปแล้ว
แถมแหล่งข่าวหนึ่งยังระบุว่า อินเดียซื้อน้ำมันดิบจากรัสเซียในราคาที่ต่ำกว่าราคาตลาดโลกถึง 30 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล แถมยังขอแบ่งชำระบางส่วนในรูปของเงินรูปีอีกด้วย! ทำให้เงินรูปีของอินเดีย “ขึ้นชั้น” ก้าวขึ้นเป็นสกุลเงินที่ใช้ชำระการซื้อขายน้ำมันดิบระหว่างประเทศได้เป็นครั้งแรก
ตอนหน้าเราจะไปเจาะลึกถึงผลกระทบต่ออาเซียนและไทยกันครับ ...
เกี่ยวกับผู้เขียน : ดร.ไพจิตร วิบูลย์ธนสาร รองประธานและเลขาธิการหอการค้าไทยในจีน, อุปนายกและเลขาธิการสมาคมส่งเสริมการลงทุนและการค้าไทย-จีน ผู้เชี่ยวชาญที่สั่งสมความรู้และประสบการณ์เกี่ยวกับตลาดจีน มุ่งหวังนำข้อมูลและมุมมอง ความคิดเห็นเกี่ยวกับความเคลื่อนไหวทางเศรษฐกิจ ธุรกิจ การตลาด และอื่น ๆ ที่อยู่ในกระแสของจีนมาแลกเปลี่ยนกับผู้อ่าน เพื่อเราจะไม่ตกขบวน “รถไฟความเร็วสูง” ของการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของจีน
หน้า 4 ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3,802 วันที่ 21 - 23 กรกฎาคม พ.ศ. 2565