ประเด็นที่ พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายก รัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ลงนามในคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรีที่ 170/2565 เรื่อง แต่งตั้งคณะกรรมการเฉพาะกิจเพื่อบริหารสถานการณ์วิกฤตเศรษฐกิจ ลงวันที่ 18 กรกฎาคม 2565 โดยมีองค์ประกอบ หน้าที่ และอำนาจ คณะกรรมการมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน และ 10 รัฐมนตรีด้านเศรษฐกิจร่วมเป็นกรรมการ
“ดร.นณริฏ พิศลยบุตร” นักวิชาการอาวุโส สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) ให้ความเห็นว่า การแต่งตั้งคณะทำงานเฉพาะกิจในรอบนี้มี 2 คณะ คือ คณะอนุกรรมการที่ติดตามและวิเคราะห์สถานะการณ์ และคณะกรรมการเฉพาะกิจเพื่อแก้ไขปัญหาวิกฤติเศรษฐกิจ
สำหรับชุดแรก การติดตามสถานการณ์เป็นสิ่งที่จำเป็น ซึ่งมองว่าจะเกิดประสิทธิภาพหากมีการรวบรวมข้อมูลจากทุกภาคส่วน และเน้นไปที่กลุ่มเปราะบางต่อวิกฤติเศรษฐกิจ เช่น ครัวเรือนยากจนที่มีเด็กเล็ก ครัวเรือนที่เป็นหนี้สูง เกษตรกรเพาะปลูกข้าว เกษตรกรที่ค้าขายกับจีนแต่ได้รับผลกระทบจากการที่จีนยังคงใช้ zero-covid policy แรงงานที่ว่างงานกว่า 6 แสนคน ซึ่งสูงกว่าสถานะการณ์ปกติกว่า 2 แสนคน รวมถึงบัณฑิตจบใหม่ที่หางานไม่ได้ ครัวเรือนผู้สูงอายุ คนพิการ สาขาเศรษฐกิจที่ฟื้นตัวช้าจากปัญหาโควิด เช่น ท่องเที่ยว ขนส่ง อสังหาฯ ร้านอาหาร ก่อสร้าง ซึ่งแต่ละกลุ่มจะต้องการมาตรการช่วยเหลือที่แตกต่างกัน
สำหรับชุดที่สอง เน้นการออกมาตรการแก้ไข/บรรเทาปัญหา มีความน่ากังวลใจว่าเป็นระดับเจ้ากระทรวงมารวมตัวกัน การจะทำให้เกิดผลต้องเน้นที่การบูรณาการความร่วมมือเข้าหากันให้ได้ โดยแต่ละคนเน้นเฉพาะส่วนที่ตนเองรับผิดชอบตามภารกิจของตน เพื่อเป้าหมายเดียวกัน
สิ่งที่ขาดไปก็คือ ต้องมีนักวิชาการที่เป็นกลางเข้าไปให้ความเห็นที่เหมาะสม เพราะมาตรการที่เหมาะสมต้องมีความพอดี คือ ช่วยเหลือเฉพาะคนที่ควรจะช่วยเหลือให้คนที่พอไหวช่วยเหลือตัวเอง การอุดหนุนต้องคำนึงถึงภาระหนี้ที่เกิดขึ้น ไม่อุดหนุนมากจนเกินไป
สิ่งที่น่ากลัว คือ การแทรกแซงที่เกินพอดีเพราะจะทำให้รัฐบาลได้ประโยชน์ สร้างฐานเสียงเตรียมรับการเลือกตั้งที่กำลังจะมีขึ้น
นอกจากนี้ ดร.นณริฏ ยังแสดงความห่วงใยกับวิกฤติเศรษฐกิจโลกถดถอยว่า เป็นสิ่งที่กำลังจะมาถึงในไม่ช้า สิ่งที่ภาครัฐดำเนินการอยู่เป็นการจัดทีมเพื่อเตรียมรับมือ ส่วนตัวคิดว่าเป็นการเตรียมพร้อมที่ดี เหลือแค่ภาคปฏิบัติที่ควรจะมุ่งเน้นให้ตรงจุด คือ การสแกนหากลุ่มเปราะบางและการวางกลยุทธ์การช่วยเหลือโดยอาศัยหลักวิชาการเป็นเครื่องมือสนับสนุน
ภาคประชาชนเองก็ต้องเตรียมพร้อมรับมือกับวิกฤติเศรษฐกิจที่กำลังจะเกิดขึ้น โดยการคุมการใช้จ่ายอย่างเหมาะสมกับรายได้ เน้นการเพิ่มเงินออมเพื่อรองรับวิกฤติ รักษาตำแหน่งงานของตนเอง และใส่ใจดูแลจัดการปัญหาหนี้เสียแต่เนิ่นๆ ไม่ควรก่อหนี้ที่ไม่จำเป็น