น.ส.จิราพร สินธุไพร ส.ส. จังหวัดร้อยเอ็ด พรรคเพื่อไทย อภิปรายไม่ไว้วางใจ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ประเด็นเหมืองทองอัครา ว่า พล.อ.ประยุทธ์ ในฐานะหัวหน้าผู้บริหารราชการแผ่นดินกระทำความผิด ใช้มาตรา 44 และมติครม. ออกคำสั่งระงับกิจการเหมืองแร่ทองคำจนทำให้เกิดความเสียหาย
รวมทั้งมีพฤติกรรมจงใจละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ แม้จะมีหน่วยงานสำคัญเตือนหลายรอบ หลายครั้ง แต่นายกฯ ก็ไม่ได้เร่งรีบระงับยับยั้งป้องกันความเสียหายในทันที และยังมีพฤติกรรมเบียดบังนำงบประมาณแผ่นดินและผืนแผ่นดินของประเทศไปเจรจาแลกเปลี่ยนกับบริษัทเอกชนต่างชาติ
เพื่อให้ตนเองพ้นจากการรับผิดทางกฎหมาย เข้าข่ายกระทำผิดตามบทบัญญัติรัฐธรรมนูญ และกฎหมายการขัดกันแห่งผลประโยชน์ เป็นผู้ได้รับประโยชน์ทางตรงหรือทางอ้อมจากการไม่เร่งรีบและชักช้าในการแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นจากการออกคำสั่งที่ 72/2559 ถือเป็นการกระทำผิดต่อรัฐธรรมนูญ กฎหมาย และมาตรฐานทางจริยธรรม
น.ส.จิราพร กล่าวว่า แม้เรื่องเหมืองทองอัคราจะถูกนำมาอภิปรายในสภาไปแล้ว แต่จำเป็นต้องเอามาอภิปรายอีกครั้ง เพราะคดียังไม่ถึงที่สุด โดยมีเอกสารทางราชการ และเอกสารระหว่างประเทศ ซึ่งมีเอกสารลับ และลับที่สุด รวมถึงเอกสารชั้นความเร็วด่วน และด่วนที่สุดจำนวนมาก
โดยจะคัดเอกสารชิ้นใหม่ที่ไม่เคยเปิดเผยมามาก่อนแสดงในรัฐสภา เป็นเอกสารลับถูกร่างขึ้นโดยสำนักงงานอัยการสูงสุด ความยาว 5 หน้า ข้อความตามเอกสารได้ถูกนำส่งไปยังพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้าคศช. และนายกรัฐมนตรีในขณะนั้น เพื่อเสนอแนวทางแก้ปัญหาที่ประเทศไทยถูกฟ้องร้องจากการใช้มาตรา 44
เรื่องแนวทางแก้ปัญหาข้อพิพาทระหว่างบริษัท คิงส์เกต คอนโซลิเดเต็ด จำกัด กับพวก และราชอาณาจักรไทย โดยสำนักอัยการสูงสุดได้เสนอให้ยกเลิกการใช้มาตรา 44 และคืนสิทธิให้กับเหมืองทองอัครา พร้อมการชดเชย
ทั้งนี้ได้ระบุว่า ผลการตรวจสอบข้อเท็จจริงของคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงและแก้ไขปัญหา และคณะทำงานชุดต่าง ๆ จนถึงปัจจุบันยังไม่สามารถสรุปได้ว่า การทำเหมืองแร่ทองคำของบริษัท อัครา รีซอร์สเซส จำกัด (มหาชน) สร้างผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของประชาชนในพื้นที่
ขณะที่การตรวจสอบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับสุขภาพของประชาชนของกระทรวงสาธารณสุข ก็ยังไม่สามารถสรุปได้ว่า ระดับโลหะหนักและสารเคมีที่ใช้จากการตรวจตัวอย่างชีวภาพซึ่งเกินกว่าค่าอ้างอิง เกิดจากการปนเปื้อนจากเหมืองทองคำของบริษัท อัครา ซึ่งปรากฎว่าข้อเท็จจริงในเอกสารของสำนักงานอัยการสูงสุดเป็นข้อเท็จจริง
สอดคล้องกับหนังสือของกระทรวงอุตสาหกรรมที่ได้รายงานสถานการณ์ข้อพิพาทระหว่างไทยกับบริษัท คิงส์เกต ไปยังครม. เมือวันที่ 29 ตุลาคม 2562
ระบุว่า ผลการตรวจสอบข้อเท็จจริงในปัจจุบันยังไม่เพียงพอที่จะสามารถนำไปใช้ประโยชน์ในการต่อสู้คดีในชั้นอนุญาโตตุลาการ แสดงว่า นับตั้งแต่วันที่ 16 ตุลาคม 2558 ที่พล.อ.ประยุทธ์ ได้สั่งให้ 4 กระทรวงตรวจสอบปัญหาสุขภาพและสิ่งแวดล้อมจากกรณีนี้จนถึงวันที่บริษัท คิงส์เกต ตัดสินใจฟ้องร้องประเทศไทย ผ่านไป 4 ปีรัฐบาลก็ยังไม่สามารถหาหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ที่ชัดเจนมาสนับสนุนการใช้มาตรา 44
น.ส.จิราพร กล่าวว่า ที่น่าอดสูใจที่สุดคือหนังสือของกระทรวงอุตสาหกรรม ยังชี้ให้เห็นว่ารัฐบาลอับจนหนทางถึงขนาดที่ว่า มีความคิดที่จะสร้างหลักฐานเท็จเกี่ยวกับผลกระทบทางด้านสิ่งแวดล้อมขึ้น ทำให้ที่ปรึกษากฎหมายฝ่ายไทยเตือนว่า จะเป็นอันตรายมาก เพราะบริษัท คิงส์เกต จะอ้างว่า รัฐบาลพยายามสร้างความเดือดร้อนเพิ่มขึ้น และเป้นการขับขวางการพิจารณาในชั้นอนุญาโตตุลาการ
“เท่ากับว่าพล.อ.ประยุทธ์ รู้อยู่แก่ใจ และเล็งเห็นผลได้ว่าเมื่อเรื่องเหมืองทองอัคราเข้าสู่ชั้นอนุญาโตตุลาการ ไทยย่อมเป็นฝ่ายแพ้คดี และจะต้องชำระค่าเสียหาย คิดเป็นเงินอย่างน้อย 720 ดอลล่าร์สหรัฐฯ หรือเกือบ 3 หมื่นล้านบาทให้กับบริษัท คิงส์เกต”
อย่างไรก็ตามจากเอกสารของสำนักงานอัยการสูงสุด ได้มีการเสนอแนวทางการแก้ปัญหาโดยการคืนสิทธิให้กับผู้ประกอบการมี 2 แนวทางเลือก
แนวทางที่ 1 ให้แก้ปัญหาโดยอาศัยข้อกำหนดที่ระบุไว้ เป็นอำนาจของคณะกรรมการนโยบายบริหารจัดการแร่แห่งชาติ แต่ก็มีกระบวนการยุ่งยาก ซับซ้อน เกี่ยวข้องกับกฎหมายหลายฉบับ ซึ่งใช้เวลานาน อาจไม่ทันท้วงที อาจทำให้ค่าเสียหายเพิ่มขึ้น หากเลือกแนวทางนี้
แนวทางที่ 2 สำนักงานอัยการสูงสุด เสนอให้ยกเลิกคำสั่งที่ 72/2559 โดยอาศัยอำนาจตามข้อ 8 ซึ่งสามารถทำได้โดยรัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 279 ทั้งนี้ในช่วงท้ายของเอกสารได้เสนอให้เลือกใช้แนวทางที่ 2 ในการแก้ปัญหาดังกล่าว แต่ก็ไม่รู้ว่า นายกฯ ได้รับทราบหนังสือฉบับนี้แล้วหรือไม่ทั้งที่หนังสือนี้ผ่านมาแล้ว 4 ปี 6 เดือน
“พล.อ.ประยุทธ์ อยู่มาแล้ว 8 ปี แต่ขออยู่ต่ออีก 4 ปี และต้องการอยู่ต่อเรื่อย ๆ เพราะต้องการชำระสะสาง ปกปิด หรือทำให้เรื่องเหมืองทองอัคราได้สมประโยชน์กับอีกฝ่ายหนึ่ง เพื่อให้ตนเองพ้นจากความผิดใช่หรือไม่ อย่าคิดว่ามาตรา 44 จะคุ้มครองท่าน เพราะในคำสั่งบอกการใช้มาตรา 44 ต้องสุจริต มั่นใจว่าหากกฎหมายเป็นกฎหมายเมื่อพยานหลักฐานที่มีอยู่ เชื่อว่าในอนาคตจะต้องมีคำสั่งสอบสวนคำสั่งนี้”
น.ส.จิราพร กล่าวว่า หลังจากนี้จะไปยื่น ป.ป.ช. ฟ้องเอาผิดหลังจากการอภิปรายไม่ไว้วางใจแล้ว ส่วนคณะรัฐมนตรี (ครม.) ในฐานะที่มีหน้าที่บริหารราชการแผ่นดินตามหลักการรับผิดชอบร่วมกัน เมื่อได้รับฟังและรับทราบถึงกรณีนี้มาโดยตลอด หากวันนี้ครม.ทราบถึงความผิดของพล.อ.ประยุทธ์ แล้วสนับสนุน ในการประชุมครม.สัปดาห์หน้าพล.อ.ประยุทธ์ ยังนั่งหัวโต๊ะการประชุมครม. จะยื่นฟ้องดำเนินคดีทั้งพล.อ.ประยุทธ์ และครม.ทั้งหมด