ที่ประชุมครม. 28 มิ.ย.2565 เห็นชอบโครงการเหมืองแร่โพแทช จังหวัดอุดรธานี ตามที่กระทรวงอุตสาหกรรมเสนอ จากนี้กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ จะได้เร่งออกประทานบัตรใน 6 เดือนถึง 1 ปีจากนี้ เพื่อช่วยแก้ปัญหาให้เกษตรกร จากภาวะปุ๋ยเคมีขาดแคลนและราคาพุ่งสูงจากภัยการสู้รบยูเครน-รัสเซีย
โครงการเหมืองแร่โพแทช แหล่งอุดรใต้ ถือเป็นเหมืองแร่ขนาดใหญ่ ครอบคลุม 4 ตำบล คือ ต.โนนสูง นาม่วง หนองไผ่ และตำบลห้วยสามพาด อ.เมืองอุดรธานี จ.อุดรธานี มีแผนการผลิต 2 ล้านตันต่อปี โดยประเมินว่า จะมีปริมาณการผลิตตลอดอายุโครงการ 25 ปี อยู่ที่ 33.67 ล้านตัน มูลค่าการลงทุนเบื้องต้นประมาณ 3.6 หมื่นล้านบาท โดยรัฐบาลเชิญชวนเอกชนสำรวจ-ผลิตมาตั้งแต่ปี 2521 ริเริ่มด้วยกลุ่มทุนแคนาดา ในนาม ACCP มีรัฐบาลร่วมถือหุ้น 10 % ปัจจุบันมี บมจ.อิตาเลียนไทยฯ นี้เป็นผู้ถือหุ้นหลัก แต่ถูกชาวบ้านในพื้นที่คัดค้านต่อต้านจนยืดเยื้อมา 44 ปี
นายสมโภชน์ วงศ์ประทุม หัวหน้าส่วนชุมชนสัมพันธ์ บริษัท เอเชีย แปซิฟิค โปแตซ คอร์ปอ เรชั่น จำกัด (APPC) เปิดเผยว่า ได้จัดทีมงานไปชี้แจงรายละเอียดโครงการ ต่อที่ประชุมฝ่ายปกครองของทั้ง 4 ตำบลพื้นที่โครงการ เริ่มจากที่ศาลาประชาคมบ้านหนองนาเจริญ ต.หนองไผ่ อ. เมืองอุดรธานี เมื่อ 8 ก.ค. 2565 ซึ่งจะได้จัดส่งรายงานผลการตรวจติดตามผลกระทบด้านสังคมและสิ่งแวดล้อม ให้กับผู้นำท้องถิ่นและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่อไป
แต่โครงการเหมืองแร่โพแทช จังหวัดอุดรธานี ส่อเค้าความยุ่งยากตามมาแทบจะทันที เมื่อทั้งฝ่ายสนับสนุนและฝ่ายต่อต้าน ต่างออกมาเคลื่อนไหวยืนยันจุดยืนเดิมของแต่ละฝ่ายอย่างแข็งขันเหมือนเดิม
โดยนายประจวบ แสนพงษ์ อดีตนายก อบต.ห้วยสามพาด และประธานคณะกรรมการส่วนผู้มีส่วนได้เสียภาคประชาชน เปิดเผยว่า คณะกรรมการผู้มีส่วนได้เสียฯ ร่วมทำงานกับ บริษัทที่ปรึกษา ได้ศึกษาเพิ่มเติมจากรายงานEIA และประเด็นข้อกังวลใจของประชาชน ถึงผล กระทบต่างๆ ทั้งในและนอกพื้นที่โครงการ
“ปัจจุบันข้อกังวลกว่า 30 กรณี อาทิ ปัญหาของหางเกลือแร่ที่เหลือจากจากปรุงแต่งโพแทซ ความกลัวแผ่นดินทรุด ข้อกังวลด้านสุขภาพและสังคม ฯลฯ ได้รับการศึกษาเสร็จเรียบร้อย โดยมีอธิบดีกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานฯ เป็นประธาน และได้มีการนำเสนอต่อทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และ กพร.แล้วเมื่อ 2 ปีที่แล้ว”
นอกจากนี้นายประจวบยังโพสต์ในสื่อสังคมออนไลน์ หนุนเดินหน้าโครงการเหมืองแร่โพแทชแหล่งอุดรใต้ โดยชี้ว่า ผู้ดำเนินการเป็นบริษัทคนไทย 100 % เพื่อนำสินแร่ซึ่งเป็นสมบัติของชาติขึ้นมาทำประโยชน์ต่อส่วนรวม และจัดสรรผลประโยชน์ทุกภาคส่วนอย่างชัดเจน ทั้งค่าภาคหลวงให้รัฐ อบจ.อุดรธานี อบต. รวมถึงตั้งกองทุนต่างๆ กว่า 3,000 ล้านบาท เพื่อทดแทนให้เจ้าของที่ดิน ดูแลครัวเรือน เฝ้าระวังสุขภาพ จัดสวัสดิการการศึกษา พัฒนาพื้นที่รอบ เหมือง เป็นต้น
“โครงการนี้หากมีนํ้าใจและช่วยเหลือกัน งานยากก็จะผ่านไปได้ราบรื่น ลูกหลานคนอุดรก็จะทำงานที่นี่อย่างมีความสุข มีรายได้เลี้ยงดูครอบครัว และช่วยเหลือชุมชนได้เต็มที่ แต่ถ้าโครงการไม่สามารถดำเนินการไปได้ ก็จะเป็นผู้แพ้ทั้งหมด ไม่มีใครได้อะไรเลย” นายประจวบ กล่าวยํ้า
ขณะที่นางมณี บุณรอด แกนนำกลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมอุดรธานี เปิดเผยว่า ในฐานะแกนนำกลุ่มเสื้อเขียว เราต่อสู้มา 20 กว่าปี ไม่เอาเหมืองโพแทชอยู่แล้ว ปัญหาต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง ระหว่างกลุ่มอนุรักษ์กับโครงการเหมืองแร่โพแทชยังอยู่ที่ศาล ศาลยังไม่ได้มีคำสั่งใดๆ ใครอยากจะทำก็ให้ไปทำที่บ้านเขาเอง จะมาขุดกันง่ายๆ คงไม่ได้ วันนี้คนเสื้อเขียวก็ยังประชุมกันอยู่เกือบ 300 คน ส่วนจะทำอย่างไรกันต่อนั้น มีทางของมันอยู่แต่ยังไม่บอก
“การจะทำเหมืองแร่โพแทซนั้นมันทำยาก ใครจะเป็นคนอนุมัติ ขณะนี้ก็กำลังติดตามดูเหตุการณ์ นักวิชาการหลายฝ่ายก็เรียกกลุ่มอนุรักษ์ และตนไปร่วมประชุมอยู่”
นางมณียืนยันในตอนท้ายว่า อย่ามาทำเหมืองที่อุดรธานี เพราะคนอุดรฯไม่เอาเหมืองโพแทซ เป็นเหมืองสกปรก โกหกคนอุดรฯอยู่แล้ว ทั้งนี้ กลุ่มเสื้อเขียวฯจะหาโอกาสไปเยี่ยมผู้ว่าราชการจังหวัดอุดรธานีสักครั้ง แต่ขอดูสถานการณ์ก่อน
ทั้งนี้ชาวอุดรธานีต่างแสดงความเห็นเรื่องนี้ในสื่อสังคมออนไลน์อย่างกว้างขวาง ทั้งสนับสนุนและคัดค้าน
ยงยุทธ ขาวโกมล/รายงาน
หน้า 10 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 42 ฉบับที่ 3,802 วันที่ 21-23 กรกฎาคม พ.ศ.2565